ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ช่วงเวลานี้ประชาชนในกรุงเทพฯ คงจะได้ยินได้ฟังบรรดาผู้สมัครต่างเร่งทุ่มเทหาเสียงและเปิดนโยบายให้โดนใจคนกรุงหวังเพิ่มคะแนนนิยมต่อตัวเอง ครอบคลุมไปทุกด้าน ยกตัวอย่าง ด้านการแก้ปัญหาจราจร เช่นเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า ลดค่าโดยสาร BTS ให้บริการรถเมล์ปรับอากาศฟรี เรือฟรี เพิ่มป้ายบอกทาง ขนส่งมวลชน 24 ชั่วโมง หรือจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสวนสาธารณะ รณรงค์ให้ปลุกต้นไม้ เพิ่มเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ สร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่ม หรือจะเป็นด้านการแก้ปัญหาความปลอดภัย ที่จะติดกล้องวงจรปิดเพิ่มใน กทม.ทุกเขต ยกระดับศูนย์อนามัยชุมชน จัดตั้งอาสาสมัครป้องกันภัย หรือจะเป็นการแก้ปัญหาหาบแร่ แผงลอยบนทางเท้า ที่ยังคงเป็นปัญหาของ กทม.มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็ล้วนอยู่ในนโยบายของผู้สมัครทุกคนที่ล้วนงัดกลยุทธ์เหล่านี้มาเพื่อมัดใจคน กทม.
ขณะเดียวกัน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ นโยบายต่างๆ ที่บรรดาผู้สมัครงัดออกมามัดใจคนกรุงนั้นจะสามารถทำได้จริงหรือไม่
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงนโยบายในด้านต่างๆของผู้สมัครแต่ละคนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร หรือเป็นเพียงแค่นโยบายขายฝันเพียงเท่านั้นและนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจากผู้สมัครแต่ละคนเสนอมาแก้ปัญหานั้นได้เดินมาถูกทางหรือไม่อย่างไร
นโยบายประชานิยมที่ออกมาจะช่วยแก้ไขปัญหา กทม.ได้ถูกทางหรือไม่
เท่าที่เห็นมีนโยบายพวกลดค่าโดยสารในหลายประเภท แต่คำถามสำคัญก็คือจะเอาเงินจากไหนมาชดเชยตรงนี้ ตอนนี้มันก็เป็นรูปแบบของสัญญาปากเปล่าว่าจะลดอย่างนั้นอย่างนี้ให้ แต่ที่ออกมาประกาศกันไม่เคยบอกว่าค่าโดยสารขนส่งมวลชนต่างที่จะลดให้จะไปหาจากไหนมาชดเชย มันทำได้บางวิธีเช่น จะให้เช่าที่ดิน สมมุติว่าคุณเป็นผู้ดูแลระบบขนส่งมวลชนอะไรเสียอย่างหนึ่ง ให้ตามรอบๆสถานีจะพัฒนามาชดเชยเงินที่เสียไปจากการลดค่าโดยสาร คือมันต้องมีเหตุมีผลซึ่งการที่พูดหาเสียงประกาศลอยๆออกมา ไปบังคับให้เขาขาดทุนหรือ ซึ่งมันต้องมีการคิดคำนวณอะไรต่างๆ
ขณะนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดพูดถึงจุดนี้
ไม่เคยได้ยินสักคนที่บอกว่าจะหาเงินจากไหนมาชดเชยส่วนที่ไปลดค่าโดยสาร จะว่าไปตามความเป็นจริงตามการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐก็ไม่มีระบบขนส่งอะไรจะได้กำไรมากอยู่แล้ว มีแต่ขาดทุนด้วยซ้ำ แล้วจะปล่อยให้เจ๊งเหมือน ขสมก.หรืออย่างไร พูดง่ายๆคือถ้าลดอย่างที่ประกาศ ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเป็น 10 บาท และรถบีอาร์ที 5 บาท แน่นอนว่าเจ๊ง ตัวเลขแค่ 30,000 คนที่ขึ้นต่อวัน แล้วจะไปเอากำไรที่ไหน เอาแค่ค่าแรงพนักงานทั้งหมดยังไม่พอเลย
ปัญหาดูเหมือนจะตามมาจากการใช้ประชานิยมหาเสียง
มันต้องมีเหตุมีผลบอกได้ไงครับว่าไปเอาเงินจากไหนมา ถ้าไม่มีบอกก็เหมือนแจกฟรี ผมยกตัวอย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ใครล่ะที่รับภาระก็หนีไม่พ้นโรงพยาบาล สุดท้ายก็โรงพยาบาลก็เจ๊ง
นโยบายที่บอกจะลดหนี้ให้คน กทม.มองว่าเป็นอย่างไร
ปัญหาของคนที่ไปกู้นอกระบบก็คือไม่สามารถไปกู้ในระบบได้ บางคนที่กู้ยอมเสียดอกแพงเพราะไม่สามารถกู้ในระบบได้ ก็ต้องแยกแยะดูว่าเพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่มีเครดิต ไม่มีหลักมีฐานที่จะกู้ได้ หรืออย่างรัฐบาลก็มี SME แบงก์ ที่จะช่วยปล่อยกู้ตรงจุดนี้ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ การมาพูดเรื่องปล่อยกู้ ลดหนี้ มันไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.(หัวเราะ) ซึ่งหลักการของผู้ว่า กทม.คือการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา กรุงเทพฯ ไม่ใช่ไปนั่งประกาศหาเงินให้ประชาชน ตำแหน่งผู้ว่ากทม.คือคนที่เข้ามาบริหารจัดการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าแยกให้ดีก็จะมีบางอย่างที่อยู่ในหน้าที่ของผู้ว่า กทม. และไม่ได้อยู่ในหน้าที่ที่จะไปทำได้ ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับการเงิน ค่าครองชีพมันไม่ใช่หน้าที่ งานหลักของผู้ว่าฯ กทม.คือเอางบของ กทม.มาบริหารจัดการให้มันมีประสิทธิภาพในขั้นพื้นฐานเพื่อการพัฒนา
นโยบายขายฝันเหมือนแค่วิธีการหาเสียงอย่างหนึ่งหรือไม่
คงเป็นอย่างนั้นแหละครับ อาจได้ยินคำพูดเดิมๆ อย่างเช่น ทำไม่ได้กฎหมายไม่เอื้ออำนวย ผมเชื่อว่านักการเมืองคือ นักการตลาดเขาทำทุกอย่างที่ประชาชนจะเลือกเขา ซึ่งเขาได้ศึกษามาแล้วว่าถ้าทำแบบนี้ ประกาศแบบนี้ประชาชนจะเลือกเขา จะได้คะแนนเสียงมาก มันก็เห็นภาพสะท้อนอีกอย่างว่า เขาเป็นดังนี้ก็เพราะประชาชนเป็นอย่างนี้ สมมุติว่ามีผู้สมัครคนหนึ่งบอกว่า อย่าถามว่ากรุงเทพฯจะทำอะไรให้ท่าน ให้ถามว่าท่านจะทำอะไรให้กรุงเทพฯ ถ้าพูดแบบนี้จะชนะเลือกตั้งไหมล่ะ ตอนนี้ผู้สมัครทุกคนบอกว่าจะมารับใช้พี่น้องกทม. ไม่ต้องทำอะไรผมทำให้ เพราะฉะนั้นจนทำให้ประชาชนไม่ทำอะไรไปด้วย ประชาชนควรจะรู้ว่าถ้าอยากได้เมืองที่น่าอยู่ เมืองดีคุณจะต้องทำ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็ได้แค่นี้เหมือนเดิม ต้องก้มหน้ารับไป ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าทุกอย่างมันมีต้นทุน แต่ก็ยังไปเลือกคนที่เขาบอกว่าคุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลย จิตใต้สำนึกก็รู้ แต่ในเมื่อประชาชนไม่จ่ายอะไรก็ต้องเลือกสภาพนี้ไป
ปัญหาเรื่องทางเท้า แต่ละคนที่ประกาศแก้ปัญหามาถูกทางบ้างหรือยัง
ถ้าพูดถึงระบบจราจรทั้งหมด ที่ทางกทม. ต้องรับบทฝ่ายเดียวคือทางเท้า ทางถนน กทม.ทำได้แค่เพียงขีดสีตีเส้น จะให้กทม.ไปจับคนขับรถทำไม่ได้ ต้องให้ตำรวจทำ ระบบถนนก็มีทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฉะนั้นที่จะต้องพูดถึงคือทางเท้า ถามว่าทางเท้าทางกทม.จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ผู้ว่าฯกทม.ในอดีตไม่ว่ากี่คนๆ ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้แต่บริเวณหน้าศาลาว่าการ กทม. หน้าที่ทำงานท่านแท้ๆ ยังไม่จัดการได้เลย ยังมีหาบเร่แผงลอยกันเต็มไปหมด หน้าออฟฟิศตัวเแท้ๆยังจัดการไม่ได้ จะไปทำอะไรที่อื่นได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ทางเท้าจริงๆแล้วมันคือ ที่ที่จะทำให้คนในพื้นที่เคลื่อนที่อย่างมีร่มเงา เคลื่อนที่อย่างสะดวก ให้จักรยานขึ้นไปอยู่บนนั้นได้ด้วย แต่ไม่ว่าใครก็ทำอะไรไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะไปติดหล่มฐานเสียงตัวเอง ไม่กล้าทำ ทำก็เพียงแค่ลูบหน้าปะจมูก ที่โดนบุกรุกพื้นที่เริ่มมาจากมันเริ่มมาจากตึกแถวที่อยู่ข้างๆ ตึกแถวก็ไปเก็บค่าเช่าจากแผงลอยได้ ก็ฐานเสียงทั้งนั้น คนพวกนี้ก็คือคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ จะทำอะไรก็ไม่กล้าทำกับเขา
ผมพูดอยู่เสมอว่าสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.จะทำเบอร์ถนนซอยบวกกับพื้นที่ทางเท้า ปัญหาจราจรของคนกทม.คือเจอปัญหาเรามีกรอบของพื้นที่ถนนใหญ่กว่าพื้นที่ใช้สอยใหญ่เกินกว่ามาตรฐาน ผลก็คือเรามีถนนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มหานครอื่นมี 25 เปอร์เซ็นต์ พอมีน้อยแล้วประกอบกับบล็อกแต่ละบล็อกของเราก็ใหญ่ บล็อกปกติก็คือคนที่บ้านอยู่ตรงกลางบล็อกพอดี ต้องเดินจากบ้านจะซ้ายหรือขวาก็ตามโดยไม่เหนื่อย คืออย่างแรก ระยะเดินเท้ามาถึงปากซอยที่มีป้ายรถเมล์ แต่ของกทม.มันใหญ่เกินกว่าที่จะเดินได้ มันเกินกว่า 400-800 เมตร ตรงนี้ทำให้คนที่อยู่ในซอยจะออกมาขึ้นรถเมล์แล้วขึ้นไม่ได้ เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ เสียเงินทีเกือบ 20บาท รวมๆทั้งวัน 60-80บาท คำถามคือทำอย่างไรให้คนออกมาปากซอยได้ คำตอบคือจักรยาน ขี่ในซอยได้ ถนนเรียบๆ คนเดินทางเท้าก็เดินได้ พอมาถึงปากซอยก็ขี่บนทางเท้าไปถึงป้ายรถเมล์ สำหรับนโยบายเพิ่มจักรยานอีก 1 หมื่นคันยิ่งแก้ปัญหาอย่างไม่เข้าใจ เพราะคน กทม. ไม่ได้ขาดแคลนจักรยาน สามารถหาซื้อมาใช้ได้ แต่คน กทม.ขาดแคลนทางจักรยานและทางเท้าที่มีคุณภาพ
ฉะนั้นถ้าทำทางเท้าให้เรียบร้อย ไม่มีการก้าวขึ้นลงเพราะโดยหลักการแล้ว รถที่จะเข้าสู่อาคารพื้นต้องยกระดับให้เสมอทางเท้า คนพิการก็ใช้ได้ คนปกติก็เดินสะดวกขึ้น ทางเท้าที่ต้องดูแลอีกก็คือต้องมีกันสาดไม่ใช่เดินแล้วมีแอร์หยดใส่หัว น้ำฝนจากท่อหล่นใส่ ถ้าทำให้มันดีก็จะได้ทางเท้าที่ดี ให้คน เคลื่อนที่ระยะสั้นได้สะดวกขึ้น ทำให้คนลดการพึ่งหารถยนต์ลง เรื่องนี้ได้ยินจากคนเดียวคือคุณสุหฤท สยามวาลา แต่ว่าไม่หวังว่าเขาจะชนะ เพราะยังไม่เข้าใจระบบการจัดการของกทม. ต่อให้ได้คะแนนหรือชนะมากเท่าไหร่ก็ตามก็ยังต้องเจอกับระบบ สก.และสข.ของพรรคการเมือง ต้องผ่านสภาของกทม. แนวทางของผู้สมัครทุกคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.คือนำพากทม.ไปข้างหน้า แล้วทิศทางที่จะพัฒนามีอุปสรรคอะไร แต่เรายังไม่รู้เลยว่ากทม.ในวาระของท่าน 4ปี จะเป็นอย่างไรในเชิงของรูปธรรม
ทางเท้าหลายคนบอกว่าเป็นปัญหาคุณต้องรู้ว่าทางเท้าใครเดินบ้าง มันแคบไปหรือเปล่า ทางเท้านี่มันเรียบสนิท เรียบสนิทพอหรือยัง หนาแน่นขนาดเดินหน้ากระดาน 5-6 คน คุณต้องวางแผนแล้วว่าจะทำอย่างไรกับทางเท้านี้ต่อ ตอนนี้ได้ยินแต่ว่าทางเท้าเรียบร้อยทุกอย่าง อย่างดีก็แค่แก้หลุมแก้บ่อถามว่าต่อไปทางเท้าจะมีคนใช้กี่คนซึ่งมันมากขึ้น การแก้ผังเมืองก็เป็นการแก้ปัญหาปลายน้ำทั้งหมด ใครบอกแก้ผังเมืองก็ผิดตั้งแต่แรกเหมือนกัน รัฐบาลและกทม.ต้องไปช่วยกันดูแล้วว่าต่อไปอีก 20 ปีในอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วก็ค่อยมาบอกนักผังเมืองว่าจะให้ช่วยอะไรบ้าง ว่ากทม.จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางผังเมืองมาช่วยดูจุดนี้ให้หน่อย คือคุณต้องไปเตรียมแผนมาก่อนแล้วค่อยมาทำผัง ไม่งั้นมันก็ทำไม่ได้ ตอนนี้ทุกคนพูดแต่ผังเมือง คุณต้องบอกก่อนว่าคุณจะทำอะไรมีแผนอะไร ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.จึงควรทวงคืนทางเท้า แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยให้หมด หากทำได้ก็จะมีทางเท้าหรือทางจักรยานเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อทั้งสองพรรคส่งสัญญาณว่ายังจะคงหาบเร่แผงลอยเอาไว้ต่อไป
นโยบายสิ่งแวดล้อมหรือขยะมาถูกทางกันบ้างหรือยัง
หลักการของการจัดการระบบขยะมูลฝอย สุดยอดของมันคือการไม่ก่อให้เกิดขยะ แต่ถ้าเกิดแล้วจะบริการจัดการอย่างไร งานหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆแล้ว ไฟฟ้า ประปาทำไม่ได้ แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง กทม.จะทำได้คือการจัดการน้ำเสียที่ออกจากบ้านเรือน กับเรื่องของขยะมูลฝอย คำถามที่สำคัญก็คือขยะมูลฝอยมีมากน้อยแค่ไหน มีสัดส่วนเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบคือไม่มีใครรู้ ยอดมีคนพอพูดอยู่บ้างแต่ในส่วนของสัดส่วนไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่างเช่น ขยะจากบ้านเรือนพวกเศษอาหาร เศษขยะมากน้อยแค่ไหน เพราะตรงนี้คือการบริหารจัดการว่า จะไปรียูท หรือรีไซเคิลอย่างไร ถ้าไม่รู้สัดส่วนของขยะทำไม่ได้ เช่นคุณรู้ตัวเลขขยะมูลฝอยว่ามีแค่นี้ คุณก็ต้องไปหาหมูกินต้องทำอย่างไร ขยะกระดาษจำนวนเท่านี้จะจัดการอย่างไร วิธีแรกที่ต้องรู้คือสัดส่วนขยะ สองคือขยะแต่ละประเภทต้องเก็บให้ได้ภายในกี่วัน ที่เป็นเศษอาหารเน่าเสียภายใน 2วัน ถ้าเป็นกระดาษ 4 วันเก็บ ถ้าเป็นเหล็กอาทิตย์หนึ่งเก็บที ถ้ารู้ตรงนี้นะ รถขยะคันหนึ่งใช้ได้คุ้มเลย ก็ดูตามวันเอาวันไหนไม่เก็บขยะนำไปเก็บกระดาษ แทนที่จะต้องเก็บเศษอาหารทุกวัน สลับไปเก็บแก้ว โลหะ จัดการง่ายๆ ต้องมีการจัดการคือติดตารางว่าวันไหนจะทำอะไร จะไปที่ไหน ซึ่งรถขยะคันเดียวมันเก็บได้ทุกอย่าง ผมก็ยังไม่เห็นผู้สมัครคนไหนเข้าใจหลักการของขยะ สมมุติโรงงานคุณทำกล่องกระดาษ ขยะกระดาษเป็นตันต่อวัน ก็ต้องคิดว่าจะนำวัตถุดิบตรงนี้ไปใช้ต่อกับโรงงานอื่นได้อย่างไร ขยะแต่ละอย่างก็ต้องพูดแยกเป็นประเภท ขยะบ้านเรือน ขยะอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ ขยะมีพิษก่อให้เกิดมลพิษตัวหลักเลย อย่างหลังสุดไม่เห็นมีใครพูดเลยว่าจะทำอย่างไร
นโยบายความปลอดภัยมาถูกทางบ้างหรือยัง
ถ้าพูดตามหลักการจะเห็นว่า เมืองนอกในหลายประเทศจะมีผู้รักษาความปลอดภัย 2ประเภทคือของท้องถิ่นและระดับประเทศ ในหนังฝรั่งที่เราเห็นกันบ่อยๆ จะมีนายอำเภอของแต่ละรัฐ และก็จะมีส่วนกลางที่ใหญ่กว่าเช่น CIA และ FBI ซึ่งตำรวจที่อยู่ในท้องถิ่นจะทราบเป็นอย่างดีกว่าว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยงภัย คนไหนที่ต้องระวังมีประวัติไม่ดีอยู่ ซึ่งต่างจากบ้านเรา หรือจะเป็นการออกแบบบ้านก็ผิดกัน บ้านส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาต้องมีมาตรฐานเลยว่าบ้านต้องเป็นรั่วโปร่ง เพราะเกิดอะไรขึ้นภายในไม่มีใครข้างนอกเห็น ผิดกลับบ้านเรากลัวคนเห็นของในบ้าน โดยหลักการแล้วเมืองจะปลอดภัย เพราะมีตาโจรจะไม่กล้าทำอะไรเท่านั้นเอง
เรื่องของการป้องกันอาชญากรรม บ้านเรามีการติดกล้อง cctv ตามหลักการคือทำให้คนรู้ว่ามีคนมองอยู่ คำถามคือกล้องโดยหลักการให้คนกลัวไม่กล้าก่อเหตุโดยคนที่นั่งดูกล้องดูคนเดียวได้ทีละ 8 กล้อง คิดว่ากล้อง 24,000 ตัวจะใช้กี่คนและที่สำคัญก็แค่บันทึกไว้เฉยๆไม่ว่ากล้องจะมากกว่านี้ก็ไปช่วยผู้ประสบเหตุไม่ทันการณ์ กล้องไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่สามารถเอาคนกว่า 3000 คน มามอนิเตอร์ได้ วิธีของเราคือทำยังไงไม่ให้มีจุดเปลี่ยว ติดไฟให้สว่าง แต่ที่น่าตลกก็คือคนที่ขับรถบนถนน ลองสังเกตดูว่าไฟที่ติดตามถนนหนทางมันมืด ไฟไม่ได้น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มันมืดเพราะว่าตำแหน่งเสาไฟกับต้นไม้มันตรงกันเกินไป มันอยู่ตำแหน่งเดียวกัน
นอกจากนี้ความปลอดภัย ในมาตรการดับเพลิง ยกตัวอย่างดับเพลิงที่ต่างประเทศ มาตรฐานดับเพลิงต้องถึงที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งใช้เวลา 8 นาทีครึ่ง คำถามคือจะไปทันไหม ประเทศอื่นรถติดไม่น้อยกว่าเรา แต่ยังสามารถไปทัน เขาวางแผนไว้หมดว่าจะใช้วิธีเลนพิเศษ เหมือนรถบีอาร์ที แต่วิ่งในส่วนสำหรับรถดับเพลิงขนส่งคนป่วยโดยเฉพาะถึงไปจุดหมายปลายทางได้ทัน ไม่ว่ารถจะติดแค่ไหนก็ตามเลนรถพิเศษอันนี้จะถูกรักษาเอาไว้ แต่กทม.ไม่เคยคิดตรงนั้น
เท่าที่อธิบายในแต่ละนโยบายดูจะไปผิดทาง
มาถึงตรงนี้ประชาชนต้องเรียกร้องให้ผู้สมัครหาเสียงในเชิงรูปธรรม คุณต้องบอกว่าเมืองนี้มันจะเป็นอย่างไรในอีกกี่ปีต่อจากนี้ มาบอกอยู่ดีมีสุขมันแบบไหนละ มีคนบอกว่าอยากได้ขนส่งมวลชนแบบประเทศอื่น เราจ่ายแค่นี้แต่จะให้เป็นแบบประเทศอื่นเราทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเก็บแพงนะ เราจะต้องพัฒนาที่ดินถ้าเราจะสร้างรถไฟฟ้า สิ่งใดที่จะมาสร้างติดกับรถไฟฟ้าก็ต้องเก็บเงินเขา มาชดเชยตัวระบบ ไม่ใช่ลงทุนไป 4-5 แสนล้าน แต่ไม่ไปเก็บอะไรคืนเลย ไม่ได้บอกให้เก็บค่าตั๋วแพง แต่ต้องไปเก็บค่าพัฒนาที่ดินตลอดแนว มาชดเชย แล้วคุณจะได้เงินนี้ไปพัฒนาระบบ ไม่ใช่ปล่อยผีใบอนุญาตคอนโดมิเนียม ให้สร้างกันทุกตรอกซอกซอย ใครได้ประโยชน์ค่าใบอนุญาตหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ซอย 5 เมตร 6 เมตร ก็ขึ้นคอนโดฯสูงได้ทั้งที่ผิดกฎหมาย ทำให้สภาพแวดล้อมกรุงเทพฯแย่ลงไปเรื่อยๆ การจราจรติดขัดทุกซอย การเป็นผู้บริการเมืองมันคือการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ตอนนี้เราเป็นมหานครที่ต้องแข่งขันกับมหานครอื่นทั่วโลก ต้องคิดตรงจุดนี้ด้วยในเชิงเศรษฐกิจในอนาคต
ฝากอะไรไปถึงคนกทม.ที่จะออกมาเลือกตั้ง
ชอบนโยบายของใครเลือกคนนั้น สำหรับส่วนตัวกาช่องไม่เลือกใครทุกครั้ง จุดประสงค์แค่อยากบอกว่าถ้าคุณห่วยผมไม่เอา เพื่อส่งสัญญาณให้แต่ละคนปรับปรุงตัว คราวต่อไปให้พวกนี้จะได้หมดไปเรื่อย คราวหน้าคุณจะได้คนดีจะได้มีคนดีมาเสนอตัว