“พ.อ.ปราโมทย์” แจงสื่อแก้ไฟใต้ถูกทาง ชี้ ผบ.ทบ.วางแนวทางห้ามเลือด เสริมกำลัง จนท.จนถึงปัจจุบัน คาดระยะสุดท้ายเมษาฯ คือถอนกำลัง รับมีคนปลุกระดม อ้างเหตุตากใบ แต่ไม่รู้คือใคร ติงเอ็นจีโอ สื่อฯ ทำเข้าทางโจรใต้ ยันไม่เคยเลี้ยงไข้ แจงงบน้อยทำทหารขาดกำลังใจ เล็งถก ปธ.โอไอซีคนใหม่เหตุใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ชู ม.21 ไม้เด็ดทำกลับใจ ชี้ออกสื่อไม่ใช่ ปธ.พูโล ยันแยกดินแดนไม่เจรจา
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า บรรยายชี้แจงทำความเข้าใจต่อสื่อส่วนกลางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากขณะนี้ประชาชนมีความเข้าใจ และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ถูกแทรกแซงจากประชาคมโลก สิ่งสำคัญที่สุดของสงครามประชาชน คือ ประชาชาชนในพื้นที่จะต้องสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่อย่างเสรี สามารถประกอบอาชีพได้ และมีสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ว่า ดีขึ้นหรือเลวลง
พ.อ.ปราโมทย์กล่าต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้วางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2547-52 เป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ หรือเรียกว่าช่วงห้ามเลือด โดยเน้นการสร้างความปลอดภัยเป็นหลัก ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน เป็นการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้แก่พลเรือน และทุกภาคส่วน โดยในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้จะมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 3,400 อัตราเข้าไปในพื้นที่ และระยะที่ 3 คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ หากสถานการณ์ยุติ กำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 จะส่งมอบพื้นที่ และนำกำลังกลับที่ตั้ง ซึ่งจากสถานการณ์ขณะนี้เราอาจจะพบแสงสว่างในไม่ช้านี้
“จากการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 5,500 คน แบ่งเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวน 4.9 พันคน เป็นทหาร 394 นาย และตำรวจ 310 นาย ซึ่งภายหลังจากปี 2548 ที่รัฐบาลได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ผู้ก่อเหตุพยายามจะย้ำถึงเหตุการณ์ความสูญเสียที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มาสร้างเป็นเงื่อนไข แต่ดูไม่เป็นธรรมกับฝ่ายรัฐบาล เพราะรัฐบาลพยายามทำความเข้าใจ และสั่งไม่ฟ้องบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมไปถึงการเยียวยา สำหรับเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือ เหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ และเหตุการณ์ปล้นปืน มีไอ้โม่งคอยกำกับอยู่ด้านหลัง แต่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าว
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ กลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ ประกอบด้วย พ่อค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน หรือนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมมุมกลับ อย่าง กลุ่มเอ็นจีโอ ที่มักจะทำงานตรงข้ามกับรัฐเสมอ ตลอดจนถึงนักวิชาการ ที่เชื่อในทฤษฏีของตนเอง ตลอดจนสื่อมวลชนที่มีการนำเสนอข่าวที่ไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริง จนเป็นการสร้างประโยชน์ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุโดยไม่ต้องลงทุน ทั้งนี้ กฎเหล็กของ ผบ.ทบ.ย้ำทุกครั้งในการปฏิบัติงานว่า ให้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรม และเรื่องมนุษยชน สิ่งไหนที่ละเมิดต้องหลีกเลี่ยง เราจึงมีการบันทึกภาพทุกครั้งที่ออกปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้เรื่องนำไปสู่สากล ส่วนกรณีที่มีคนออกมาพูดว่ากองทัพเลี้ยงไข้สถานการณ์ในพื้นที่เพื่อต้องการงบประมาณนั้น ความจริงงบประมาณกองทัพที่ได้มาน้อยมาก และส่วนใหญ่นำไปจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยให้กำลังพล เรื่องดังกล่าวผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น สะเทือนใจมาก เพราะเบี้ยเสี่ยงภัยที่ได้น้อยมาก ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ปัญหา ทหารทุกคนไม่อยากอยู่ในพื้นที่ อยากกลับไปอยู่กลับครอบครัวทั้งนั้น
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า ส่วนการประชุมขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ครั้งล่าสุดนั้น ทางประธานโอไอซีได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แก้ปัญหาได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ไป คือ การเปลี่ยนแปลงเลขาฯ โอไอซีมาเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย ว่าเขาจะมีมุมมองในการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร คิดว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และกระทรวงการต่างประเทศต้องทำงานหนักให้สมาชิกประเทศสมาชิก โอไอซี ทราบ ส่วนการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ซึ่งขณะนี้มีการประกาศใช้ใน 4 อำเภอจังหวัดสงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี โดยคนที่สามารถเข้าสู่กระบวนการได้ คือ ต้องกระทำความผิดนำพื้นที่ที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง สมัครใจยินยอมเข้ามามอบตัว และความผิดตรงกับมาตรา 21 ที่ได้ระบุไว้
“ในจังหวัดสงขลามีอยู่ 20 คนที่เข้ามอบตัว แต่เข้าข่ายตามมาตรา 21 จำนวน 10 คน โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 2 คน ซึ่งได้ออกไปเปิดร้านคอมพิวเตอร์ และช่างตัดผม ซึ่งมาตรา 21 ถือว่าเป็นอาวุธเด็ดของฝ่ายรัฐ เพื่อให้ทุกคนยุติความรุนแรง เพราะมองว่าคนที่กระทำผิดไม่ได้เกิดมาจากกมลสันดาน แต่เกิดจาการบ่มเพาะ ปลูกฝังความเชื่อในทางที่ผิด โดยหลักสูตรที่ผู้ก่อเหตุเข้ารับการอบรม คือ หลักสูตรการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีการอบรมประมาณ 6 เดือน และจะประเมินผล หากผ่านตามเงื่อนไข ศาลจะสั่งระงับความผิดแล้วส่งกลับบ้าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง คิดว่าจะมีคนทยอยเข้ามามอบตัวเรื่อยๆ” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายกัสตูรี มะห์โกตา ที่อ้างว่าเป็นประธานองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี หรือพูโล ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ว่ากลุ่มพูโลยังมีบทบาทเคลื่อนไหวในพื้นที่นั้น กลุ่มพูโลเป็นกลุ่มเก่าที่เคลื่อนไหวในอดีต นายกัสตูรีเป็นคนหนึ่งที่อยู่ขบวนการ แต่ไม่ได้เป็นประธานกลุ่มพูโล ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่พยายามเสนอแนวทางการเจรจามาโดยตลอด ทั้งนี้ ทาง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์ไปแล้วแนวคิดการแบ่งแยกเอกราชปัตตานีของกลุ่มพูโลคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนเรื่องการเจรจาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันกองทัพได้มีการเจรจามาโดยตลอด เพื่อรับความคิดเห็น โดย ผบ.ทบ.ได้สั่งการไว้ว่าในเรื่องการเจรจาจะต้องมีองค์กรที่แสดงตัวชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรใดออกมาแสดงตัว แสดงความรับผิดชอบหรือปฏิเสธใดๆเลย ทั้งนี้ขบวนการการเคลื่อนไหวในภาคใต้มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มพูโล กลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มมูจาฮิดีน