xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเศรษฐกิจไทยหวั่นฟองสบู่ตลาดหุ้น-อสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กรณ์" คาด เศรษฐกิจไทยหลังสงกรานต์ ยังสดใส เงินนอกไหลเข้าต่อเนื่อง ห่วงค่าบาทแข็ง เตือนระวังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ - ตลาดหุ้น เชื่อ เอสเอ็มอีปิดตัวเพิ่มย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เหตุค่าแรงพ่นพิษ แฉ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีโครงการพร้อมดำเนินการแค่ 5 แสนล้าน แถมรถไฟความเร็วสูงส่อขาดทุนยับ
นายกรณ์ จาติกวนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจหลังสงกรานต์ ว่า เศรษฐกิจระดับมหภาคอยู่ในระดับที่ดี การค้า การขายโดยทั่วไปมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างดี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ใช้ได้ โดยคาดว่าหลังสงกรานต์ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะมีผลกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น เพราะจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายมหาอำนาจ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีนโยบายเพิ่มฐานการเงินของตัวเอง โดยญี่ปุ่นมีแผนจะเพิ่มฐานการเงินถึงสองเท่าในช่วงสองปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ค่าเงินสามสกุลดังกล่าวลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น รวมถึงเงินบาท เพราะประเทศไทยมีการขยายตัวดีกว่า ส่งผลให้ทุนนอกจะไหลเข้ามาต่อเนื่อง จึงถือเป็นประเด็นที่จะท้าทายรัฐบาลต่อไป แต่เงินเข้ามากดีกว่าเข้าน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น และผลกระทบด้านการส่งออก
นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากผลกระทบค่าแรง 300 บาท ค่าเงินที่แข็งขึ้น และความจำเป็นของภาครัฐในการจัดเก็บรายได้ที่มีนโยบายขยายฐานการจัดเก็บที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกดดันมากที่สุด ประกอบกับปัญหาค่าแรง 300 บาทจะเห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและมีีโอกาสที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากที่พบกับผู้ประกอบการเห็นชัดว่ามีการปรับแผน โดยผู้ประกอบการที่เคยอยู่ในพื้นที่ค่าแรงต่ำแต่ตอนนี้เมื่อค่าแรงเท่ากันหมด ก็มีแผนโยกย้ายการผลิตไปต่างประเทศ หรือเข้ามาใกล้ กทม.มากขึ้น
นายกรณ์ ยังกล่าวถึงช่วงเวลาการใช้เงินกู้ทั้งจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5แสนล้านและ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ที่เป็นช่วงเวลาเดียวกันจะกระทบต่อปริมาณหนี้สาธารณะอย่างแน่นอน แม้ว่ากระทรวงการคลังจะยืนยันว่าสามารถดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50 % ของจีดีพีก็ตาม ทั้งนี้หากรัฐบาลมีความมั่นใจจริงพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอให้รัฐบาลเขียนในกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 50 % รัฐบาลควรยุติการกู้เงิน จนสถานการณ์หนี้สาธารณะปรับระดับลดลงมาต่ำกว่า 50 % เพื่อยืนยันความมั่นคงทางการคลังของประเทศ และจะทำให้ประชาชนจะมีความสบายใจมากขึ้นว่าการกู้เงินมหาศาลนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในเรื่องภาระหนี้สิน
ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหารถไฟความเร็วสูง ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่มีสมมติฐานว่าขาดทุนแน่ โดยมีการคำนวณในกรรมาธิการฯกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ว่าเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่นั้น กระทรวงคมนาคมศึกษาพบว่าจะขาดทุนปีละ 2-2.5 หมื่นล้านบาท จึงต้องถามว่าความหมายคืออะไร ต้องให้คนไทยที่เสียภาษีทั้งหมดนำเงินมาชดเชยปีละ 2.5 หมื่นล้านใช่หรือไม่ และข้ออ้างการลงทุนครั้งนี้บอกว่าวัตถุประสงค์หลักคือปรับลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 15-16 % จะลดลง 2 % แต่ที่พบคือโครงการที่จะมีผลลดต้นทุนการขนส่งคือรถไฟรางคู่ที่มีไว้เพื่อขนส่งสินค้า หรือต่อขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ ส่วนรถไฟความเร็วสูง ขนส่งคนไม่ได้มีผลต่อการลดต้นทุนโลจิสติก ตรงกันข้าม่จะเป็นภาระจากการขาดทุน และเชื่อว่าน่าจะขาดทุนมากกว่าที่กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ไว้ด้วย เพราะตามข้อเท็จจริงกระทรวงคมนาคมจะสร้างสายอีสานถึงแค่โคราช สายใต้ถึงหัวหิน ทำให้ไม่มีโอกาสเฉลี่ยต้นทุนไปในเส่นทางที่ยาวกว่า โอกาสขาดทุนจึงมากกว่า ซึ่งจะเป็นภาระต่อประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาความจริงมาพูดกับประชาชน ก่อนที่จะตัดสินใจในช่วงสุดท้าย
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่าเส้นทางกทม.-เชียงใหม่ จะทำถึงแค่พิษณุโลก หรือยาวไปถึงเชียงใหม่ โดยยังอยู่ในระหว่างการรอคำตอบว่าการกู้เงินสองล้านล้านไปถึงพิษณุโลกหรือเชียงใหม่กันแน่ อย่างไรก็ตามปัญหาคือไม่ว่าจะถึงที่ไหนก็แล้วแต่ เช่น ถึงหัวหินแล้วจะดำเนินการต่อไปปาดังเบซาร์เป็นการพูดถึงอนาคตที่ไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินจากไหนมาสร้างต่อเพราะต้องใช้เงิน 5-6 แสนล้านเป็นอย่างน้อย แต่ตามแผนที่เสนอมาใช้เงินกู้เต็มจำนวนแล้ว และรัฐบาลก็ตั้งสมมติฐานว่าจะจัดงบสมดุลในปี 2560 จึงต้องถามว่า หากรัฐบาลไม่รู้จะจบยังไงควรจะเริ่มทำหรือไม่ รัฐบาลต้องให้ความกระจ่างมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น