xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาจ๊าก!รัฐถังแตก จำนำตันละ1.3หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.สั่งคลังไปปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่ หลังส่อแววต้องกู้เพิ่มอีก 7 หมื่นล้านถมจำนำข้าว "หมอวรงค์"ชี้ยังไงก็ต้องกู้ เหตุพลาญไปเยอะ แต่ขายของได้เงินคืนนิดเดียว "พาณิชย์"เตรียมชง กขช. 1 มี.ค.นี้ พิจารณาลดราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าจากตันละ 1.5 หมื่นบาทเหลือ 1.3 หมื่นบาท หลังชาวนาปลดหนี้ได้แล้ว ยันไม่เกี่ยวรัฐบาลถังแตก เพราะมีงบ 1.5 แสนล้าน บวกเงินขายข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 ก.พ.) ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ไปปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยขออนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวอีก 7 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มเติม นอกเหนือจากวงเงินตามมติ ครม. ที่อนุมัติเห็นชอบให้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/2556 แล้ว จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดการค้ำประกันเงินกู้เพื่อไปรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2556 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 แสนล้านบาท เนื่องจากวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอกับการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2555/2556

นอกจากนี้ การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ล่าช้ามาก ทำให้ ธ.ก.ส.ไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนในการจ่ายเงินเพื่อรับจำนำข้าวรอบใหม่ได้ทัน อีกทั้งการกู้เงินเพื่อรับจำนำข้าวรอบแรกจำนวน 2.69 แสนล้านบาท ก็ดำเนินการกู้ไม่ทันจำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินจากสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ไปดำเนินการก่อน ทำให้ สบน.ต้องกู้เงินเพิ่มเติมไปใช้คืน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว ครม. ต้องอนุมัติเงินกู้ 7 หมื่นล้านให้กับ ธกส. อย่างแน่นอน เพราะโครงการรับจำนำพืชผลเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 5.64 แสนล้านบาท แต่ขายพืชผลเกษตรได้ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่คงมีปัญหาว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะไปกู้มาจากไหน เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ยินยอมให้กู้ รัฐบาลต้องไปพึ่งพาธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย

ส่วนกรณีที่ตนได้ท้าทายไปยังรัฐบาล ท้าทายไปยังนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ที่ให้ไปตรวจสอบโรงสีข้าวที่มีข้าวเน่า และปนเปื้อน แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมา แม้แต่นายณัฐวุฒิที่ออกมากล่าวหาว่าตนใช้ข้าวนึ่งและกระสอบปลอม ก็ไม่กล้า และไม่แน่จริง ดีแต่กล่าวหา ใส่ร้ายผู้อื่น จึงไม่แปลกที่อดีตที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิรับผิดชอบดูแลเรื่องยางพาราแล้วมีปัญหา เพราะเมื่อมาอยู่กระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาดูแลเรื่องราคาสินค้า แต่ถูกส่งให้ไปนั่งเฝ้า 4 หน่วยงาน คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สถาบันอัญมณี และศูนย์ศิลปาชีพ ดังนั้น วันหลัง หากนายณัฐวุฒิไม่แน่จริงก็อย่าออกมาพูด

สำหรับกรณีกระสอบบรรจุข้าวเน่าที่มีรหัสข้างกระสอบ สร 04 ที่รัฐบาลอ้างว่า มาจากโรงสี อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้าวที่มาจาก อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และเมื่อครบกำหนด 7 วันตามที่ตนได้ท้า รัฐบาลกลับเงียบเฉยที่จะลงไปตรวจสอบ ดังนั้น ตนขอแนะนำให้ลงไปตรวจสอบโกดังคลังสินค้าแห่งหนึ่งบริเวณรอยต่อระหว่าง อ.ปราสาทและ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งมีนักการเมืองระดับชาตินามสกุลดังเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะหากลงไปตรวจช้าอาจเกิดไฟไหม้ดังเช่นโกดังอื่นๆ ได้ จึงอยากเรียกร้องไปยังนายบุญทรงว่า ท่านหนีไปไหนไม่รอด และอย่าทำเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม โดยเฉพาะเรื่องข้าวเน่าและการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี เพราะเป็นการเอาคนจนมาอ้าง รับรองว่า ติดคุกแน่นอน และขอตั้งฉายารัฐบาลนี้ว่า "รัฐบาลข้าวเน่า" นายกฯและรัฐมนตรีทุกคนจะมีนามสกุลว่า "ข้าวเน่า"

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายบุญทรง เป็นประธาน วันที่ 1 มี.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 รอบ 2 หรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ที่จะเริ่มในเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการ หลังจากที่โครงการรอบแรกจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. โดยจะปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าให้ที่ประชุมพิจารณา ขณะที่ราคาข้าวเปลือกชนิดอื่นๆ จะยังคงราคาเดิมตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 2555/56

โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า จะเสนอ 3 ระดับราคา คือ ตันละ 15,000 บาทเท่าเดิม หรือรับจำนำที่ตันละ 14,000 บาท หรือตันละ 13,000 บาท เพราะเห็นว่า โครงการรับจำนำของรัฐบาลนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาทนั้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถลดภาระหนี้สินไปได้มากแล้ว น่าจะเพียงพอสำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ขณะนี้ จึงน่าจะหันมาสร้างความสมดุลให้กับด้านการตลาด และการส่งออกบ้าง

”เกษตรกรส่วนใหญ่บอกว่าหนี้สินที่มีอยู่น่าจะปลดเปลื้องได้ภายใน 2 ปี ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ทำโครงการรับจำนำข้าวราคาสูงมา 2 ปีแล้ว ก็น่าจะลดภาระไปหนี้สินไปได้มาก จึงน่าจะทำให้ด้านการตลาด และด้านการส่งออกคล่องตัวมากขึ้นบ้าง ถ้าลดราคารับจำนำลงมาอีก ผู้ส่งออกน่าจะขายได้มากขึ้น มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมข้าวก็จะขยายตัวได้มากขึ้น และเกษตรกรไม่น่าได้รับผลกระทบอะไร” นางวัชรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ที่เสนอให้พิจารณาปรับลดราคารับจำนำครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับไม่มีงบประมาณเพียงพอในการรับจำนำ เพราะครม. ได้อนุมัติงบประมาณในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังไว้แล้วที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินจากการขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลแบบจีทูจี ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งคืนให้กระทรวงการคลังไปแล้วเกือบ 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คงต้องรอให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนว่าจะเลือกรับจำนำที่ราคาเท่าไร ซึ่งอาจเลือกราคาเดิมที่ตันละ 15,000 บาทก็เป็นได้

นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะโฆษกข้าว กล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จะหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสรุปสภาพคล่องการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งรอบนาปีปี 2555/56 และนาปรังปี 2556 โดยยืนยันได้ว่า สามารถขายข้าวจีทูจีได้จำนวนมาก และมีเงินส่งคืนกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีส่งเงินค่าขายข้าวไปแล้ว 5.2 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมการขายข้าวส่วนอื่นๆ ด้วย ได้ส่งเงินคืนไปแล้ว 6-7 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น