xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คไม่ปรองดองแดง เมินไกล่เกลี่ย"ตู่"หมิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยื่นฟ้องตนในคดีอาญาเกี่ยวกับการปฏิบัติ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ว่า ที่ผ่านมาคดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอยู่ 64 คดี 295 คน ทุกคนก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการ ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เพิ่งเริ่มดำเนินคดี อาจทำให้ทั้งคู่รับไม่ได้ จึงมาเล่นงานคนดำเนินคดี ซึ่งเราก็น้อมรับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสังเกตว่าขณะนี้ ดีเอสไอ เร่งทำคดีในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างผิดปกติ นายธาริต กล่าวว่า ก็เป็นไปตามกระบวนการ เพราะอย่างกรณีการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทั่วประเทศนั้นก็พบว่ามีการทิ้งร้างอยู่ 396 จาก 473 หลัง และเมื่อตรวจสอบก็พบว่า มีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองเข้าไปเปลี่ยนแปลงสัญญาอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่
" เราไม่ได้ไปแกล้ง หรือไปสร้างเรื่อง เพราะเหตุก็มาจากพฤติกรรมของนักการเมืองเอง ซึ่งเราก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าฝ่ายไหน เสื้อแดงก็ดำเนินคดี รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นจำเลยอยู่ในศาล จะติดคุกเมื่อไร ก็ไม่รู้ สรุปแล้วก็คงไม่มีใครชอบดีเอสไอ" นายธาริต กล่าว
เมื่อถามถึงความพยายามในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ควรจะมี เพราะเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเป็นอาชญากรตัวจริง เป็นเรื่องความขัดแย้งที่กระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ฉะนั้นหลักการควรจะให้มีการนิรโทษกรรมให้เกิดการให้อภัยกัน แต่จะครอบคลุมถึงใครบ้าง ทั้งคนสั่งการ แกนนำ หรือฮาร์ดคอร์ ที่มีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียด
ส่วนจะออกในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น กฎหมายระบุไว้ว่า หากอยู่ในสมัยประชุมสภา ต้องออกเป็น พ.ร.บ. แต่หากปิดสมัยประชุมจะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ทำได้ ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น คงให้ความเห็นไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของข้าราชการประจำ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติต้องไปพิจารณา
"หากดูตามกฎหมาย กรณีจะออกเป็นพระราชกำหนดได้ ต้องเป็นเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งด่วน ต้องทำเป็นความลับ ซึ่งมุมมองของผมเห็นว่า ในขณะที่มีฝ่ายการเมือง และฝ่ายนิติบัญญติ ก็ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ผ่านสภาให้ถูกต้อง ทุกฝ่ายจะได้สบายใจ" นายธาริต ระบุ
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายธาริต มองว่า ในสังคมประชาธิปไตย ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ภายใต้กรอบที่ถูกต้อง และคงไม่เป็นชนวนความขัดแย้ง เพราะเราได้บทเรียนอันหนักหน่วงแล้ว จากความขัดแย้ง ก็คงมีความระมัดระวังที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ทั้งความขัดแย้งทางความคิด หรือความเห็นที่แตกต่าง ถือเป็นสีสันของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ อีกทั้งระดับแกนนำของกลุ่มต่างๆ ก็ได้บทเรียนมาแล้ว คงไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก

**นิรโทษ"แม้ว"อย่าหวังปรองดอง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพยายามสร้างความปรองดองในประเทศ ว่า หากรัฐบาลยังคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับการนิรโทษกรรม ก็จะไม่มีทางเกิดความปรองดองได้ ฉะนั้น เราจะต้องหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และที่สำคัญต้องกำหนดเฉพาะเลยว่า ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จะต้องเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุนเฉินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินภาพรวมของรัฐบาลแล้ว คิดว่าเรื่องการปรองดองยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ต้องดูว่านายกรัฐมนตรี จะเห็นแก่ชาวบ้าน หรือพี่ชาย หากเห็นแก่ชาวบ้านก็แก้ตรงนี้ก็จบ

** ลั่นไม่ไกล่เกลี่ยคดี"ตู่"หมิ่นประมาท

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า จะยอมไกลเกลี่ยกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ในคดีหมิ่นประมาทว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลได้นัดสืบทางฝ่ายจำเลย คือนายจตุพรโดยตนได้มอบหมายให้ทนายไปดำเนินการ โดยศาลได้ยกประเด็นไกล่เกลี่ยขึ้นมา เพราะเป็นนโยบายของศาลว่า คดีไหนไกล่เกลี่ยได้ ให้ไกล่เกลี่ย ซึ่งตนได้มอบหมายทหายไปแจ้งว่า ต้องการให้นายจตุพร ยอมรับว่าสิ่งที่พูดกล่าวหาหมิ่นประมาทตนนั้น เป็นเท็จ พร้อมประกาศข้อเท็จจริงในหน้าหนังสือพิมพ์ และต้องมีการผูกมัดว่า จะไม่มีการทำเช่นนี้อีก
ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะไกล่เกลี่ยหรือไม่นั้น เป็นสิทธิ์ของตน แต่เมื่อศาลขอมาอย่างนี้ ตนก็ให้ทนายไปตอบอย่างนี้ ส่วนนายจตุพรนั้นเข้าใจว่า มาเสนอว่าจะขอถอนคำพูด แต่่ทนายตนได้ปฏิเสธ ทางศาลจึงนัดสืบพยานครั้งต่อไป ในเดือนมีนาคม โดยขอให้ตนไปด้วยตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นการตกลงกัน หรือเปลี่ยนจุดยืนและเป็นสิทธิ์ของตนว่า จะตัดสินใจอย่างไร แต่ก็ต้องเคารพศาลด้วย
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของตนนั้น ขอยืนยันว่า คำสั่งที่อ้างว่าตนขาดคุณสมบัติเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย และได้ดำเนินการฟ้องศาลปกครองไปแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ยังไงก็ต้องไปจบที่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่กังวลในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น