xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ก่อหนี้ 2 ล้านล้าน : การเพิ่มทุกข์ให้คนไทย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”

จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกเขาทวงไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกเขาทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้”

ข้อความข้างต้นทั้งหมดเป็นพุทธพจน์ปรากฏในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 392

โดยนัยแห่งพระพุทธพจน์นี้ มุ่งอธิบายให้เห็นความทุกข์อันเนื่องมาจากความยากจน เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน โดยเริ่มปฐมเหตุที่ความยากจน

จากพระพุทธพจน์บทนี้แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์อันเกิดจากความยากจน และการเป็นหนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตกาล และเป็นอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเสมือนกันในฐานะเป็นลูกหนี้ และไม่มีคืนเมื่อถึงเวลาชำระหนี้

แต่การเป็นหนี้ในยุคพุทธกาลอาจแตกต่างไปจากปัจจุบันบ้างตามประเภทของการกู้ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. หนี้ที่กู้มาเพื่อการจับจ่ายใช้สอยในการดำรงชีพ เนื่องจากไม่มีรายได้หรือมีรายได้แต่ไม่พอจะใช้จ่าย ลูกหนี้ประเภทนี้ได้แก่คนยากคนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน หรือแม้แต่เกษตรกรที่ยากจนไม่มีที่ทำกินต้องเช่าที่ดินของนายทุนเพื่อทำนาทำไร่ เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวเจ้าหนี้มารอทวงหนี้ ในบางรายขายพืชผลที่ผลิตได้ทั้งหมดแล้วยังไม่พอใช้หนี้ก็มี

ลูกหนี้ประเภทนี้เองที่เรียกว่าคนจนในพุทธพจน์ดังกล่าว และเนื่องจากลูกหนี้ประเภทนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ค้ำประกันในการกู้ยืมจึงต้องเสียดอกเบี้ยแพง และถ้าไม่มีเงินจากดอกเบี้ยก็จะถูกนำตัวมาทำงานแทนดอกเบี้ยที่ยุคโบราณยังไม่มีการเลิกทาสเรียกว่า ทำงานขัดดอก เป็นการทำงานในฐานะทาสไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะมีเงินมาจ่ายหนี้ และถ้าบังเอิญทาสที่ว่านี้มีสามีหรือภรรยามีลูกคลอดมาก็เป็นทาสเหมือนพ่อแม่ เรียกทาสประเภทนี้ว่า ทาสในเรือนเบี้ย

ในปัจจุบันแม้จะไม่มีทาสในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาแล้ว แต่การกู้ยืมเงินนอกระบบจากนายทุนเงินกู้ที่เอกชนก็มีอยู่ และถ้าไม่จ่ายดอกเบี้ยก็จะมีการทวงหนี้แบบโหด มีตั้งแต่ทำร้ายร่างกายเป็นการขู่ให้กลัว ไปจนถึงทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มีปรากฏให้เห็นทางสื่อบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้อันเกิดจากบ่อนการพนันที่มีนักเลงคอยทวงหนี้

2. หนี้เพื่อการลงทุน หนี้ประเภทนี้ลูกหนี้มีทั้งที่เป็นปัจเจก และเป็นนิติบุคคลในรูปขององค์กรธุรกิจ และเจ้าหนี้ก็มีทั้งที่เป็นปัจเจก และนิติบุคคลคือสถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจการเงิน

การเป็นหนี้ประเภทนี้จะต้องมีหลักทรัพย์และบุคคลร่วมค้ำประกัน

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและไม่จ่ายเงินต้นคืน ผู้ให้กู้ก็จะทำการฟ้องร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาที่ทำกันไว้ และถ้าศาลสั่งให้ชำระหนี้แล้วยังไม่สามารถชำระได้ ก็จะถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายและทำการยึดทรัพย์สินทั้งหมดมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเป็นหนี้ในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะเป็นทุกข์ต่างกัน แต่ก็เป็นทุกข์ทั้งคู่ เพียงแต่ฝ่ายแรกในยุคโบราณหรือแม้ในยุคปัจจุบันทุกข์นั้นตกแก่ผู้กู้โดยตรง ส่วนประเภทหลังมีอยู่ไม่น้อยที่ล้มละลายแล้วก็สามารถอยู่ในสังคมได้สะดวกสบายตามอัตภาพ จึงพอสรุปได้ว่าคนจนเป็นหนี้กับคนรวยเป็นหนี้ แม้สุดท้ายจะจบลงด้วยการไม่จ่ายหนี้ โทษและทุกข์ที่ได้รับก็หนักเบาต่างกัน

นอกจากหนี้สองประเภทนี้แล้วยังมีอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าหนี้สาธารณะ ผู้กู้คือรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ และไม่มีฐานะทางด้านการเงินดีพอที่จะนำมาพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือที่เรียกว่าโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา รวมไปถึงรถไฟ เป็นต้น และในการจ่ายคืนเงินกู้หนี้ประเภทนี้ รัฐบาลจะต้องนำเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาการกู้เงิน และถ้าในปีใดจัดเก็บภาษีได้น้อย ไม่พอจะจ่ายหนี้ ทางออกเดียวที่รัฐบาลในขณะที่หนี้ถึงระยะเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนก็คือต้องกู้หนี้มาใช้หนี้ อันเรียกได้ว่าแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาเพิ่ม ยิ่งเป็นการก่อหนี้จำนวนมาก และระยะจ่ายคืนยาวด้วยแล้วไม่มีใครประกันได้ว่ารายได้ของประเทศปีใดพอหรือไม่พอต่อการจ่ายหนี้ จึงเป็นการก่อหนี้ที่เสี่ยงต่อความเดือดร้อนของประชาชนจากการปรับขึ้นภาษีในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

อีกประการหนึ่ง ในการลงทุนด้วยเงินกู้ สิ่งที่จะต้องจัดทำอย่างรอบคอบและรัดกุมก็คือ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ โดยดูจากผลตอบแทน 2 ประการ คือ

1. ประโยชน์ที่ได้ทางสังคม (Social Benefit) มีมากพอและคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่

2. ประโยชน์ที่ได้ในทางการเงิน (Financial Benefit) มีมากพอที่จะใช้คืนเงินกู้ทั้งต้นและดอกหรือไม่

แต่โดยทั่วๆ ไปโครงการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการจะมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนทางสังคมเป็นหลัก แต่มิได้หมายความว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ก็ช่าง เพราะถ้าขาดทุนมากเกินไปก็เท่ากับทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของเงินลงทุน และเงินที่จะต้องนำมาดำเนินโครงการอันเป็นการเพิ่มหนี้ให้ประชาชนแบกรับมากเกินไป

ด้วยเหตุที่ว่านี้เอง เมื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเข้าสภาฯ จึงได้มีกระแสคัดค้านออกมาอย่างกว้างขวาง เพราะทุกคนไม่แน่ใจว่าหนี้ที่จะต้องใช้ภายใน 50 ปีเมื่อรวมดอกแล้วประมาณ 5 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าโครงการที่จัดทำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟความเร็วสูงไม่คุ้มทุน และรัฐบาลในขณะนั้นจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ประมาณการไว้จะต้องกู้หนี้มาใช้หนี้ก้อนนี้อีกหรือไม่ และกู้อีกเท่าใด รวมไปถึงรายได้ที่จัดเก็บจากการเดินรถ ถ้าเผอิญรัฐบาลในขณะนั้นนำโครงการนี้ไปหาเสียงในรูปของประชานิยม โดยการลดราคาหรือไม่ขึ้นราคาตามที่คำนวณไว้ จะทำให้ต้องขาดเงินในการจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าใด

ทั้งหมดนี้คือข้อกังขาที่ประชาชนมีสิทธิในการตั้งโจทย์ถามรัฐบาล และรัฐบาลจะต้องตอบถ้าต้องการให้การกู้เงินเป็นไปอย่างปราศจากความขัดแย้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น