วงการน้ำหมึกบ้านเราสูญเสียผู้มากความสามารถอีกครั้ง เมื่อ หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดีเกี่ยวกับชีวิตเจ้านายในวัง เจ้าของนามปากกา ศรีฟ้า ลดาวัลย์, สีฟ้า และ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งในปอด เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 สิริอายุรวม 83 ปี โดยในวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2556 จะมีพิธีรดน้ำศพที่ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส เวลา 16.00 น. ตั้งศพบำเพ็ญกุศล 7 วัน
หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2473 ที่วังมหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของ หม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ กับ นางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา โดยมารดาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 5 ขวบ หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ มีน้องสาวชื่อ หม่อมหลวงศรีทอง ลดาวัลย์ เป็นนักเขียนเช่นกัน ใช้นามปากกาว่า “ข.อักขราพันธ์” เป็นผู้เขียนนวนิยายเรื่อง ภาพอาถรรพณ์, ดาวพระศุกร์ และดอกโศก โดยชีวิตคู่นั้น หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ได้สมรสกับ นายบุญทัศน์ มหาวรรณ นักธุรกิจ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
ในเรื่องการศึกษานั้น หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เลิกเรียนเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 3 แล้วไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟศรีราชา โรงเรียนพณิชยการพระนคร และโรงเรียนพณิชยการบพิตรพิมุข จนถึงปี พ.ศ. 2516 จึงลาออกมาเป็นนักเขียนอาชีพจนถึงปัจจุบัน
หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้นามปากกา “ภัฏฏินวดี” ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์ และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา “จุลลดา ภักดีภูมินทร์” เขียนนวนิยายเรื่อง “ปราสาทมืด” ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับความนิยมมาก ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบครั้ง และมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ไทย และละครโทรทัศน์หลายครั้ง
ต่อมาได้ใช้นามปากกา “ศรีฟ้า ลดาวัลย์” เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้ เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย
นอกจากนี้ยังเขียนนวนิยายสะท้อนสังคม โดยใช้นามปากกาว่า “สีฟ้า” ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ตั้งให้โดย มานิต ศรีสาคร (สีน้ำ) ซึ่งเป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากมาย โดยผลงานได้รับรางวัล และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เช่นเรื่อง วงเวียนชีวิต, ข้าวนอกนา, ทำไม, แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์, ใต้ฟ้าสีคราม, เศรษฐีนี, ตะวันไม่เคยเลยลับ โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นนภาษาญี่ปุ่น โดยมูลนิธิโตโยต้า และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์
ด้วยผลงานที่ผ่านมามากมายในถนนสายนักเขียนทำให้ เมื่อ พ.ศ. 2539 หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์