xs
xsm
sm
md
lg

การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลล์) กับปัญหาในการเลือกคำที่ใช้ในการถาม

เผยแพร่:   โดย: อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

โดย...อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

นักศึกษาปริญญาเอกทาง Psychometrics and quantiative psychology Fordham University, New York City, USA

การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (Survey of Public Opinion) หรือการทำโพลกำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงใกล้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนี้ บทความชุดนี้มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้มีหลักคิดในการพิจารณาที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผลการทำโพลต่างๆ ในบทความก่อนหน้านี้ได้นำเสนอปัญหาความคลาดเคลื่อนในการชักตัวอย่างซึ่งทำให้ผลของโพลไม่น่าเชื่อถือ สำหรับบทความนี้จะนำเสนอปัญหาในการเลือกคำที่ใช้ในการถามสำหรับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพล) ซึ่งก็นับว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การรู้จักถามหรือปุจฉานี้เป็นหนี่งในสี่หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ การตั้งคำถาม ให้ดีนั้นสำคัญเท่าๆ กับการหาคำตอบ หากไม่รู้จักตั้งคำถามที่ดีแล้วก็ยังไม่มีวันได้คำตอบที่ดีได้

การทำโพลก็เช่นกัน ต้องรู้จักที่จะตั้งคำถามให้ถูกต้องเหมาะสม ถ้าถามด้วยการใช้คำพูดแตกต่างกัน ออกไปผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกัน มีคนศึกษาเรื่องเหล่านี้เอาไว้มาก แต่ในบทความนี้จะนำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น ปรากฏการณ์แรกที่เราจะพูดถึงคือ Framing Effect หรือผลของการใช้กรอบความคิดที่แตกต่างกันที่มีผลต่อคำตอบ มีนักจิตวิทยาสองคนคือ Daniel Kahneman กับ Amos Tversky ทั้งสองคนนี้เป็นนักจิตวิทยาเชิง คณิตศาสตร์ คือนักจิตวิทยาที่เอาคณิตศาสตร์มาเป็นเครื่องมือใช้ช่วยอธิบายการคิดของมนุษย์ ทั้งสองเชี่ยวชาญด้านการตัดสินใจและเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ในภายหลัง Daniel Kahneman ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ (Amos Tversky เสียชีวิตไปก่อนจะมีการมอบรางวัล)

ทั้งสองท่านนี้ได้ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยการทดลอง ที่ชื่อว่าปัญหาโรคจากเอเชีย โดยมีคำถามสมมติว่ามีโรคระบาดจากเอเชีย มีวิธีการรักษาสองวิธี วิธีที่หนึ่งจะช่วยให้คนรอดได้ 33.33% วิธีที่สองจะมีคนตาย 66.66% ผลปรากฏว่าคนกว่าร้อยละ 72 เลือกที่จะใช้วิธีการที่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความจริงทั้งสองวิธีการให้ผลลัพธ์ที่เท่ากันทุกประการ แต่วิธีการที่หนึ่งนำเสนอตัวเลือกในทางบวกคือเน้นไปที่ความน่าจะเป็นที่คนจะรอด ส่วนวิธีการที่สองนำเสนอตัวเลือกไปในทางลบคือเน้นไปที่ความน่าจะเป็นที่คนจะตาย! ทำไมมนุษย์เราจึงไม่มีความคงเส้นคงวาเช่นนั้น เพราะคนเราพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk aversive) เวลาที่ตัวเลือกถูกนำเสนอในทางลบ คนเราจะรู้สึกว่ามันแย่มากและพยายามจะหนีให้พ้นความเสี่ยงนั้นๆ ไปให้ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาได้ทดลองในอเมริกา โดยให้มีการชิมสเต็กเนื้อที่มาจากเนื้อก้อนเดียวกัน ปรุงด้วยวิธีการเหมือนกัน แต่สเต็กจานแรกติดป้ายว่าทำจากเนื้อล้วน 75% (75% lean meat) ส่วนอีกจานติดป้าย ว่ามีไขมัน 25 % (25% fat) ซึ่งในความเป็นจริง สเต็กทั้งสองจานเหมือนกันทุกประการ ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ เลือกกินสเต็กจานแรกและประเมินผลว่ารสชาติของสเต็กจานแรกดีกว่าจานที่สอง! เพราะคนอเมริกันนั้นกลัวโรคหัวใจ กลัวโรคคอเสสเตอรอลในเลือดสูงกันค่อนข้างมาก

เราลองมาพิจารณาคำถามเกี่ยวกับโพลที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เช่น ถามว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับรัฐบาล? แต่ถ้าผู้ทำการสำรวจถามว่า ท่านรู้สึกอย่างไรกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง? หรือท่านรู้สึกอย่างไรกับรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว? การใช้คำพูดที่แตกต่างกันเหล่านี้ เพียงไม่กี่คำย่อมทำให้ผลการสำรวจโพลนั้นออกมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนักวิจัยที่ทำโพลต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

อันดับในการนำเสนอคำถามก็มีความสำคัญเช่นกัน ทางจิตวิทยาเรียกว่า order effect ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งเรื่องของความจำที่มนุษย์เรามักจะจำสิ่งที่นำเสนอไปตอนต้นๆ หรือตอนท้ายๆ ได้มากกว่า (Primacy or Recency Effect) นอกจากนี้คนเรายังพยายามรักษาความสอดคล้องทางปัญญาของตัวเองให้เสมอต้นเสมอปลายด้วย ดังนั้น ลำดับการนำเสนอคำถามจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ลองนึกดูง่ายๆ ว่าเวลาเราดูรายการประกวดร้อง เพลง ถ้าหากผู้เข้าประกวดคนแรกร้องเพลงได้ดีมากที่สุดอย่างที่จะหาใครมาเทียบเคียงได้ยาก หากผู้เข้าประกวดคนต่อมาร้องเพลงได้ดีมากเราก็คงรู้สึกเฉยๆ เพราะเราปักใจ ประทับใจกับนักร้องคนแรกไปแล้ว เป็นต้น นี่เป็นผลของความจำนั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งเวลาคนมาถามเราด้วยคำถามเป็นลำดับดังนี้ คำถามที่หนึ่งถามว่า ท่านคิดว่าการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าสดชื่นหรือไม่? คำถามที่สองถามว่า ท่านคิดว่าการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรงหรือไม่? ถามอย่างนี้ไปเรื่อยแล้วมาตบท้ายว่า ท่านคิดว่าท่านควรจะเริ่มต้นไปออกกำลังหรือไม่ ถ้าท่านได้ตอบคำถามต้นๆ ไปหมดแล้ว ท่านก็ต้องพยายามรักษาความคงเส้นคงวาของคำพูด หรือความคิดของท่านต่อไป ด้วยการตอบว่า ใช่คิดว่าจะไปออกกำลังมากขึ้น

สมมติว่า โพลของสำนึกหนึ่ง ถามคำถามที่หนึ่งว่า ท่านคิดว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ท่านเห็นในสื่อต่างๆ มากที่สุด คำถามที่สอง ท่านคิดว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ท่านใดที่น่าจะประสานงานกับพรรครัฐบาลได้สะดวกมากที่สุด คำถามที่สาม ท่านคิดว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ท่านใดที่ติดดินและประชาชนน่าจะเข้าถึงได้มากที่สุด แล้วจึงมาตบท้ายถามว่า ท่านคิดว่าจะเลือกผู้สมัครท่านใดเป็นผู้ว่าฯ กทม. การถามแบบนี้เสมือนเป็นการตะล่อมความคิดของคนตอบให้เลือกที่จะตอบคำถามสุดท้ายว่าจะเลือกพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ การตั้งคำถามแบบนี้นอกจากจะทำให้ได้ผลการสำรวจที่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังอาจจะถือได้ว่าเป็นนักวิจัยขาดจริยธรรมในการวิจัยด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2556 เล่าถึงความไม่ชอบมาพากลของการตั้งคำถามในการทำโพลของสำนักหนึ่งซึ่งมีข่าวลือมาหน้าหูว่า เจ้าสำนักโพลแห่งนั้นรับงานทำโพลมาจากภาครัฐมากมาย และการถามคำถามทางโทรศัพท์ในการทำโพลนั้นมีลักษณะชี้นำเป็นอันมาก จนแทบจะมีลักษณะเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรครัฐบาลเสียด้วยซ้ำ หากสิ่งที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้รับรู้มาเป็นความจริง ท่านคิดว่าเราสมควรหรือไม่ที่จะเชื่อถือผลโพลจากสำนักนั้นๆ ในต่างประเทศนั้นการนำเสนอผลโพลจะต้องมีการนำเสนอคำถามด้วยว่าถามด้วยคำถามแบบไหน ไม่ใช่แค่นำเสนอผลการสำรวจเท่านั้นอย่างที่นิยมทำกันในประเทศไทย จึงขอให้ท่านผู้อ่านได้ลองคิดกันให้มากๆ ก่อนจะเชื่อสิ่งใดๆ จากโพลต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น