xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริต” ปัดเร่งฟันคดี ปชป. แนะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (แฟ้มภาพ)
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่หวั่นถูก “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ฟ้องกลับ ปัดเร่งฟันคดีประชาธิปัตย์ ชี้เหตุมาจากพฤติกรรมนักการเมือง หนุนนิรโทษกรรม แนะออก พ.ร.บ.ผ่านสภา อ้างแดงก่อม็อบโวยเป็นสีสัน

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยื่นฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบว่า ที่ผ่านมาคดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอยู่ 64 คดี 295 คน ทุกคนก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการ ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เพิ่งเริ่มดำเนินคดี อาจทำให้ทั้งคู่รับไม่ได้ จึงมาเล่นงานคนดำเนินคดี ซึ่งเราก็น้อมรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสังเกตว่าขณะนี้ดีเอสไอเร่งทำคดีในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างผิดปกติ นายธาริตกล่าวว่า ก็เป็นไปตามกระบวนการ เพราะอย่างกรณีการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคาร ที่ทำการสถานีตำรวจทั่วประเทศนั้น ก็พบว่ามีการทิ้งร้างอยู่ 396 จาก 473 หลัง และเมื่อตรวจสอบก็พบว่ามีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองเข้าไปเปลี่ยนแปลงสัญญาอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่

“เราไม่ได้ไปแกล้ง หรือไปสร้างเรื่อง เพราะเหตุก็มาจากพฤติกรรมของนักการเมืองเอง ซึ่งเราก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าฝ่ายไหน เสื้อแดงก็ดำเนินคดี รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นจำเลยอยู่ในศาล จะติดคุกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สรุปแล้วก็คงไม่มีใครชอบดีเอสไอ” นายธาริตกล่าว

เมื่อถามถึงความพยายามในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ตนเคยแสดงความเห็นไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ควรจะมี เพราะเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเป็นอาชญากรตัวจริง เป็นเรื่องความขัดแย้งที่กระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ฉะนั้นหลักการควรจะให้มีการนิรโทษกรรมให้เกิดการให้อภัยกัน แต่จะครอบคลุมถึงใครบ้าง ทั้งคนสั่งการ แกนนำ หรือฮาร์ดคอร์ที่มีพฤติกรรมรุนแรงหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียด ส่วนจะออกในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้นกฎหมายระบุไว้ว่า หากอยู่ในสมัยประชุมสภาต้องออกเป็น พ.ร.บ. แต่หากปิดสมัยประชุมจะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ทำได้ ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น คงให้ความเห็นไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของข้าราชการประจำ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติต้องไปพิจารณา

“หากดูตามกฎหมาย กรณีจะออกเป็นพระราชกำหนดได้ ต้องเป็นเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งด่วน ต้องทำเป็นความลับ ซึ่งมุมมองของผมเห็นว่าในขณะที่มีฝ่ายการเมืองและฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรออกเป็นพระราชบัญญัติผ่านสภาฯ ให้ถูกต้อง ทุกฝ่ายจะได้สบายใจ” นายธาริตระบุ

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายธาริตมองว่า ในสังคมประชาธิปไตยทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ภายใต้กรอบที่ถูกต้อง และคงไม่เป็นชนวนความขัดแย้ง เพราะเราได้บทเรียนอันหนักหน่วงแล้วจากความขัดแย้ง ก็คงมีความระมัดระวังที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ทั้งความขัดแย้งทางความคิด หรือความเห็นที่แตกต่าง ถือเป็นสีสันของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ อีกทั้งระดับแกนนำของกลุ่มต่างๆ ก็ได้บทเรียนมาแล้ว คงไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น