xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งมิใช่งั่งทุกคน แต่เราอาจก้าวหน้ากว่าเขาได้

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เมืองฝรั่งในทางตะวันตกประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะได้ด้านเศรษฐกิจจนทำให้คนไทยหลากหลายคนออกมาพูดว่าต้นตอของปัญหามาจากความงั่งของพวกฝรั่งเอง การสรุปเช่นนั้นอาจรวบรัดเกินไปและคนไทยก็มิได้ฉลาดทุกคน แต่ก็ยังอาจก้าวหน้ากว่าฝรั่งได้ มาดูกันว่าเพราะอะไร

ในประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหนักๆ มักเกิดข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตออกมารวมทั้งในเมืองไทยด้วย เช่น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อกลางปี 2540 ในหลวงทรงเสนอให้ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออก แนวคิดนี้มีความกว้างและลุ่มลึกกว่าเรื่องเศรษฐกิจทั่วไปและเป็นทางออกที่เหมาะสมเนื่องจากสังคมไทยมีปัญหามากกว่าทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ด้านศีลธรรมจรรยาก็มีปัญหาร้ายแรงเช่นกัน ฉะนั้น ทางออกต้องครอบคลุมหลายด้าน แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจที่จะทำความเข้าใจว่าพระองค์ทรงเสนออะไรในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลจากวันนั้นจนกระทั่งวันนี้ก็ดีแต่ปาก ต่างพูดซ้ำซากว่าจะนำมาใช้เป็นแนวบริหารจัดการประเทศ แต่ไม่เคยทำ ณ วันนี้มีรายละเอียดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากมายซึ่งอาจหาอ่านได้ทั่วไปแล้วจึงจะไม่นำมาเสนอในที่นี้อีก

หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจล่าสุดในสังคมตะวันตกซึ่งเริ่มเมื่อปี 2551 ฝรั่งพยายามหาทางแก้ไขและได้ข้อเสนอหลายอย่างตามมา ข้อเสนอที่น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงเป้าที่สุดได้แก่ของปราชญ์สองพ่อลูกชาวอังกฤษ Robert และ Edward Skidelsky ซึ่งเขียนหนังสือออกมาชื่อ How Much Is Enough? Money and the Good Life

อนึ่ง เราทราบกันดีแล้วว่าโดยทั่วไป สังคมตะวันตกยึดความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ในเอกสารประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจึงจารึกคำว่า “การแสวงหาความสุข” เป็นเป้าหมายหนึ่งของเขา ส่วนสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขคือการบริโภคซึ่งหมายถึงการใช้สินค้าและบริการทุกอย่าง มิจำกัดอยู่ที่อะไรที่ใส่เข้าไปในปากและกลืนลงท้องเท่านั้น ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งสุขมาก ความเชื่อนั้นคือตัวขับเคลื่อนพื้นฐานที่ทำให้ฝรั่งต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นหน้าหนึ่งและหน้าสองของเหรียญเดียวกัน มันเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างรวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจล่าสุดในสังคมตะวันตกด้วย

ปราชญ์สองคนพ่อลูกนั้นเสนอทางออกว่า ต่อไปเราจะต้องไม่ใช้การแสวงหาความสุขโดยการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเป้าหมายของชีวิต ทั้งนี้เพราะความสุขวัดได้ยากมากและปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขก็มิได้มาจากการบริโภคอย่างเดียว หากมาจากปัจจัยอีกหลายอย่าง ฉะนั้น เขาเสนอให้เปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตจากการแสวงหาความสุขไปเป็น “การมีชีวิตที่ดี” ซึ่งเขาสรุปว่ามาจากการมีปัจจัย 7 อย่างด้วยกัน นั่นคือ

สุขภาพดีซึ่งหมายถึงมีร่างกายที่ทำงานได้ตามปกติในช่วงที่มีชีวิตอยู่ตามอายุไข การจะมีร่างกายที่ดีได้ย่อมหมายถึงมีสิ่งจำเป็นต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอแต่ไม่ฟุ่มเฟือยรวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดการเจ็บป่วย แต่ไม่รวมถึงความพยายามที่จะมีชีวิตแบบผิดไปมากจากกฎของธรรมชาติซึ่งจะนำไปสู่การใช้จ่ายแบบไม่มีทางเพียงพอ เช่น ความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยใช้เครื่องช่วยชีวิตต่างๆ อย่างต่อเนื่องรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนิทราอย่างถาวร และความพยายามทำศัลยกรรมตกแต่งที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการทำงานตามปกติของร่างกายแต่อย่างใด

ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต โดยปราศจากการรบกวนของอาชญากรรม สงคราม หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบเฉียบพลันทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

การได้รับความเคารพ หรือการมีศักดิ์ศรี เกี่ยวกับด้านนี้การเป็นทาสอาจเป็นการสูญเสียศักดิ์ศรีที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์เรา แต่เนื่องจากในสมัยนี้ สังคมต่างๆ ไม่มีระบบทาสเหลืออยู่อีกแล้ว ด้านนี้จึงมุ่งไปที่ความเหลื่อมล้ำซึ่งจะต้องไม่มีมากจนทำให้กลุ่มชนแบ่งแยกแบบเชื่อมกันไม่ติดโดยผู้ที่มีเงินมากสามารถละเมิดกฎหมายได้ตามใจชอบ ในขณะที่คนจนรู้สึกคับแค้นใจอยู่ไม่ขาด และนักการเมืองเป็นทาสของเงิน

ความมีอิสระที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองบนฐานของการมีศีลธรรมจรรยาการมีหลักประกันในทรัพย์สินเป็นส่วนประกอบหลักของความมีอิสระ เพื่อให้เกิดความมีอิสระอย่างทั่วถึง ทรัพย์สินจะต้องกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง แทนที่จะตกอยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

การอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เรื่องนี้มักก่อให้เกิดการถกเถียงกันในระหว่างฝ่ายที่มองว่าการอยู่ใกล้ธรรชาติเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดชีวิตที่ดีและฝ่ายที่ไม่เชื่อเช่นนั้น ผู้เขียนอ้างถึงข้อมูลต่างๆ แล้วสรุปว่าฝ่ายแรกมีน้ำหนักมากกว่า

การมีเพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เพื่อนในที่นี้อาจเป็นสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง หรือคนนอกครอบครัวก็ได้ซึ่งคบค้ากันด้วยความจริงใจ มิใช่เพื่อผลประโยชน์

การพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งไม่เฉพาะการผ่อนคลายอย่างสบายๆ เนื่องจากได้พักจากงาน หรือความกดดันต่างๆ เท่านั้น หากยังรวมถึงการได้ทำสิ่งที่มีใจรักเช่นงานอดิเรกอีกด้วย ในบางกรณี การทำงานอาชีพอาจเป็นการทำในสิ่งที่มีใจรักพร้อมๆ กันไปด้วย เช่น เมื่อนักเขียนแต่งหนังสือ ในกรณีเช่นนี้ แม้จะไม่มีใครจ่ายเงินให้ เขาก็ยังทำต่อไปเนื่องจากมีใจรัก

สำหรับบุคคลทั่วไป การจะมีชีวิตที่ดีได้ส่วนหนึ่งมาจากโชคของการเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่อำนวยและมีร่างกายที่มีส่วนประกอบดีและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องก่อให้เกิดภาวะเอื้ออำนวยซึ่งส่วนใหญ่มิใช่ภาวะทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนประกอบสำคัญทางด้านเศรษฐกิจได้แก่การขยายตัวของผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจมีความสำคัญใน 3 ด้านด้วยกันคือ

ด้านแรก การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจมีความจำเป็นในการผลิตปัจจัยสำหรับการมีชีวิตที่ดี เช่น ทำให้มีอาหารและปัจจัยในการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ ในประเทศที่ก้าวหน้ามากๆ เช่น ในสังคมตะวันตก ปัจจัยเหล่านี้มักมีอย่างเพียงพอแล้วจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

ด้านที่สอง การขยายตัวต่อไปอาจทำให้บุคคลมีอิสระที่จะเลือกสิ่งต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นและสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในทางดีซึ่งอาจจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง

ด้านที่สาม การขยายตัวอาจมีความจำเป็นในระยะสั้นเมื่อสังคมมีอัตราการว่างงานและภาระหนี้สินสูง

เมื่อเศรษฐกิจสามารถผลิตทุกอย่างที่เอื้อให้สมาชิกในสังคมมีชีวิตที่ดีได้แล้ว การขยายตัวต่อไปมีโอกาสทำให้ชีวิตที่ดีลดลง ไม่ว่าจะเป็นจากการทำลายสิ่งแวดล้อม การจำกัดโอกาสสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการชักจูงให้เกิดการบริโภคที่ไม่จำเป็นมากขึ้นจนมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจที่สามารถผลิต หรือค้าเพื่อแสวงหาทุกอย่างมาได้อย่างเพียงพอสำหรับชีวิตที่ดีของสมาชิกในสังคมแล้วเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะ “นิ่ง” หรือ “พอ” ซึ่งปราชญ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากอดัม สมิธ ถึงจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ มองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรเป็นเป้าหมายของสังคมโดยทั่วไป แต่สังคมตะวันตกในปัจจุบันซึ่งใช้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก หรือทุนนิยม ได้มองข้ามเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะนิ่งเพราะถูกความโลภเข้าครอบงำจนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการขยายตัวของการผลิตและการบริโภบแบบไม่มีที่สิ้นสุด

ก่อนที่ปราชญ์สองพ่อลูกนั้นจะเสนอให้ใช้การมีชีวิตที่ดีแทนการมีความสุขเป็นเป้าหมายของชีวิต มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในประเทศอังกฤษได้รวบรวมผลการค้นคว้าเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขว่ามีอะไรบ้าง เมื่อตอนปลายปี 2551 เขาได้ข้อสรุปว่า หลังจากมีปัจจัยเพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกายแล้ว การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาสรรพสิ่งมาบริโภคเพิ่มขึ้นจะไม่ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขหลังจากร่างกายมีทุกอย่างเพียงพอแล้วประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจแยกออกได้เป็น 5 หมวดหมู่ด้วยกันคือ

การมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างและการมีเพื่อน ความสัมพันธ์เป็นฐานของการมีชีวิตอันอบอุ่นและมั่นคง รวมทั้งความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและเพื่อนทั่วไปในชุมชน นอกจากจะสร้างความสุขกายสบายใจแล้ว ความสัมพันธ์อันแนบแน่นยังเป็นเกราะกำบังมิให้เกิดปัญหาที่มาจากโรคจำพวกการซึมเศร้าเหงาหงอยอีกด้วย

การมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ ความเคลื่อนไหวมีหลายชนิด จากการออกกำลังกายอย่างเข้มข้นไปจนถึงการเคลื่อนไหวจำพวกเดิน เต้นรำ และทำสวนครัว นอกจากจะสร้างความสุขกายสบายใจแล้ว การเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจยังมีความสำคัญต่อการลดความกระสับกระส่าย ช่วยเสริมสร้างพลังทางสมองของเด็กและป้องกันการถดถอยของมันสมองในผู้สูงวัยอีกด้วย

การมีความช่างสังเกต การสังเกตรวมทั้งการมองเห็นความเป็นไปภายนอกจำพวกสภาพของท้องถนน การแต่งกายของฝูงชนตามศูนย์การค้า สีหน้าของผู้ที่อยู่ใกล้ๆ และการตระหนักถึงความรู้สึกภายในจิตใจของตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการศึกษาในสังคมตะวันตกตรงกับการปฏิบัติจำพวกการวิปัสสนาของพุทธศาสนาที่ฝึกให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นปัจจัยของการทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นการมีสติสัมปชัญญะยังเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลเลือกกระทำในสิ่งที่ตรงกับหลักคุณธรรม หรือฐานในการดำเนินชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

การเรียนรู้อยู่เป็นนิจ การเรียนรู้มีความสำคัญต่อการมีความสุขสำหรับคนทุกรุ่นทุกวัย ในวัยเด็ก การเรียนรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านมันสมองและด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียนรู้อาจทำได้หลากหลายวิธีรวมทั้งการรื้อฟื้นสิ่งที่เราเคยมีความสนใจในอดีต การลงทะเบียนเรียนวิชาใหม่ๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษา การฝึกเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยเล่นมาก่อน การทำอาหารจานแปลกๆ การหัดทำตุ๊กตาและการตัดเย็บเสื้อผ้าเอง การอาสาทำงานใหม่ๆ ในสำนักงานก็เป็นการเรียนรู้อยู่เป็นนิจ

การให้การให้ในที่นี้มีขอบเขตกว้างมาก จากกิจกรรมง่ายๆ จำพวกการส่งยิ้มให้คนอยู่ใกล้ๆ และการกล่าวคำขอบคุณ การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อยู่รอบข้างไปจนถึงการสละเวลาออกไปอาสาช่วยงานในชุมชนและการทดแทนคุณแผ่นดิน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้ทำรู้สึกว่าตนเองมีค่าและชีวิตมีความหมายซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ในวัยเด็กการให้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการร่วมมือกับผู้อื่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทอง การแบ่งปันและการให้ในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ทำให้ชีวิตมีความหมายยังผลให้อายุยืนยาวขึ้น

นอกจากปัจจัยที่แยกได้เป็น 5 หมวดหมู่นั้นแล้ว การศึกษายังพบปัจจัยที่ควรได้รับการพิจารณาอีก 3 ด้านด้วยกันคือ ด้านอาหารซึ่งควรประกอบด้วยอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและในปริมาณที่มีความสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งการศึกษาพบว่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมีความสุขกายสบายใจมากกว่าผู้ที่อยู่ไกลธรรมชาติ และด้านงานซึ่งการศึกษาพบว่า การทำงานที่มีความพึงพอใจทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น การเรียนรู้อยู่เป็นนิจและการสร้างเครือข่ายเพิ่มโอกาสในการได้งานที่พอใจมากขึ้นด้วย

ข้อสรุปนี้เป็นงานชิ้นล่าสุดที่ยืนยันว่า เมื่อคนเรามีปัจจัยเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างเพียงพอแล้ว การมีเงินสำหรับซื้อหาสรรพสิ่งมาเพิ่มขึ้นไม่ทำให้มีความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น ก่อนนั้น มีหนังสือหลายเล่มที่มีข้อสรุปในแนวเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น บางเล่มมีข้อมูลที่ยืนยันว่าการมีเงินจนเกินไปอาจทำให้ความสุขลดลง สองเล่มเขียนโดยชาวอเมริกันชื่อ Gregg Easterbrook ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า The Progress Paradox: How Life Gets Better While People Feel Worse และ Barry Schwartz ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า The Paradox of Choice: Why More Is Less อีกเล่มหนึ่งเขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ Richard Layard ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า Happiness: Lessons from a New Science เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว (เล่มแรกและเล่มหลังมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในหนังสือชื่อ กะลาภิวัตน์)

เรื่องราวต่างๆ ที่อ้างถึงเหล่านี้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ฝรั่งมิได้งั่งดังที่ใครต่อใครมองไปเสียทั้งหมด แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีฐานทางวิทยาศาสตร์อันแข็งแกร่งรองรับอยู่ และการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจะนำไปสู่ความสุขกายสบายใจ หรือไม่ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน

การดำเนินชีวิตในแนวดังกล่าวมีโอกาสนำสังคมไปสู่ความยั่งยืนสูงกว่าการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งใช้การบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นหัวจักรขับเคลื่อน การดำเนินชีวิตแบบนี้มีความโลภเป็นฐานจึงนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจนก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายและการทำลายจรรยาบรรณ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ ณ วันนี้ล้วนมีที่มาจากการแย่งชิงทรัพยากรกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมืองในไทย สงครามกลางเมืองในหลายประเทศในแอฟริกา สงครามระหว่างประเทศในอัฟกานิสถาน หรือวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตเหล่านี้ล้วนมีแต่ผลร้ายซึ่งบ่อนทำลายความสุขและการมีชีวิตที่ดี แต่มันจะเกิดขึ้นต่อไปตราบใดที่คนเรายังไม่รู้จัก “พอ” เรื่องความรู้จักพอนี้ ปราชญ์ชั้นแนวหน้าซึ่งสังคมตะวันตกนับว่าเป็นบิดาแห่งแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจของเขา เช่น อดัม สมิธ ไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำว่าเป็นสิ่งที่ดีเลิศเท่านั้น หากยังนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

ณ วันนี้ ทั้งปราชญ์ไทยและปราชญ์ฝรั่งได้เสนอให้ใช้แนวคิดที่มีความรู้จักพอเป็นฐานของการบริหารจัดการประเทศและการดำเนินชีวิต แต่ยังมีคนรับฟังเพียงจำกัดและนำไปปฏิบัติในระดับบุคคลบ้างเท่านั้น สังคมไทยและคนไทยจะนำหน้าฝรั่งมากหากนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังในเร็ววัน แม้รัฐบาลซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองสายตาสั้นผู้ยึดผลประโยชน์ของตัว ครอบครัวและพวกพ้องเท่านั้นเป็นที่ตั้งเป็นส่วนใหญ่จะไม่ทำ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ มันจะยังผลให้เราก้าวหน้ากว่าฝรั่งในด้านการรู้จักดำเนินชีวิตที่ดีและมีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น