xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นศิลปินแห่งชาติ มล.ศรีฟ้า มหวรรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สิ้น“หม่อมหลวงศรีฟ้า มหวรรณ์” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" โดยมีผลงานสร้างชื่อ "ปราสาทมืด" เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ สิริอายุ 83 ปี

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้เสียชีวิตลงแล้ว เนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลาประมาณ 17.45 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริรวมอายุ 83 ปี ซึ่งขณะนี้ทายาทและลูกศิษย์ได้กำหนดจัดสวดพระอภิธรรมที่ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. เวลา 19.00 น. ทั้งนี้ จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย. เวลา 18.30 น. ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100วัน และจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

"รู้สึกเสียใจที่ได้สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในด้านวรรณศิลป์ อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่ม มีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ในการนี้ กรมฯ ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินค่าช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000บาท"นายชายกล่าว

สำหรับประวัติของหม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2539 เกิดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2473 เป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ ใช้นามปากกา “ภัฏฏินวดี” ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา “จุลลดา ภักดีภูมินทร์” เขียนนวนิยายเรื่อง “ปราสาทมืด” และใช้นามปากกา “ศรีฟ้า ลดาวัลย์” เขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวังตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย งานเขียนของหม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ มีความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบและแนวคิด ซึ่งผลงานเด่นเป็นที่รู้จักและนิยมกันทั่วไป

นับได้ว่า งานประเภทนวนิยาย ซึ่งมีประมาณร้อยกว่าเรื่อง นวนิยายเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์ จิตสำนึกทางสังคมและพัฒนาการของผู้เขียนอย่างเดินชัด ในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ มิได้แสดงตนเป็นผู้รอบรู้หรือเป็นผู้นำทางความคิด เพียงแต่ชี้ให้เห็นปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคม และยังคงความเป็นวรรณศิลป์ไว้ได้ตลอดมา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2539
กำลังโหลดความคิดเห็น