xs
xsm
sm
md
lg

ระลึกถึงพระคุณครู

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

​วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู มีลูกศิษย์ส่งข้อความอวยพรให้ผม ครูทั่วประเทศมีนับแสนคน และที่เสียสละมากก็คือครูในภาคใต้ ผมยังสงสัยว่าเหตุใดขบวนการก่อการร้ายจึงจงใจฆ่าครู เพราะครูไม่มีพิษมีภัย มีแต่ช่วยเด็กๆ ทุกปีมีการฉลองวันครู แต่จะมีใครคิดไหมหนอว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยครูให้ได้มากไปกว่าการคิดแต่เรื่องสวัสดิการเท่านั้น

​สมัยก่อนผู้ที่เรียนครูเป็นคนเรียนเก่งที่สุด และบางคนก็มีโอกาสดีได้ไปเรียนต่อเมืองนอก ครูรุ่นแรกๆ เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วสอนเก่ง มีบางคนเขียนตำราไว้ด้วย แต่ละโรงเรียนจะมีครูที่มีชื่อเสียง ทั้งชาวต่างประเทศ และชาวไทย ชาวต่างประเทศที่เข้ามาจะมีฝรั่ง อินเดีย พม่า และญวน รวมอยู่ด้วย ส่วนมากจะสอนภาษาอังกฤษ

​ในอเมริกา องค์กรครูมีบทบาทสำคัญมาก เขาจะจัดการสอนหลักสูตรต่างๆ ให้ครู มีการนำเอานวัตกรรมมาใช้ และมีวารสารที่ดีมาก ในวารสารจะมีบทความเกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับการสอนใหม่ๆ ผมเองเมื่อไปเป็นครูใหญ่ที่วชิราวุธวิทยาลัย ก็ได้อาศัยบทความในวารสารของสมาคมครูอเมริกันอ่านเรื่องดีๆ และนำเอาวิธีการสอนใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังในหมู่ครูที่โรงเรียน

​พอถึงวันครูทีไร ผมก็อดคิดถึงครูเก่าๆ ไม่ได้ ครูคนแรกของผมไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นย่าผมเอง ย่าผมเป็นเด็กสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่เคยไปโรงเรียน แต่มีครูมาสอนที่บ้านจึงอ่านหนังสือคล่อง ย่าผมต้องอ่านข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ

​นอกจากย่าจะสอนหนังสือแล้ว ย่าก็ยังสอนอะไรต่ออะไรอีกมากมาย เช่น การกินข้าวด้วยมือ การทำอาหารไทยโบราณอย่างห่อหมก สอนมารยาท และการปฏิบัติตัวให้เกิดความเคยชิน ผมต้องล้างเท้าก่อนนอน ไม่กินน้ำระหว่างกินข้าว กินข้าวต้องกินให้หมดไม่เหลือ ตักอาหารน้อยๆ และกินอย่างเรียบร้อย ย่าผมจะทำอาหารแบบไทยๆ และทำขนมทานเองเสมอ บางทีก็เอาผักบุ้งมาดองกินกับน้ำพริก บางทีก็ทำปลาแห้งทานกับแตงโม และคลุกข้าวกับปลาโดยกินกับมะม่วงสุก เป็นต้น

​แต่สิ่งที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือ การเล่าเรื่อง ย่าผมจะมีนิทานจักรๆ วงศ์ๆ และนิทานที่ย่าแต่งเองเล่าให้ผมและน้องฟังเวลานอนเกือบทุกวัน นอกจากนิทานแล้ว ย่ายังเล่าเรื่องเก่าๆ คนสมัยก่อนให้ฟัง ทำให้เราได้รู้เรื่องราวของคนในสมัยก่อน

​ย่าสอนหนังสือผมจนผมอ่านออกเขียนได้ และไม่ต้องไปเรียนโรงเรียนอนุบาลเหมือนเด็กอื่น ที่จริงการไม่ต้องไปโรงเรียนก็นับว่าเป็นโชคดี เพราะย่าสอนผมคนเดียวได้เอาใจใส่ และการเรียนก็ทำได้ที่บ้าน ไปตามจังหวะตามการรับรู้ของเด็ก

​เมื่อผมโตขึ้นอายุสัก 5 ขวบ แม่ก็พาไปฝากไว้กับ “ป้าครู” ซึ่งเป็นญาติทางเมืองระยอง ป้าครูชื่อครูเนี้ยน สโรชมาน สมัยนั้นป้าครูมีบ้านอยู่ในบริเวณโรงเรียนวชิราวุธ เพราะป้าครูเป็นครูที่โรงเรียนด้วย สามีป้าครูเสียชีวิตไป พระยาภะรตราชา เมตตาจึงให้บ้านอยู่ในโรงเรียน และอนุญาตให้สอนเด็กๆ ด้วย เด็กที่ยังมีความรู้ไม่ถึงขั้นก่อนจะเข้าโรงเรียน ก็ต้องไปผ่านการสอนของป้าครูก่อน ป้าครูรับเด็กอยู่ที่บ้าน สมัยผมอยู่ประมาณปี 2492 มีเด็กประมาณ 6-7 คน หนึ่งในนั้นคือจักรพันธุ์ โปษยกฤต

​ป้าครูได้ชื่อว่าเป็นครูที่มีวิธีการสอนเก่ง เด็กคนไหนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ป้าครูก็สามารถสอนให้อ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาโรงเรียนป้าครูย้ายออกไปอยู่ในซอยข้างวชิราวุธวิทยาลัย ชื่อโรงเรียนอักษรเจริญ ลูกชายผมก็ได้ไปเป็นนักเรียน แม้ทุกคนจะต้องอยู่ประจำ แต่เพชรไม่ยอมจึงไปเช้าเย็นกลับ ป้าครูไม่คิดค่าเล่าเรียน

​แนวคิดสมัยใหม่ที่บอกว่าการสอนต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่ป้าครูทำมานานแล้ว เริ่มด้วยการที่ป้าครูทำความรู้จักกับครอบครัวของเด็กทุกคน พ่อแม่ต้องพามาฝากให้รู้จักไว้ และป้าครูจะรู้จักนิสัยเด็กทุกคน การอยู่ประจำทำให้เด็กได้รับการดูแลตลอดเวลา ผมจำได้ว่าก่อนนอนเด็กๆ ทุกคนต้องอมเกลือ เป็นเกลือเม็ด เป็นการช่วยรักษาฟัน

​ป้าครูจะใช้วิธีการทำโทษเด็กต่างๆ กันตามลักษณะนิสัย เวลาผมทำผิดป้าครูจะไม่ตี แต่เรียกไปสั่งสอน โดยเล่าว่า เวลาแม่ผมท้องผม แม่ก็กินแต่ผัก และสิ่งที่มีประโยชน์ แม่จะเสียใจเพียงใดหากผมเป็นเด็กไม่ดี

​การที่ผมไปอยู่โรงเรียนประจำ ทำให้ผมได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนกิริยามารยาท และคุณธรรม ศีลธรรมจากครู พวกเรามีครูพร้อมที่เล่นเปียโน สอนร้องเพลง และให้ยาเวลาเราไม่สบาย ต่อมาผมจึงทราบว่าครูพร้อมเป็นนางพยาบาลปริญญาจากอังกฤษ ครูพร้อมสอนภาษาอังกฤษให้เราด้วย

​ครูวชิราวุธสมัยผมยังเด็ก ยังมีท่านขุน คุณหลวง และหม่อมเจ้าด้วย ครูสอนภาษาไทยชื่อคุณหลวงประสารธรรมประศาสน์ เราเรียกว่า “คุณตา” คุณตาไม่เคยสอนหนังสือเลย แต่พวกเราตั้งใจรอเพราะคุณตาจะเล่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นตอนๆ จะว่าไปแล้วนี่ก็คือการสอนที่ฝรั่งเรียกว่า Story Telling

​ครูภาษาอังกฤษของผมเป็นหม่อมเจ้าคือ หม่อมเจ้าวิเศษศักดิ์ชยางกูร เป็นนักเรียนอังกฤษได้ทุนกรมรถไฟ แต่สมัยกบฏบวรเดช ท่านปล่อยรถไฟให้วิ่งชนทหารรัฐบาล เลยถูกออกจากราชการ ผมมาทราบภายหลังว่า ท่านเคยได้รับเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาด้วย

​ท่านวิเศษสวมสูทสีน้ำตาลอ่อนมาสอนทุกวัน ใครตอบคำถามได้ท่านจะให้ “จุ่ยใหญ่” คือ ไอศกรีมบิ๊กดิ๊บอันละสองบาทห้าสิบ พวกเราภูมิใจในตัวท่านมาก เพราะท่านเล่าว่าเคยทำจดหมายท้วงคนทำดิกชันนารีอังกฤษไปว่า มีคำผิดคือดอกไม้อะไรอย่างหนึ่งในสวนดิว

​ครูสำหรับผมจึงเป็นยิ่งกว่าครู เพราะท่านเหมือนพ่อแม่ที่อบรมสั่งสอนเราด้วย ผมได้ดีมาทุกวันนี้ก็ต้องนับว่าเป็นเพราะพระคุณของท่านเหล่านี้ และคุณครูอีกหลายคนที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น