xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสอบทหารเอี่ยวค้ามนุษย์ รบ.ย้ำส่งโรฮิงญาไปประเทศที่3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(22 ม.ค.56) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีชาวโรฮิงญาใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านและอาจทำให้สหรัฐอเมริการยกระดับการจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้มีประเทศไทยถูกกีดกันทางการค้า ว่า คงไม่สามารถไปยกระดับได้ เพราะรัฐบาลต้องส่งชาวโรฮิงญาไปประเทศที่สาม หากชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศมากๆ จะมีปัญหา และจะพยายามไม่ตั้งค่ายที่พักให้กับชาวโรฮิงญา ยืนยันว่าต้องหาประเทศที่สามต่อไป
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่า กรณีชาวโรฮิงญาเข้าไทยต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่อยากจะรับเอาไว้ เพราะแม้แต่พม่าเองก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนพม่า แต่เมื่อชาวโรฮิงญามาถูกทอดทิ้งในประเทศไทย เราก็ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ส่วนการผลักดันต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าประเทศกว่า 800 คน เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งตัวกลับประเทศพม่านั้น โดยทางรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชั่วคราว รวมทั้งมุ่งมั่นในเรื่องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐบาลได้จัดเตรียมงบประมาณดูแลชาวโรฮิงญาไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนกรณีมีการกล่าวหาว่ามีทหาร 8 นายเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์นั้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และรัฐบาลมีนโยบายจริงจัดต่อการจัดการเรื่องนี้ จึงมอบหมายให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปดำเนินการติดตามสอบสวนในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับทางการพม่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องชาวโรฮิงญาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทั้งในเบื้องต้นจนไปถึงระยะยาว แต่การดำเนินการจนประสบความสำเร็จได้ประชาคมโลกต้องเข้ามามีส่วนร่วม และประเทศที่ 3 ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ทางการไทยก็ได้มีการหารือกับทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในการช่วยเหลือแล้ว
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือและตกลงกันว่าจะดูแลชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมากอย่างไร ซึ่งจะต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจาก คณะกรรมการสิทธิ์ฯ เป็นหน่วยงานอิสระที่ตรวจสอบ ไม่มีหน้าที่ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยาได้ ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิ์ กำลังประสานงานกับทาง ยูเอ็นเอชซีอาร์ ว่าจะเข้ามาช่วงเหลือให้ชาวโรฮิงยา ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาลี้ภัยระหว่างประเทศ มีเพียงกฎหมายหลบหนีเข้าเมืองที่บังคับใช้ ทั้งนี้ในอนาคตรัฐบาล ต้องมีนโยบายที่ชัดว่าจะดำเนินการกับชาวโรฮิงยาอย่างไร รวมถึง ทางสหประชาชาติด้วย
วันเดียวกันเจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามปัญหาของชาวโรฮิงญาเกือบ 900 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไทย ระหว่างถูกกักตัวอยู่ตามแนวชายแดนไทย - มาเลเซีย โดยได้เข้าเยี่ยมเด็กและสตรีจำนวน 105 คน ที่ถูกคัดแยกไปดูแลที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สงขลา เพื่อดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการดูแลชาวโรฮิงยาของเจ้าหน้าที่ไทย พร้อมกับเข้ารับฟังปัญหาต่างๆ จากเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.สงขลา เพื่อนำไปประสานความช่วยเหลือร่วมกับทางการไทย
นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่ UNHCR ยังลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวโรฮิงยา ที่ถูกนำไปดูแลยังศูนย์พักพิงต่างๆ ใน จ.สงขลา อีกหลายแห่ง เช่น ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของชาวโรฮิงยา โดยเฉพาะในประเด็นการขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 และไม่ให้ส่งตัวกลับไปประเทศพม่า เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณา และประสานกับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการหาทางออกร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น