xs
xsm
sm
md
lg

อ้างการเมืองล้วงลูกโรงพักฉาว กัน"ปทีป"เป็นพยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) กล่าวถึงความคืบหน้า ในคดีก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง ว่า ในขณะนี้ดีเอสไอ ได้พบข้อมูลใหม่ ที่จะตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามมาตรา 157 โดยการตรวจสอบทางดีเอสไอ พบว่า ในช่วงปลายยุครัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงเดือนก.พ. 52 นั้น ได้มีการเสนอโครงการสร้างโรงพักทดแทน 369 หลัง เข้าสู่การพิจารณาของครม.ในตอนนั้น ซึ่งในครม. ก็ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ และสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดจ้าง แต่สาระสำคัญที่เป็นข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ให้ดำเนินการจัดจ้างการก่อสร้างกระจายเป็นรายภาค ดังนั้นตรงนี้ การที่ใครจะไปเปลี่ยนมติ ครม.อะไร จะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู้ที่ประชุมครม. อีกครั้ง
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นชุดของ นายอภิสิทธิ์ ซึ่งในช่วงแรกเรื่องดังกล่าวก็ยังยึดถือตามติครม.เดิม ที่แยกรายภาค และเมื่อผ่านมาเป็นเวลา 6 เดือน ได้มีการสั่งยกเลิกการก่อสร้างรายภาค แล้วมีการอนุมัติใหม่ ให้ดำเนินการแบบรวบสัญญา
นายธาริต กล่าวว่า หลักฐานที่เราพบใหม่นั้น คือ เรื่องดังกล่าวนี้ ได้มีมติครม.ค้างอยู่ว่าให้แยกสัญญาก่อสร้างแบบรายภาค แต่อยู่ดีๆ ฝ่ายการเมืองไม่ยอมนำเรื่องเข้าครม.อีกครั้ง แต่กลับสั่งให้มีการรวบสัญญา ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลแข่งกับบริษัท พีซีซีฯ แล้วแพ้การแข่งขันการประมูล ซึ่งบริษัทที่แพ้การประมูล ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการว่าด้วยวิธีการวัสดุทางอีเล็คทรอนิคส์ ซึ่งเป็นบอร์ดระดับชาติ ให้ทำการวินิจฉัย ซึ่งผลการวิจัยก็ออกมาสอดคล้องกับมติครม. ว่า การดำเนินการโดยการยกเลิกรายภาค และนำมารวบศูนย์เป็นสัญญาฉบับเดียว ถือว่าเป็นการขัดมติครม.
ดังนั้น ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่ผิดตามพ.ร.บ.ฮั้ว เท่านั้น แต่ยังมีความผิดที่ฝ่าฝืนมติครม. ซึ่งจะมีความผิดตาม มาตรา 157 อีกด้วย จากสิ่งที่เราพบทั้งหมดนี้ ทำให้ดีเอสไอ เห็นว่าน่าจะเป็นข้อมูลหลักฐานที่พอเพียงที่จะสามารถสรุปเรื่องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาความคิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้
"ในช่วงที่มีการร้องเรียนนั้น บริษัทที่เข้าร่วมประชุม 8 บริษัท ได้เข้าชื่อร่วมกันคัดค้าน รวมทั้งบริษัท พีซีซี ด้วย โดยส่งเรื่องเสนอไปยัง นายอภิสิทธิ์ ว่าอย่าได้ยกเลิกเปลี่ยนแปลงสัญญามาเป็นแบบรวมสัญญาเป็นอย่างเด็ดขาด เพราะจะไม่มีบริษัทใดที่จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งผลของการคัดค้านดังกล่าวก็ไม่เป็นผล เพราะในที่สุดแล้วก็มีการแก้ไขสัญญา มาเป็นแบบรวมสัญญาอย่างที่เราเห็นกัน การส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.นั้น ดีเอสไอ จะสรุปส่งเรื่องทั้งความผิดเรื่องการฮั้ว และความผิดตามมาตรา 157 เนื่องจากบุคคลทั้งสองถือว่าเป็นข้าราชการระดับสูงของฝ่ายการเมือง ซึ่งถือว่าอยู่ในอำนาจของป.ป.ช." นายธาริต กล่าว
เมื่อถามว่า นอกจาก นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ แล้ว ยังมีข้าราชการประจำที่จะอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินการส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ในเบื้่องต้นเราเห็นว่า พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผบ.ตร.ในขณะนั้น น่าจะอยู่ในข่ายด้วย เพราะจากการตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีความไม่ปกติเกิดขึ้น คือ ฝ่ายข้าราชการประจำจะไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องเอง แต่จะมีหน้าที่ปฏิบัติ ตามมติครม.เดิมที่อยู่ในยุครัฐบาลของ นายสมชาย แต่เรื่องดังกล่าวนี้ คงจะต้องใช้คำว่า มีการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง ให้ฝ่ายประจำเสนอไปยกเลิก และแก้ไขสัญญา ซึ่งไม่มีระเบียบใดที่ระบุให้ทำ และถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดมติครม.
" การกระทำอย่างนี้เรามองว่า เป็นการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง และเรามองว่า พล.ต.อ.ปทีป ไม่น่าจะอยู่ในข่ายของผู้กระทำความผิดโดยตรง และอาจจะเสนอให้กัน พล.ต.อ.ปทีป ออก หรือเสนอว่า ไม่ให้พล.ต.อ.ปทีป ไม่ได้อยู่ในข่ายที่มีความผิด เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ โดยในสัปดาห์หน้า เราจะทำการพิจารณาต่ออีกครั้ง ตอนนี้มุมเรื่องนี้ เรามีความชัดเจนตรงฝ่ายการเมือง เพราะเราคิดว่าหากฝ่ายการเมืองไม่สั่งการ ปัญหาเรื่องนี้ทั้งหมดคงจะไม่มีเกิดขึ้น เนื่องจากเราต้องดูที่จากพฤติการณ์ทั้งหมดฝ่ายการเมืองไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่ฝ่ายการเมืองกลับสั่งการให้ฝ่ายข้าราชการประจำให้ดำเนินการ เสนอเรื่องมายังฝ่ายการเมือง ซึ่งผมคิดว่าถ้าฝ่ายเมืองมีความสุจริต ฝ่ายการเมืองจะต้องไม่อนุมัติในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของตนเอง อีกทั้งพฤติการณ์เช่นนี้มันบ่งชี้ที่ว่า กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา " นายธาริต กล่าว

** เรียกผู้รับเหมามารับทราบข้อกล่าวหา

ด้านพ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนได้ส่งหนังสือเชิญผู้บริหาร บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล นายวิศณุ วิเศษสิงห์ และนายจาตุรงค์ อุดมสิทธิกุล เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในคดีความผิดฐานฉ้อโกง โดยการหลอกลวงด้วยความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงกับผู้รับเหมาที่มีการจ้างช่วงต่อ โดยกำหนดนัดรับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 15 มี.ค. เวลา 09.30 น.
ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้บริหาร บริษัทพีซีซีฯ ทั้ง 3 ราย จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามนัด
พ.ต.ท.ถวัล กล่าวด้วยว่า ความผิดเกี่ยวกับคดีฉ้อโกง เป็นคดีที่สามารถเจรจายอมความกันได้ระหว่างคู่กรณี คือ บริษัทพีซีซีฯกับผู้รับเหมาช่วง โดยต้องมีการตกลงการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้เสียหายด้วยว่าพอใจกับการชดใช้ค่าเสียหายจากทางบริษัทพีซีซีฯหรือไม่ หากพอใจฝ่ายผู้เสียหายก็อาจถอนแจ้งความได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ก็ได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารของบริษัท พีซีซีฯ ทั้ง 3 รายนี้ ที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดยืนยันว่า จะพยายามหาทางเจรจากับบริษัทผู้รับเหมาช่วง และหาเงินมาชดใช้ให้กับบริษัทผู้รับเหมาเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 20 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 69 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่มีนักการเมืองท้องถิ่น จ.อุดรธานี เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการช่วยเหลือบริษัท พีซีซีฯ ด้วยการกีดกันไม่ให้ผู้รับเหมาช่วง เข้าให้ข้อมูลกับดีเอสไอนั้น ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเรียกตัวมาสอบปากคำ และส่งเรื่องไปให้ป.ป.ช.ไต่สวน
สำหรับการพบข้อพิรุธ กรณีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฝ่าฝืนมติครม. ด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประมูลสัญญาก่อสร้าง จากการแยกรายภาค เป็นรวบสัญญาเดียว ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. ฮั้ว นั้น เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาและชี้ขาดความผิด

** จวก"ธาริต"รับใช้การเมือง
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย แถลงข่าวเรียกร้องให้สื่อมวลชนจับตา และติดตามการทำหน้าที่ของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในกรณีตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง ว่า นายธาริต จ้องจับผิดแต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายธาริต ต้องเรียกสอบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ด้วย ว่าเหตุใดถึงไม่ยกเลิกสัญญาว่าจ้างกับบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทั้งที่ข้อ 6 ของ ทีโออาร์ เปิดช่องให้ทำได้ หากพบว่าบริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันกำหนดเวลา สตช. มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาได้ และว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่
นอกจากนี้ดีเอสไอ ยังไม่ได้ตรวจสอบฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง โดยสอบสวนแค่ประเด็นทุจริต ซึ่งเชื่อว่าหาคนผิดไม่ได้ ทั้งนี้ตนจะเกาะติดเรื่องนี้่อย่างใกล้ชิด โดยจะเปิดแถลงข่าวทุกสัปดาห์ต่อจากนี้่
"นายธาริต ต้องตรวจสอบให้ครบประเด็น ตรวจสอบทุกคนที่เกี่ยวข้อง อย่าเลือกที่รัก มักที่ชัง ทำอย่างนี้ถูกต้องหรือ ไม่ใช่จ้องเล่นงานเฉพาะคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง" นายชูวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น