xs
xsm
sm
md
lg

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ระยะนี้กำลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งทำกันมาหลายครั้งหลายหนจนจำไม่ได้ว่าเรามีรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ที่มาของวุฒิสภา ซึ่งเวลานี้มีสมาชิกสองประเภทจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง ข้อเสนอในการแก้ไขก็คือ จะให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

วุฒิสภาเป็นสภาที่กลั่นกรองกฎหมายและทำการตรวจสอบรัฐบาล ที่สำคัญก็คือมีหน้าที่เลือกสรรบุคคลที่อยู่ในองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ถ้าให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้ว ทำไมเราจึงไม่มีสภาเดียวให้รู้แล้วรู้รอด คำอธิบายก็คือเรายังต้องการมีสภาที่สองไว้คอยกลั่นกรองกฎหมายอยู่ การมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดย่อมทำให้วุฒิสภาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมือง และมีข้อวิจารณ์ว่าวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะกลายเป็น “สภาผัวเมีย”

แต่ก่อนวุฒิสภาของไทยไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร โดยเฉพาะในสมัยที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สมาชิกวุฒิสภามาจากนายทหารระดับคุมกำลัง นายทหารผู้คุมกำลังกองพันยศพันโทก็เป็นวุฒิสมาชิก นอกจากนั้นก็เป็นข้าราชการและนักธุรกิจคนสำคัญ ในสมัยหนึ่งช่างตัดผมของนายทหารใหญ่ผู้หนึ่งก็ได้เป็นวุฒิสมาชิกด้วย

การมีวุฒิสภาเป็นธรรมเนียมของระบบรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งเขาก็มีเหตุผลของเขา เพราะมีการปกครองแบบสหรัฐฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนตามสัดส่วนประชากรของมลรัฐต่างๆ แต่การมีวุฒิสภานั้น แต่ละมลรัฐมีจำนวนวุฒิสมาชิกเท่ากัน ในสหรัฐอเมริกาผู้ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกมักมีวุฒิภาวะสูง และจัดว่าเป็นนักการเมืองอาวุโส วุฒิสภาอเมริกันมีบทบาทกว้างขวาง รวมทั้งการให้ความยินยอมในการแต่งตั้งบุคคลสำคัญเช่น ทูตานุทุตด้วย

วุฒิสภาของไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในยุคที่มีการสรรหาวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาจำนวนหนึ่ง จะมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นกับพรรคการเมือง ความเป็นอิสระของวุฒิสมาชิกนี้ทำให้วุฒิสภามีความหลากหลายทางความคิดเห็น และวุฒิสมาชิกซึ่งมีความเป็นอิสระเหล่านี้ ก็มักจะเป็นฝ่ายวิจารณ์คอยตรวจสอบรัฐบาล

มีบางคนเสนอว่า วุฒิสภาควรจะมาจากกลุ่มอาชีพ แต่เราจะให้แต่ละกลุ่มอาชีพมีวุฒิสมาชิกจำนวนเท่ากันหรือไม่ และควรมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดกลุ่มอาชีพอย่างไร และมีหนทางอื่นใดหรือไม่ที่จะช่วยให้แต่ละกลุ่มอาชีพมีตัวแทนเป็นปากเสียงแทนผลประโยชน์ของพวกเขา

บางคนเห็นว่าควรมีการกำหนดคุณสมบัติของวุฒิสมาชิกให้สูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะวุฒิทางการศึกษาและอายุซึ่งมักจะกำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 35 ปี ข้อกำหนดเหล่านี้ บางคนก็ไม่เห็นด้วย

บทบาทในการกลั่นกรองกฎหมายนั้น ในปัจจุบันอาจมีความจำเป็นน้อยลง เพราะกระบวนการทางสภาผู้แทนราษฎรเช่นการมีคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็ช่วยให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกาคอยช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น เหตุผลสำคัญของการมีวุฒิสภาก็คือ มีไว้เพื่อให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ด้วยเหตุนี้เอง วุฒิสภาจึงไม่ควรอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคการเมือง

ไม่ว่าวุฒิสภาจะมีที่มาอย่างไรก็คงจะหลีกเลี่ยง “การเมือง” ไม่ได้ และพรรคการเมืองก็ย่อมจะพยายามทุกวิถีทางที่จะมีส่วนส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภา ความคิดที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่น่าจะคาดหวังว่าในทางการเมืองนั้น จะมีพลังที่คอยเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเด็ดขาดของเสียงข้างมากได้ นอกจากนั้นก็เห็นจะต้องหวังพึ่งมติมหาชนซึ่งพรรคการเมืองจะต้องให้ความสนใจ และเป็นพลังเหนี่ยวรั้งด่านสุดท้ายนอกเหนือไปจากสื่อมวลชน และเสียงจากประชาสังคม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีผู้สังเกตว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 190 ที่ระบุให้การทำสัญญากับต่างประเทศไม่ต้องนำเข้ารัฐสภา มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันในทะเลใกล้กัมพูชาที่คนกำลังจับตามองว่าเป็นกรณีนี้หรือเปล่าที่ทำให้มีความต้องการในการยกเลิกมาตรา 190

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ในที่สุดการเมืองก็จะต้องขึ้นอยู่กับพลังประชาชนซึ่งนับว่าก็ยิ่งตื่นตัวขึ้น และเป็นความหวังสุดท้ายในการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น