ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การลงนามแสดงเจตนารมณ์เริ่มต้นสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทยกับแกนนำกลุ่ม BRN ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ถูกสื่อของรัฐนำไปตีปี๊บกันอึกทึกครึกโครม เพื่อเอาเป็นความดีความชอบของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราวกับว่าเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบสิ้นลงภายในไม่กี่วันนี้
การลงนามดังกล่าว ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม
ขณะที่แกนนำกลุ่ม BRN ได้แก่ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือนายอาแซ เจ๊ะหลง รองเลขาธิการฯ และหัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่ม พร้อมด้วยนายอาแว ยะบะ เลขานุการฝ่ายต่างประเทศ นายอับดุลเลาะห์ มาหะมะ ระดับนำฝ่ายอูลามา และนายอับดุลเลาะห์มาน ยะบะ ระดับนำฝ่ายการเมือง
โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของประเทศมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน
ภายหลังการลงนาม พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ว่า การลงนามครั้งนี้ มีข้อตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่สันติสุข จะมีการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ โดยจะเป็นการจัดเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ
“เป็นการเปิดกุญแจดอกแรกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประเทศมาเลเซียพร้อมจะประสานให้ความร่วมมือดังกล่าว โดยหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะมีการหารือเพื่อติดตามการลงนามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง”พล.ท.ภราดรกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสงสัยว่า การลงนามร่วมกับตัวแทน BRN ครั้งนี้ จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงปาหี่เพื่อสร้างภาพให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น
นั่นเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่รู้จักแกนนำกลุ่ม BRN และไม่รู้ว่าหลบซ่อนตัวอยู่ตรงไหน แต่ครั้งนี้กลับประสานงานให้มาลงนามกับรัฐบาลไทยได้ จึงมีคำถามตามมาว่า ตัวแทน BRN ที่มาลงนามเมื่อวันที่ 28 ก.พ.เป็นตัวจริงหรือไม่ หรือว่าในอดีตที่ผ่านมา ฝ่ายมาเลเซียเล่นลิเกหลอกรัฐบาลไทยมาตลอด
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า กลุ่มผู้ก่อความในสงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย เพิ่งก่อเหตุรุนแรงติดต่อกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่มีการนำกำลังเข้าโจมตีฐานนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จนถูกเจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตไป 16 ราย และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็นำไปบิดเบือนขยายผลใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ พร้อมกับทำใบปลิวประกาศล้างแค้นให้เพื่อน
แล้วจู่ๆ ทำไมเปลี่ยนใจมาลงนามเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย
กลุ่ม BRN นั้น มีชื่อเต็มว่า Barisan Revolusi Nasional Melayu Pattani หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ได้รับการก่อตั้งมากว่า 40 ปี โดยมีเป้าหมายในการแบ่งแยก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยตั้งเป็น“รัฐปัตตานี”อิสระจากรัฐบาลไทย
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ ได้ใช้การก่อการร้าย เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีการฝังแนวคิดหัวรุงแรงให้สมาชิกตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตาม จำนวนสมาชิกของ BRN ยังไม่ชัดเจน แต่ใช้ประโยชน์จากความเชื่อด้านศาสนาในการชักจูงคนเข้าร่วม โดยเริ่มล้างสมองคนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา เมื่อคนเหล่านี้เติบโตขึ้นมา จึงมีกำลังพลใหม่ๆ เข้ามาก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
แผนการก่อความไม่สงบของ BRN ต้องการใช้ระยะเวลาในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2555-2565 เพื่อขับไล่ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนออกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตั้งเป็นเขตปกครองตนเอง ก่อนก้าวไปสู่การเป็นรัฐอิสระต่อไป
คำถามมีอยู่ว่า แนวความคิดนี้ถูกลบล้างออกไปอย่างหมดจดหรือยัง ถ้ายัง การลงนามเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ก็เป็นแค่เรื่องแหกตาเท่านั้น
มีข้อน่าสังเกตอีกว่า ฝ่ายกองทัพของไทยพยายามที่จะออกตัวว่าไม่เกี่ยวข้องกับการลงนามครั้งนี้ โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เช่นเดียวกับ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ เป็นส่วนของนโยบายรัฐบาล ส่วนจะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียหรือไม่นั้นก็ต้องดูกันต่อไป
ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาหลังจากตัวแทนรัฐบาลไทย ที่เป็นถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงไปลงนามกับตัวแทน BRN ก็คือ สถานะของ BRN หลังจากนี้ จะถือว่าได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยแล้ว หลังจากที่ในอดีตที่ผ่านมา หากจะเจรากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลไทยใช้วิธีการเจรจาอย่างลับๆ มาตลอด ไม่ได้ลงนามร่วมกันอย่างเปิดเผยและเป็นทางการอย่างเช่นครั้งนี้
การเปิดโต๊ะเจรจาและการลงนามความตกลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้กลุ่ม BRN มีสถานะและตัวตนในทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้น พวกเขาจะสามารถขอรับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากโลกมุสลิมได้อย่างเปิดเผยและเป็นทางการขึ้นมาทันที
หลังจากนี้ หากกลุ่ม BRN จะบิดพลิ้วข้อตกลง แล้วป้ายสีว่าเป็นความผิดของฝ่ายรัฐบาลไทย ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจะถูกยกระดับเป็นปัญหาระหว่างประเทศไทยกับโลกมุสลิมทันที ไม่ใช่ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศอีกต่อไป
บทเรียนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลไม่สามารถทำความแน่นอนในการเจรจากับกลุ่ม BRN ได้เลย นั่นคือกรณีที่ นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ เจ๊ะอาหลี ที่นำพรรคพวกสมาชิก BRN เกือบ 100 คนเข้ารายงานตัว และเปิดพื้นที่สนทนากับ พล.ท.อุดม ชัยธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555
ในครั้งนั้นมีการประโคมข่าวว่านี่คือความสำเร็จของนโยบาย “พาคนกลับบ้าน” แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน แนวร่วมกลุ่มใหม่ที่เป็นเยาวชนในพื้นที่ก็ก่อเหตุร้ายขึ้นอีก โดยเฉพาะการฆ่าผู้หญิง 3 ศพ ใน อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อชิงรถยนต์ไปทำคาร์บอมบ์ หลังจากนั้นเหตุร้ายรายวันก็ยังเกิดขึ้นเป็นปกติต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
นั่นเพราะสมาชิก BRN ที่เข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555 ไม่ใช่ระดับแกนนำสำคัญ และคนเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งออกมามอบตัว แต่ทยอยออกมามอบตัวสะสมมานานหลายปีแล้ว ซึ่งเมื่อคนเก่าออกมามอบตัว กลุ่ม BRN ก็สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน
ดังนั้น ตราบใดที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐของไทยยังไม่สามารถลบล้างแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน และหยุดการสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นเก่า การลงนามกับตัวแทน BRN เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่มี นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง ก็เป็นเพียงการสร้างภาพแหกตาชาวโลก หวังเอาผลงานให้น้องสาว แต่กำลังจะสร้างปัญหาใหญ่ให้ประเทศ นั่นคือการทำให้ไทยกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับโลกมุสลิม