xs
xsm
sm
md
lg

มติ"อาเซียน+3"เน้นประโยชน์เงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเผยผลประชุมอาเซียน +3 ผลักดันสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคให้มีความสำคัญ พร้อมคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียจะยังขยายตัวได้ดี แนะประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์จากเงินทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดยมีประเด็นหลักสรุป ดังนี้ 1. ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็ว โดยให้มีสถานะความสำคัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับองค์การระหว่างประเทศทางการเงินอื่นๆ

2. ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการแก้ไขความตกลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยเพิ่มขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในยามวิกฤต และการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและป้องกันการลุกลามไปยังของประเทศสมาชิกอื่น

3. ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าหลัก

และ 4. ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาความร่วมมือใหม่ 3 เรื่องของอาเซียน+3 ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (2) การใช้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคสำหรับการค้าขายในภูมิภาค และ (3) การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปนโยบายความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยคาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2556 นี้จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน

ดังนั้นประเทศสมาชิกควรใช้ประโยชน์จากการที่มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคมาก ด้วยการใช้เงินทุนมาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาด้านการศึกษาของแต่ละประเทศสมาชิก.
กำลังโหลดความคิดเห็น