ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โครงการวิจัยการอดอาหารในลิงที่สำคัญ 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วย 1) สถาบันต้านอายุแห่งชาติ (National Institute on Aging) NIA ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes for Health) 2. มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน มลรัฐวิสคอนซิน และ 3. มหาวิทยาลัยแห่งแมรี่แลนด์ มลรัฐแมรี่แลนด์ ต่างได้พยายามติดตามผลการศึกษาการอดอาหารในลิงมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แม้ว่าจะไม่สามารถมีบทสรุปที่มีข้อยุติได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาก่อนที่งานวิจัยโครงการระยะยาวนี้สิ้นสุดลง
ข้อขัดแย้งของงานวิจัยในโครงการนี้มีอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน ได้ออกรายงานเบื้องต้นในปี 2552 ว่าลิงที่อดอาหารนั้นมีอายุยืนมากกว่าลิงที่ไม่อดอาหาร แต่สถาบันต้านอายุแห่งชาติ (NIA) กลับออกรายงานเมื่อปี 2555 อีกด้านหนึ่งว่าการอดอาหารไม่ได้สัมพันธ์กับการมีอายุขัยยืนยาวหรือไม่ และยังมีข้อมูลขัดแย้งเสียด้วยซ้ำไปว่าลิงหลายตัวที่กินอาหารมากๆที่สถาบันต้านอายุแห่งชาติกลับมีอายุยืนยาวกว่าลิงที่อดอาหารที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินอีกด้วย
คำถามคือเมื่อมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในงานวิจัยเช่นนี้ เราควรจะเชื่อใครดี?
แต่เมื่อค้นพบข้อมูลเบื้องลึกต่อไป ก็จะพบข้อมูลที่สำคัญระหว่างความแตกต่างระหว่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินกับสถาบันต้านอายุแห่งชาติ 2 ประการ กล่าวคือ
1.งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซินได้ใช้ลิงวอกจากแหล่งเดียวกันหมดคือลิงทั้งหมดมาจากอินเดียเท่านั้น เพื่อป้องกันการเบี่ยงเบนข้อมูลจากแหล่งที่มาของลิง ในขณะที่งานวิจัยของสถาบันต้านอายุแห่งชาตินั้นแม้จะเป็นลิงวอกเหมือนกัน แต่ก็ได้ใช้ลิงจาก 2 แหล่งคือลิงจากอินเดียและจีน
2.อาหารของลิงที่ให้ในงานวิจัยทั้ง 2 แห่ง แม้ดูจะกำหนดอาหารด้วยจำนวนแคลอรี่เหมือนกัน แต่ความจริงงานวิจัยทั้งสองแห่งให้ประเภทอาหารที่ไม่เหมือนกัน โดยสถาบันต้านอายุแห่งชาติเลี้ยงลิงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมตามธรรมชาติ (ซึ่งอาจทำให้มีความผันแปรและผันผวนของอาหารที่ส่งมาในแต่ละครั้งที่ไม่เหมือนกัน) ในขณะที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเลือกควบคุมให้อาหารที่บริสุทธิ์ โดยเป็นอาหารที่ตรวจสอบแล้วว่าปราศจากสารเคมีหรือแร่ธาตุที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์
โดยการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซินได้ควบคุมไปถึงสารอาหารไม่ว่าแร่ธาตุหรือวิตามินที่ใส่ไปในแต่ละครั้งให้แยกออกจากกันเพื่อให้มีการควบคุมอาหารไม่เกิดข้อมูลที่แตกต่างกันในระหว่างการให้อาหาร จึงต้องถือว่าสถาบันต้านอายุแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยวิสคอนซินให้อาหารที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่อง โปรตีน, ไขมัน และ คาร์โบไฮเดรต เช่นเดียวกับการให้อาหารเสริมทั้งวิตามินและเกลือแร่
ด้วยเหตุผลข้างต้นงานวิจัยของทั้ง 2 แห่ง จึงไม่สามารถนำมาเทียบเพื่อหักล้างกันได้ว่าใครถูกหรือผิด เพราะมีตัวแปรสิ่งแวดล้อมทั้งแหล่งที่มาของลิงและอาหารที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกันเพราะแม้ลิงที่มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซินค่อนข้างจะควบคุมความเบี่ยงเบนอันเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมและอาหารได้ดีกว่าจึงเหมาะสำหรับการเปรียบเทียบในการอดอาหารกับการไม่อดอาหารของลิง แต่อาหารตามธรรมชาติของสถาบันต้านอายุแห่งชาติเลี้ยงอาหารที่มาจากธรรมชาตินั้นกลับพบว่าลิงกลับมีอายุที่มากกว่าลิงที่เลี้ยงโดยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
แม้สถาบันต้านอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็น หน่วยงานหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes for Health) ได้ออกรายงานความเห็นของสถาบันต้านอายุแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ว่าการอดอาหารไม่ได้ทำให้ลิงมีอายุขัยยืนยาวขึ้น แต่สถาบันต้านอายุแห่งชาติก็มีการศึกษาที่ตรงกันกับรายงานของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินว่า โรคที่เกิดขึ้นตามวัย อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคลำไส้โป่งพอง และ โรคหลอดเลือด พบว่าลิงวอกที่กินอาหารปกติจะเป็นโรคเหล่านี้ก่อนลิงที่มีการอดอาหาร อย่างไรก็ตามทางสถาบันต้านอายุแห่งชาติให้ข้อสังเกตุนี้ว่ายังไม่ถึงขั้นเห็นผลทางสถิติชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติพบว่าลิงที่มีการอดอาหารนั้นสามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2546 สถาบันต้านอายุแห่งชาติเองได้เคยวิเคราะห์เบื้องต้นตามข้อมูลจากการศึกษาพบว่าลิงที่กินอาหารปกติได้ตายจากสาเหตุต่างๆตามความสัมพันธ์ตามอายุมากว่าลิงที่มีการอดอาหารถึง 2 เท่าตัว
แต่มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน ซึ่งดูจะมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมทั้งสายพันธุ์และอาหารที่ให้ลิงมากกว่าสถาบันต้านอายุแห่งชาติ ได้ออกบทวิเคราะห์ในเบื้องต้นในปี พ.ศ. 2552 จากการศึกษาข้อมูลโดยระบุอย่างชัดเจนว่า
อัตราการตายของลิงอันเนื่องมาจากสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้นตามวัยของลิงที่กินอาหารปกตินั้นมีมากกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ ลิงที่มีการอดอาหาร !!!
โดยมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน ได้พบข้อมูลจาการติดตามผล 23 ปี (เริ่มเลี้ยงลิงมาตั้งแต่อายุ 6 ปี - 14ปี) ว่า โดยค่าเฉลี่ยแล้วลิงที่ไม่ได้อดอาหารมีอายุเฉลี่ยประมาณ 27 ปี ในขณะที่ลิงที่อดอาหารมีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึง 31 ปี (รวมทุกสาเหตุของการตายของลิง)
ที่น่าสนใจลักษณะทางกายภาพของลิงที่อดอาหารกับไม่ได้อดอาหารก็มีสภาพที่แตกต่างกันพอสมควร โดยลิงที่มีการอดอาหารดูมีอายุน้อยกว่าลิงที่ไม่ได้อดอาหารอีกด้วย!!! (ตามภาพที่ 1)
ในขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งแมรี่แลนด์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาโครงการอดอาหารในลิงเหมือนกัน พบว่าค่าอายุเฉลี่ยของลิงที่กินอาหารเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 25 ปี และลิงที่อดอาหารมีอายุอยู่ที่ 31 ปี
ย้อนกลับไปเกี่ยวกับพิษจากการทำคีโมกับการอดอาหาร มีงานทดสอบโดย Valter Longo นักวิจัยเกี่ยวกับเซลล์มะเร็ง จากมหาวิทยาลัยเซาธ์ แคลิฟอร์เนีย ได้มีการทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผลข้างเคียงการให้คีโมกับการอดอาหารในหนูที่เป็นมะเร็งเมื่อปลายทศวรรษที่ 90 โดยพบว่าหนูที่กินอาหารปกติก่อนให้คีโมพบว่าหลังการให้คีโมแล้วจะตายไปประมาณครึ่งหนี่ง ในขณะที่หนูที่อดอาหารก่อนให้คีโมเมื่อให้คีโมแล้วไม่ตายเลยแม้แต่ตัวเดียว และแม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้สำหรับคนแต่ก็มีกรณีศึกษาบางกรณีพบว่าคนที่อดอาหารก่อนทำคีโมเมื่อให้คีโมแล้วกลับมีผลกระทบข้างเคียงน้อยกว่า
จากงานวิจัยทั้งสองตอนนี้ที่ผ่านมานี้น่าจะพอสรุปได้พอควรว่า ถ้าเรามีการอดอาหารอย่างเหมาะสม การอดอาหารก็จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้านเช่นกัน!!!