xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ซุกซ่อนและฟอกเงิน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

​เรื่องนักการเมืองไทยบินไปสิงคโปร์และฮ่องกงเพื่อบริหารบัญชีที่ฝากเงินไว้เป็นข่าวบ่อยมากแต่ยากที่จะพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ หากข้อมูลประกอบต่างๆ มีส่วนจริงสักครึ่ง ข่าวดังกล่าวมีส่วนเป็นจริงอยู่มาก

​สื่อฝรั่งเพิ่งรายงานตรงกับสื่อไทยว่าการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนตอนนี้มีอัตราเกินกว่า 30% ของต้นทุนของโครงการรัฐบาลแล้ว ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลนับวันจะทุ่มลงทุนนับเป็นหลักล้านล้านบาทแม้บางโครงการดูจะเป็นแบบสุกเอาเผากินก็ตาม โครงการบริหารจัดการน้ำเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งใช้เงินกู้จำนวนมหาศาลและทำกันอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากนักการเมืองต้องรายงานทรัพย์สินของตน การออกไปรับ จ่าย ฝาก โยกย้ายและใช้สอยเงินในต่างประเทศจึงเป็นทางออกที่นิยมทำกัน

​การบินไปสิงคโปร์และฮ่องกงสำหรับคนไทยทำได้ง่าย อยู่ใกล้ ค่าใช้จ่ายน้อยและให้บริการไม่ต่างกับศูนย์ซุกซ่อนและฟอกเงินทั่วโลกซึ่งมีอยู่ถึง 50-60 แห่งตามรายงานของนิตยสารเดอะอีโคโนมิสต์ฉบับประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์

​ตามรายงานนั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังนำหน้าในด้านการเป็นแหล่งซุกเงินจากต่างแดนซึ่งรวมกันอยู่ในประเทศนั้นเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ สวิตเซอร์แลนด์มีประวัติอันยาวนานและเป็นที่นิยมของนักการเมืองฉ้อฉลในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนไปถึงสมัยพวกจอมพลเรืองอำนาจในเมืองไทยเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีเสถียรภาพของรัฐบาลและการมีกฎหมายสำหรับเก็บความลับทางการเงินที่เข้มข้นมาก

​เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอเมริกันกดดันรัฐบาลและธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชาวอเมริกันที่นำเงินไปซุกไว้ที่นั่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหและเงินที่นำไปฟอก รัฐบาลอเมริกันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ถึงกับจะทำให้สวิตเซอร์แลนด์เสียความเป็นผู้นำของแหล่งซุกซ่อนเงิน ทั้งนี้คงเพราะเงินที่ไปจากอเมริกาเป็นเพียงหลักหมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้นซึ่งนับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับเงินที่ไปจากประเทศอื่น

​รองลงมาได้แก่สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ซึ่งมีเงินจากต่างถิ่นรวมกันเป็นจำนวนเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ การที่สหราชอาณาจักรไม่น้อยหน้าสวิตเซอร์แลนด์มากนักนี่เองที่ทำให้นิตยสารเดอะอีโคโนมิสต์เสนอว่า ถ้าจะจัดการกับพวกมหาเศรษฐีที่ชอบเลี่ยงภาษีและพวกฟอกเงินไม่ต้องไปกดดันประเทศอื่น หากเปลี่ยนกฎหมายของตนเองให้ผู้อื่นเห็นเป็นตัวอย่างเสียก่อน นครลอนดอนเป็นแหล่งใหญ่ในระดับต้นๆ ของธุรกิจรับฝากและบริหารจัดการทรัพย์สินของชาวต่างประเทศ คงด้วยเหตุนี้ที่เศรษฐีและนักการเมืองไทยดูจะนิยมไปเที่ยวที่นั่นกันมาก

​ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์รวมกันมีทรัพย์สินที่ชาวต่างชาติฝากไว้ให้บริหารจัดกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งเท่าๆ กับจำนวนที่หมู่เกาะในทะเลคาริบเบียนและปานามารวมกัน ฮ่องกงนำหน้าในด้านการมีบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดคือ มีบริษัทจดทะเบียนเกินล้าน หรือหนึ่งบริษัทต่อประชากร 7 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าวัดกันในด้านนี้ แหล่งที่มีบริษัทจดทะเบียนต่อประชากรมากที่สุดได้แก่หมู่เกาะเวอร์จินของอังกฤษซึ่งอยู่ในทะเลคาริบเบียนและมีคนเพียง 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น แต่มีบริษัทจดทะเบียนเกือบ 5 แสนบริษัท อาจจำกันได้ว่านักการเมืองไทยบางคนซึ่งเป็นที่รู้กันว่าฉ้อฉลสุดๆ ไปจดทะเบียนบริษัทไว้ในหมู่เกาะเวอร์จินนี้ด้วย

​สิงคโปร์กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์เนื่องจากมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง มีประชากรที่มีการศึกษาและความเชี่ยวชาญทางด้านบริหารจัดการเงินสูงและมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้นำเงินไปฝากสูงมากเช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ ยิ่งกว่านั้น สิงคโปร์ยังตั้งอยู่ในศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวในอัตราสูงและมีมหาเศรษฐีเกิดใหม่จำนวนมากอีกด้วย ได้แก่ จีน อินเดียและอินโดนีเซีย

​ส่วนหมู่เกาะเคย์แมนในทะเลคาริบเบียนซึ่งมีประชากรกว่า 5 หมื่นคนเล็กน้อยเท่านั้นเป็นที่นิยมของบรรดากองทุนเพื่อเก็งกำไรมากที่สุด ข้อมูลบ่งว่า หมู่เกาะเหล่านั้นเป็นแหล่งจดทะเบียนของกองทุนเพื่อเก็งกำไรที่มีทรัพย์สินรวมกันถึง 38% ของกองทุนพวกเดียวกัน

​สหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะล้าหลังเพราะมีเงินจากต่างประเทศฝากไว้ในราวครึ่งหนึ่งของฮ่องกงและสิงคโปร์รวมกันเท่านั้น เงินก้อนใหญ่ไปจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกาซึ่งนิยมใช้เมืองไมอามีในรัฐฟลอริดาเป็นแหล่งฝากเงิน อย่างไรก็ดี อเมริกามีรัฐเล็กๆ ชื่อเดลาแวร์ซึ่งมีประชากรเพียง 9 แสนกว่าคน แต่มีบริษัทจดทะเบียนมากกว่าจำนวนคนเนื่องจากรัฐยกภาษีหลายอย่างให้แก่บริษัทเหล่านั้น เดลาแวร์เป็นที่นิยมของพวกกองทุนเพื่อเก็งกำไร กองทุนจำพวกนี้ที่ไปจดทะเบียนที่นั่นมีทรัพย์สินรวมกันราว 35% ของทั้งหมด หรือราว 10 เท่าของกองทุนเพื่อเก็งกำไรที่จดทะเบียนในรัฐอื่น 49 รัฐรวมกัน มหานครนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการเงินและอยู่ไม่ห่างจากรัฐเดลาแวร์นักแพ้รัฐนี้แบบเทียบไม่ติด

​ดังที่อ้างถึงแล้ว แม้อเมริกาจะพยายามกดดันสวิตเซอร์แลนด์ให้เปิดเผยชื่อของชาวอเมริกันที่นำเงินไปซุกซ่อนที่นั่น แต่รัฐบาลอเมริกันก็ประสบความสำเร็จเป็นบางส่วนเท่านั้น ตอนนี้มีอีกหลายประเทศที่พยายามสร้างความกดดันในแนวนั้น แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จไม่น่าจะมีมากนักเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขาดพลังทางการเมืองระหว่างประเทศ จำนวนเงินในระบบเศรษฐกิจโลกมีจำนวนมหาศาลซึ่งต้องการหาที่บริหารจัดการและลงทุน ประเทศต่างๆ ยังแข่งขันกันดูดเงินนั้นเข้าประเทศของตนส่งผลให้ตกลงกันไม่ได้ในด้านอัตราภาษีและความเข้มข้นในการควบคุมเงิน

​นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญยิ่งได้แก่ในบรรดามหาเศรษฐีมีคนโกงและคนเอาเปรียบสังคมปะปนอยู่จำนวนมากแม้กระทั่งในประเทศก้าวหน้าที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย คนเหล่านี้มีเครือข่ายในด้านการเมืองที่ตนสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เสมอ ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ซึ่งระบอบประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ความฉ้อฉลอยู่ในระดับสูง นักการเมืองและเศรษฐีของประเทศเหล่านี้นับวันจะมีเงินเพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังขยายตัวอยู่เรื่อยๆ แม้จะไม่สูงนักในบางประเทศก็ตาม คนเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องหาที่ฟอกทรัพย์สินที่ได้มา ยิ่งกว่านั้น ความฉ้อฉลประกอบกับการใช้นโยบายการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมมักส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นไม่เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนของตน คนมีเงินที่มีโอกาสและความสามารถมักจ้องจะขนเงินออกนอกประเทศ ผู้คนเหล่านี้คือลูกค้าชั้นดีของแหล่งบริหารจัดการและฟอกเงินต่างๆ ดังที่อ้างถึง

​ปัจจัยดังกล่าวเหล่านั้นน่าจะชี้บ่งว่า อนาคตของศูนย์ซุกซ่อนและฟอกเงินยังจะสดใสต่อไป นั่นหมายความว่า นักการเมืองไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าฉ้อฉลสูงมากจะยังนิยมเดินทางไปสิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ไม่ขาดแม้เราจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาไปฝาก ฟอกและใช้เงินที่ได้มาจากสินบนและความฉ้อฉลอื่นๆ ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น