ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการหนังไทยเลยทีเดียวสำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘พ่อมากพระโขนง’ ที่กวาดรายได้ไปถึง 500 ล้านบาท ซึ่งปรากฏการณ์พ่อมากฟีเวอร์ดังกล่าวทำให้เรื่องราวของ ‘แม่นาคพระโขนง’ กลับอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง บ้างก็สงสัยว่าแม่นาคนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ บ้างก็พากันไปกราบไหว้ศาลย่านาค ซึ่งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ย่านอ่อนนุช ซอย 7 ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ซึ่งเกิดเรื่องราวของตำนานแม่นาค
ขณะเดียวกันหากสืบค้นในเชิงประวัติศาสตร์ก็อาจพบเรื่องราวที่น่าสนใจเพราะมีข้อมูลยืนยันว่าสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการนำกระดูกบริเวณหน้าผากของแม่นาค มาทำเป็นปั้นเหน่ง หัวเข็มขัดโบราณ เพื่อเป็นเครื่องรางพกติดตัวป้องกันอันตราย ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า ‘ปั้นเหน่งแม่นาค’ ซึ่งเครื่องรางชิ้นนี้ได้ตกทอดและถูกเปลี่ยนมือหลายครั้ง กระทั่งสุดท้ายมาอยู่ในคววามครอบครองของ “เทพ กำแพง” เซียนพระนักเทกโอเวอร์ผู้โด่งดัง
โดยว่ากันว่าด้วยความศรัทธาในย่านาคทำให้เขาลงทุนเทกโอเวอร์รังพระของ ‘กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์’ ในวงเงินหลายร้อยล้านเพราะรู้มาว่ากำนันชูชาติมีปั้นเหน่งแม่นาคเครื่องรางอันล้ำค่าที่ประเมินค่ามิได้ ซึ่งเป็นชิ้นเดียวกับปั้นเหน่งแม่นาคที่เคยอยู่ในมือของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อยู่ในครอบครอง
“สุเทพ จิรวัฒน์สุนทร” หรือที่เรียกขานกันในแวดวงพระเครื่องว่า เทพ กำแพง เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาทุ่มเงินมหาศาลเพื่อแลกกับการได้ปั้นเหน่งแม่นาคมาบูชาว่า จริงๆ แล้วเขาได้มีโอกาสเห็นปั้นเหน่งแม่นาคและรู้สึกศรัทธาและผูกพันมานานแล้ว ต่อมาเมื่อทราบว่าปั้นเหน่งแม่นาคอยู่กับ กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระกำนันชูชาติ ย่านพุทธมณฑลสาย 2 และทราบว่ากำนันชูชาติมีความคิดที่จะปล่อยพระเครื่องของเครื่องรางทั้งหมดที่มีอยู่เนื่องจากไม่มีลูกหลานที่มีความศรัทธาจะมาสืบทอดและเก็บรักษาสมบัติแห่งพุทธศาสนาเหล่านี้ เทพจึงเข้าไปเจรจายอมเหมายกกรุ
“จริงๆ แล้วผมเคยเห็นปั้นเหน่งแม่นาคมานานแล้ว คือประมาณเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็รู้สึกชอบและผูกพันบอกไม่ถูก คือตอนนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการซื้อปั้นเหน่งแม่นาค ที่ท่าพระจันทร์ โดยคนที่ซื้อเป็นเจ้าของปั้นเหน่งชิ้นนี้ก่อนที่จะมาอยู่ในมือกำนันชูชาติ แต่ตอนนั้นผมยังวัยรุ่นอยู่ ยังไม่มีกำลังซื้อ ก็เลยได้แต่ติดตามข่าวคราวมาตลอด ก็รู้ว่าต่อมาเขาขายให้กำนันชูชาติ แล้วพอดีจังหวะที่กำนันเขาจะเทกรุพระเพราะไม่มีคนสืบทอดเราก็พอมีกำลังเลยไปขอเหมาทั้งกรุ เพราะเราอยากได้ไว้บูชา แล้วประวัติของปั้นเหน่งแม่นาคสร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งเป็นพระเกจิที่น่าเคารพศรัทธา
“คือเนื่องจากผมเป็นคนกำแพงเพชรซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเมืองเก่า มีวัดเก่าเยอะ ทำให้ชอบพระเครื่อง ชอบเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วผมเป็นคนมีเซนส์ในเรื่องพวกนี้ เหมือนเราสัมผัสได้ คือผมชอบศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ เวลาเจอของเหล่านี้เราจะรู้สึกได้ อย่างปั้นเหน่งแม่นาคผมมั่นใจ จากที่เราได้มาแล้วก็เจอประสบการณ์ เวลาคนมาลบหลู่ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี อย่างบ้านผมไฟดับทั้งหลังเลย ถ้าถามว่าเราจะยืนยันว่าเป็นหน้าผากแม่นาคไหม อันนี้เราไม่สามารถยืนยันได้ แต่ถ้าเราเทียบอายุกระดูกหน้าผากก็จะพบว่าเป็นกระดูของคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งรายการบางอ้อซึ่งมาถ่ายทำเรื่องปั้นเหน่งแม่นาคที่บ้านผมเขาใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ เขาก็เชื่อว่าชิ้นนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะนอกจากอายุกระดูกอยู่ในช่วงที่แม่นาคยังมีชีวิตอยู่และเป็นชิ้นที่มีที่มาที่ไป มีบุคคลอ้างอิง”
ทั้งนี้ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมากว่าร้อยปีแล้วว่า เรื่องราวของแม่นาคพระโขนงนั้นเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 โดยว่ากันว่าด้วยความรักและผูกพันกับพ่อมาก สามีซึ่งจากไปรบ ทำให้แม่นาคและลูกในท้องซึ่งแม้จะละโลกไปแล้วแต่ด้วยความอาลัยรัก วิญญาณแม่นาคจึงยังรอคอยพ่อมากกลับมา และเมื่อความรักต่างภพถูกขัดขวางทำให้เธอกลายเป็นวิญญาณเฮี้ยนที่ผู้คนทั้งพระโขนงพากันหวาดกลัว จน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเกจิซึ่งเป็นเคารพศรัทธาของชาวบ้านในพระนคร ต้องไปทำพิธีสะกดวิญญาณ และเจาะกะโหลกผีแม่นาคเอามาขัดเป็นมัน ลงอักขระอาคม ทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ซึ่งหลังจากนั้นได้นำปั้นเหน่งแม่นาคไปเก็บรักษาไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม
ครั้นเมื่อสมเด็จโตฯ ชรามากแล้วจึงได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากแม่นาคนี้ไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งในภายหลังท่านได้เป็นหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) ต่อมาหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) ได้ประทานปั้นเหน่งแม่นาคให้กับหลวงพ่อพริ้ง หรือพระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ แห่งวัดบางปะกอก ซึ่งภายหลังได้นำเอาปั้นเหน่งอันนี้มาถวายแด่กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ใน กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และกรมหลวงชุมพรฯ ได้มอบสายประคตคาดเอวที่มีปั้นแม่นาคให้กับพระลูกชายคือหลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร ที่บวชเป็นพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาจนกระทั่งมรภาพในผ้าเหลือง จากนั้นปั้นเหน่งแม่นาคก็ถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายทอด ซึ่งหลายคนเชื่อว่าปั้นเหน่งดังกล่าวเป็นชิ้นเดียวกับที่อยู่ในมือของ ‘เทพ กำแพง’
เนื่องจากเรื่องราวของแม่นาคนั้นเป็นตำนานที่มีชีวิต จึงมีผู้เคารพและศรัทธาในแม่นาคพากันไปกราบไหว้ศาลย่านาค ที่วัดมหาบุศย์ อยู่ไม่ขาดสาย เชื่อว่าผู้ที่ได้ครอบครองปั้นเหน่งแม่นาค วิญญาณของท่านก็จะคุ้มครองผู้นั้น หรือแม้แต่ผู้ที่เคารพศรัทธาไปกราบไหว้ขอพรก็มักสำเร็จดังปรารถนา
เทพ กำแพง บอกว่าเขาเองก็ได้พบกับเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่เชื่อว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของปั้นเหน่งแม่นาคอยู่บ่อยครั้งทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าวิญญาณแม่นาคนั้นยังคงอยู่และจะปกปักรักษาผู้ที่คารพศรัทธาท่าน
“ผมได้ปั้นเหน่งแม่นาคจากกรุกำนันชูชาติมาตั้งปี 2550 ตอนได้ปั้นเหน่งมาแล้วเอาเข้าบ้านครั้งแรกก็เจอเลย ! ตอนนั้นมีเพื่อนมาขอดูของที่ได้จากกรุกำนัน เขาเห็นกระดาษเขาก็หยิบมาดู ถามว่าอะไร.. ผมก็บอก เฮ้ย..อย่ายุ่งกับชิ้นนั้น เป็นปั้นเหน่งแม่นาค เขาก็โยนไปที่เบาะ ปรากฏว่าไฟดับพรึ่บทั้งหลังเลย ผมก็ขอโทษท่าน ไฟจึงติด ซึ่งมนก็เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออย่างตอนที่ 'รายการบางอ้อ' มาขอถ่ายทำเรื่องปั้นเหน่งแม่นาคที่บ้านผม ก่อนที่จะถ่ายทำตากล้องก็เก็บภาพไปทั่ว นั่งคุยกัน ก็ไม่มีอะไร แต่พอเริ่มถ่ายปั้นเหน่งแม่นาคเท่านั้น เล่าแล้วยังขนลุกอยู่เลย ปรากฎว่าภาพในมอนิเตอร์ไม่มีเลย แล้วประตูในบ้านก็ปิด ตุ้ม..ตุ้ม.ตุ้ม.. ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เพราะในบ้านผมลมไม่สามารถจะเข้าได้ คือเหมือนกับทีมงานเขาไม่ได้ขอก่อนก็เลยถ่ายไม่ได้ อาจจะเป็นเรื่อง แต่มันหาเหตุผลไม่ได้ บางคนไม่ได้เชื่อถือเลยแต่มาไหว้ปั้นเหน่งแม่นาคที่บ้านผม แล้วก็อธิษฐานขอ ขอเล่นๆ แต่ว่าเขาได้ตามที่ขอ อย่างน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เขาเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาสวย มากับคุณนัท มีเรีย ซึ่งเป็นนางเอกเรื่องแม่นาค เดอะมิวสิคัล เขาก็มาไหว้ด้วยกัน ผู้หญิงคนนี้เขาขอเล่นๆว่าถ้าย่านาคศักดิ์จริงจริงขอให้หนูได้สามีรวยๆ แล้วเขาได้จริงๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง ” เทพเล่าถึงปาฏิหาริย์ของปั้นเหน่งแม่นาคที่เขาได้พบเจอมาหลายครั้ง
เทพ บอกว่าเรื่องราวปาฏิหาริย์ของปั้นเหน่งแม่นาคที่หลายคนได้ประสบพอเจอและนำไปบอกเล่าต่อๆกันไป ทำให้มีผู้ศรัทธาและอยากได้ปั้นเหน่งแม่นาคไปบูชามาติดต่อขอซื้อปั้นเหน่งจากเขาหลายราย และเสนอราคาให้หลายสิบล้าน แต่เขาก็ยืนยันกลับไปว่าไม่ขาย เพราะเป็นเครื่องรางที่มีอยู่ชิ้นเดียวในโลก ไม่ว่าจะใช้เงินมากมายมหาศาลเพียงใดก็ไม่สามารถทำขึ้นมาใหม่ได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี เทพ กำแพง จะเปิดบ้านและนำปั้นเหน่งแม่นาคออกมาให้ผู้ที่เคารพศรัทธาได้ทราบไหว้ และขณะนี้เขากำลังจัดสร้างอาศรมชีวก(ชีวกโกมารภัจจ์) ที่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จภายในปีนี้ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระเครื่องและเครื่องรางต่างๆ และจะนำปั้นเหน่งแม่นาคไปไว้ที่อาศรมดังกล่าวเพื่อให้คนที่เคารพศรัทธามีโอกาสไปสักการะกราบไหว้ โดยจะไม่มีการเก็บค่าเข้าใดๆ ทั้งสิ้น
“ผมประกาศไปเลยว่า ขอก็ไม่ให้ ซื้อก็ไม่ขาย ปั้นเหนางแม่นาคจะเป็นของคนอื่นหรือเปลี่ยนมือ ก็ต่อเมื่อตายไปจากโลกแล้วเท่านั้น แต่ถ้าใครศรัทธาจะมาชื่นชมกราบไหว้ก็ได้ ผมไม่หวง ถ้าอาศรมชีวกเสร็จผมก็จะนำปั้นเหน่งแม่นาคไปไว้ที่นั่น แล้วก็เปิดให้เข้าฟรี เพราะผมไม่ได้ทำเป็นพุทธพาณิชย์ หลายคนก็บอกว่าปั้นเหน่งแม่นาคนี่น่าจะเอาไว้ที่พระโขนงนะ ผมก็มองว่าไม่แน่นะถ้าที่พระโขนงมีการทำพิพิธภัณฑ์ดีๆ มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้ย่านาค ผมก็อาจจะมอบปั้นเหน่งแม่นาคให้โดยที่ไม่คิดมูลค่า คือชิ้นนี้มีคนมาขอซื้อในวงเงินที่สูงมาก เสนอราคาหลายสิบล้าน แต่ผมไม่ขาย เพราะผมไม่คิดจะทำกำไรกับย่านาค ผมเลยไม่คิดจะขาย แต่เพื่อบริจาคให้คนที่เคารพศรัทธาจริงๆ นี่อีกเรื่องหนึ่ง ปัจจุบันก็มีศาลย่านาคอยู่แต่เราไม่มั่นใจว่าเราให้ไปแล้วเขาจะไปทำสูญหายหรือเปล่า เพราะปั้นเหน่งแม่นาคนี่ไม่ใช่เครื่องรางแต่เป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ด้วย ” เทพกล่าวยิ้มๆ
เทพ กำแพง ยังบอกด้วยว่านอกจากเขาจะศรัทธาในปั้นเหน่งแม่นาคแล้ว เขายังชื่นชอบเครื่องรางเป็นพิเศษเนื่องจากมองว่าเครื่องรางแต่ละชิ้นนั้นจัดเป็นทั้งงานศิลปะและวัตถุมงคลที่มีชิ้นเดียวในโลก เพราะแต่ละชิ้นนั้นล้วนทำด้วยมือ จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
“ผมว่าเครื่องเป็นแฮนด์เมด เป็นของที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้โดยเฉพาะ แต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เช่น ตะกรุดก็จะต้องมีการจารอักขระลงบนแผ่นโลหะที่นำมาม้วนเป็นตะกรุดแล้วก็พันด้วยสายสิญจน์ ทำทีละดอก ขณะที่ทำก็จะลงคาถากำกับ แต่ละชิ้นจึงมีฤทธิ์ในตัวเอง ในขณะที่การจัดสร้างพระเครื่องอาจจะเป็นบล็อก เป็นพิมพ์ แต่ละออกมาเหมือนกันหมด แต่เครื่องรางทุกอย่างมีเพียงชิ้นเดียว การทำเครื่องรางกับการทำพระเครื่องนั้นวัตถุประสงค์คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน คือพระเครื่องในยุคโบราณอาจจะสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แต่เครื่องรางสร้างขึ้นเพื่อให้คนใช้ คือเครื่องรางมานิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาจะเริ่มสร้างเครื่องรางเพื่อมอบให้ทหารหรือผู้ชายในหมู่บ้านไว้ป้องกันตัว เนื่องจากเป็นช่วงที่มีศึกสงครามเยอะ เป็นการสร้างเพื่อใช้ ไม่ใช่พุทธพาณิชย์ อย่างปั้นเหน่งแม่นาคก็มีการจารอักระ ลงอาคมเหมือนกัน”
สำหรับเครื่องรางที่เทพพกติดตัวเป็นประจำนั้นมีอยู่ 6 องค์ด้วยกันคือ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (หรือปัจจุบันเรียกว่าวัดคลองด่าน) จ.สมุทรปราการ , เสือวัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม , เสืออาจารย์เฮง วัดเขาดิน จ.นครสวรรค์ , สิงห์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ , ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา และตะกรุดมมงคลโสฬส หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ซึ่งแต่ละองค์เทพก็ให้ความศรัทธาไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี เทพบอกว่า แม้เขาจะเชื่อและศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของปั้นเหน่งแม่นาค รวมทั้งเครื่องรางต่างๆ แต่ก็ไม่อยากให้ผู้คนที่นับถือศรัทธาย่านาคลุ่มหลงในปาฏิหาริย์ แต่อยากให้ใช้ความศรัทธาเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตมากกว่า
“ผมศรัทธาในย่านาค และได้เจอกับปาฏิหาริย์ปั้นเหน่งแม่นาคหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ความว่าเมื่อเราได้ปั้นเหน่งมาแล้ว เราไม่ทำอะไรเลยแล้วชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไปยึดถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะช่วยเราแล้วนั่งงอมือเท้ามันก็คงงอกเงยขึ้นมาไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราได้มาแล้วเรามีกำลังใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้เราต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ” เทพ กำแพง ให้ข้อคิดตบท้าย