xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น “หม่อมหลวงศรีฟ้า มหวรรณ์” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงาน “ปราสาทมืด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ้น “หม่อมหลวงศรีฟ้า มหวรรณ์” ศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ สิริอายุ 83 ปี เป็นเจ้าของผลงานนวนิยายปราสาทมืด

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้เสียชีวิตลงแล้วเนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลาประมาณ 17.45 น.ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริรวมอายุ 83 ปี ซึ่งขณะนี้ทายาทและลูกศิษย์ได้กำหนดจัดสวดพระอภิธรรมที่ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. เวลา 19.00 น.ทั้งนี้จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย. เวลา 18.30 น.ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

นายชาย กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่ได้สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในด้านวรรณศิลป์ อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่ม มีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ในการนี้ สวธ.ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินค่าช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

สำหรับประวัติของ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2539 เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2473 เป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ ใช้นามปากกา “ภัฏฏินวดี” ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา “จุลลดา ภักดีภูมินทร์” เขียนนวนิยายเรื่อง “ปราสาทมืด” และใช้นามปากกา “ศรีฟ้า ลดาวัลย์” เขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวังตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย งานเขียนของหม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ มีความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบและแนวคิด ซึ่งผลงานเด่นเป็นที่รู้จักและนิยมกันทั่วไป

นับได้ว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ งานประเภทนวนิยาย ซึ่งมีประมาณร้อยกว่าเรื่อง นวนิยายเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์ จิตสำนึกทางสังคมและพัฒนาการของผู้เขียนอย่างเดินชัด ในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ มิได้แสดงตนเป็นผู้รอบรู้หรือเป็นผู้นำทางความคิดเพียงแต่ชี้ให้เห็นปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคม และยังคงความเป็นวรรณศิลป์ไว้ได้ตลอดมา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2539

กำลังโหลดความคิดเห็น