xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กสทช.ใส่เกียร์เดินหน้าลุยทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในปี 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีแผนในการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านระบบทีวีจากอนาล็อกสู่ทีวีดิจิตอลซึ่งการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้กสท.จะจัดให้มีการประมูลช่องธุรกิจขึ้น เพื่อที่จะนำเงินจากการประมูลดังกล่าวมา สนับสนุนประชาชนในรูปแบบของคูปองในการนำไปเลือกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอล

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ระบุว่าหลังจากที่ไม่มีองค์กรกำกับดูแลในกิจการนี้มานานกว่า 15 ปี สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ไขสัญญาที่มีมาตั้งแต่ 15 ปี โดยหลังจากมีบอร์ด กสท.ก็ได้ดำเนินการวางโครงสร้างระบบในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งได้ทำมาทั้งหมดตั้งแต่กลางปี 2555

โดยในปีที่ผ่านมากสท.ได้ดำเนินงานตาม 6 ยุทธศาสตร์หลักที่วางไว้ คือ 1. เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยได้กำหนดลักษณะและประเภทในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นรูปแบบสากล 2. การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 3. การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4. การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร 5. การพัฒนาคุณภาพการประกอบกิจการ และ6. การเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล

เดินหน้าสู่ทีวีดิจิตอลภายในปีนี้

โดยในปี 2556 นี้การดำเนินงานของกสท.จะสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผ่นแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลในปีนี้ภายหลังจากได้กำหนดหลักเกณฑ์ประเภทใบอนุญาตในปีที่ผ่านมา

ขณะที่กรอบการดำเนินการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้แบ่งเป็นช่วงตั้งแต่ในไตรมาสแรกจะออกใบอนุญาตประเภทโครงข่ายการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอล ช่วงต้นไตรมาส2 จะออกใบอนุญาตช่องทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะ12 ช่อง และช่วงเดือน ก.ค. 56จะเปิดประมูลช่องทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่องจากนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะออกใบอนุญาตช่องทีวีดิจิตอลประเภทชุมชน12ช่องโดยรวมแล้วในปีนี้จะมีการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลทุกประเภทรวม 48 ช่อง

สำหรับช่องทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจที่จะต้องมีการประมูลมีทั้งหมด 24 ช่องธุรกิจ แบ่งเป็นประเภทความละเอียดสูง 4 ช่อง และช่องความละเอียดมาตรฐาน 20 ช่องซึ่งแบ่งเป็นช่องข่าว ช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว และช่องทั่วไป ส่วนประเภททีวีสาธารณะอีก 12 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่องไม่ต้องมีการประมูลแต่อย่างไรใด เนื่องจากจะใช้การออกหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับใบอนุญาต(beauty contest)

คูปองช่วยประชาชน

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจนั้นทางกสท.จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.นำเข้ากองทุนUSO และส่วนที่ 2 นำไปสนับสนุนค่าเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์ในระบบทีวีดิจิตอลซึ่งจะออกมาในรูปแบบ ”คูปอง” โดยจำนวนเงินสนับสนุนในคูปองจะมีมูลค่าเท่ากับอัตราราคาตั้งต้นการประมูลโดยรวมในกลุ่มช่องธุรกิจทั้ง 20 ช่องมาตรฐาน และประเภทความละเอียดสูง4ช่อง หารด้วยจำนวน 22ล้านครัวเรือนที่มีอยู่ในประเทศไทย

“หลักการคิดมูลค่าคูปองที่จะสนับสนุนนั้นจะใช้ราคาประเมินมูลค่าขั้นต่ำของคลื่นความถี่ และหารด้วยจำนวนครัวเรือนตามข้อมูลสำมะโนครัวเรือน ประชากรของกระทรวงมหาดไทยสมมติว่ามูลค่าคลื่นความถี่ 24 ช่องรายการธุรกิจมีมูลค่า 22 ล้านบาท และหากจำนวนครัวเรือนไทยมีจำนวน 22 ล้านครัวเรือน ดังนั้นแต่ละครัวเรือนจะได้การสนับสนุนครัวเรือนละ 1 บาท”

อย่างไรก็ตามมูลค่าเงินสนับสนุนในคูปองคาดว่าจะสรุปได้ก็ต่อเมื่อคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งข้อมูลราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริงของทีวีดิจิตอลกลับมายังกสท. โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ1-2 เดือนนับจากนี้ ส่วนการแจกคูปองจะเริ่มทยอยแจกให้ประชาชนได้ภายหลังการประมูลแล้วเสร็จ และผู้ชนะการประมูลนำเงินค่าประมูลมาชำระยังกสทช.เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลทั้ง24ช่องคาดว่าสามารถเปิดประมูลได้พร้อมกันในช่วงปลายไตรมาส 2/2556 หรือราวเดือน ก.ค. 2556

ขณะที่ประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนคูปองการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล สามารถเลือกนำคูปองดังกล่าวไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ที่รองรับ ระบบดิจิตอลหรือเลือกซื้อเป็นกล่องรับสัญญาณ(Set top box)เพื่อนำไปติดตั้งกับโทรทัศน์อนาล็อกสำหรับรับชมช่องทีวีดิจิตอลได้

การเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิตอล

นอกจากนี้กสท.ยังอยู่ในช่วงระหว่างการศึกษาแนวทาง และแผนการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิตอล โดยจะต้องเริ่มจากการศึกษามาตรฐาน โครงสร้างตลาด แผนการเปลี่ยนผ่านจากวิทยุเป็นระบบดิจิตอลจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยในเดือน มี.ค. 2556 จะเรียกผู้ประกอบการวิทยุและผู้ประกอบการรายเดิมเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและทัศนคติในแนวทางการเปลี่ยนผ่านระบบ เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล เนื่องจากที่ผ่านมามีประเทศออสเตรียเพียงประเทศเดียวที่เปลี่ยนผ่านระบบดังกล่าวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานีวิทยุจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างการศึกษา และในปัจจุบันสถานีวิทยุก็มีการรบกวนคลื่นกันเอง โดยตามแผนหากจะต้องเปลี่ยนให้เป็นระบบดิจิตอล จะเป็นการนำระบบ VHF ที่เหลืออยู่ คือ 2, 4, 6 มาทดลองใช้ แต่ในอนาคตถ้าเป็นการเปลี่ยนระบบทั้งหมดจะเป็นการนำระบบ VHF ทั้งหมดมาใช้

“การเปลี่ยนผ่านวิทยุระบบดิจิตอลจะต้องดูสภาพตลาดอุตสาหกรรมจะอยู่รอดได้หรือไม่ และต้องให้เข้ากับสภาพตลาดในปัจจุบัน ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ จะต้องนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง โดย กสทช.เชื่อว่าสื่อวิทยุเป็นสื่อที่อยู่กับคนไทยมานาน และประชาชนคนไทยก็ยังใช้วิทยุ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด”


กำลังโหลดความคิดเห็น