เอเอฟพี - สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้เข้าถึงผู้อพยพราว 850 คนซึ่งจับกุมได้จากสถานที่ซุกซ่อนในภาคใต้ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคาดว่าจะมีชาวมุสลิมโรฮิงญารวมอยู่ด้วย
ตำรวจสามารถจับกุมผู้อพยพชาวพม่าหลายร้อยคน ระหว่างเข้าตรวจค้นสวนยางพาราใกล้ชายแดนมาเลเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทางยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ขอส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและสอบถามว่ามีผู้อพยพที่ต้องการขอลี้ภัยหรือไม่
“เราได้รับอนุญาตจากทางการไทยให้เข้าถึงผู้อพยพกลุ่มนี้ได้” วิเวียน แทน โฆษกหญิงประจำยูเอ็นเอชซีอาร์ให้สัมภาษณ์
“ในผู้อพยพเหล่านี้อาจมีชาวโรฮิงญาปะปนอยู่ด้วย แต่เรายังยืนยันไม่ได้ จนกว่าจะได้พูดคุยกับพวกเขา และทำการประเมินเบื้องต้นเสียก่อน”
แทนระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นจะเข้าไปสัมภาษณ์ผู้อพยพ ทว่ายูเอ็นก็จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด
มุสลิมโรฮิงญาหลายพันคนหลบหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
เหตุปะทะระหว่างชาวพุทธและมุสลิมคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 180 คนตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ขณะที่ชาวโรฮิงญาอีกราว 110,000 คนต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีการกวาดล้าง
รัฐบาลพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาราว 800,000 คนในรัฐยะไข่เป็นเพียงชาวบังกลาเทศที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และปฏิเสธที่จะให้สถานะพลเมืองแก่พวกเขา
องค์การสหประชาชาติประกาศให้ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าเปิดพรมแดนรับผู้อพยพหนีความขัดแย้งเหล่านี้
แม้สถานการณ์ความรุนแรงซึ่งปะทุขึ้นอีกในเดือนตุลาคมจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาที่อัดแน่นมาบนเรือประมงเพื่อหนีมายังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษชนต่างกดดันให้รัฐบาลไทยมอบความช่วยเหลือต่อชาวโรฮิงญามากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าขับไล่ไสส่งชาวโรฮิงญาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาเลเซียซึ่งยอมให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมเหล่านี้เข้าไปลี้ภัย