คณะอนุฯ เปลี่ยนผ่านดิจิตอลมีมติแจกคูปองช่วยประชาชนช่วงเปลี่ยนผ่าน เตรียมชงบอร์ด กสท. 14 ม.ค.นี้ก่อนกำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นไตรมาส 2 ปีนี้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ม.ค. 56 นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านดิจิตอลจะมีการพิจารณามติเสนอแนวทางการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านทีวีระบบแอนะล็อก ซึ่งจะสนับสนุนให้คูปองแก่ประชาชน โดยมูลค่าคูปองจะเท่ากับราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ที่จะประมูลใน 24 ช่องธุรกิจ และนำมาคิดคำนวณเป็นสูตรและหารด้วยจำนวนครัวเรือน
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนประชาชนทางเลือกให้เลือกซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ที่รองรับดิจิตอลหรือเลือกเป็นกล่องรับสัญญาณ โดยแนวคิดดังกล่าวมาจากที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนที่เจ้าของควรต้องได้กลับคืนมาตามมูลค่าคลื่น
“สมมติว่ามูลค่าคลื่นความถี่ 24 ช่องรายการธุรกิจมีมูลค่า 22 ล้านบาท และหากจำนวนครัวเรือนไทยมีจำนวน 22 ล้านครัวเรือน ดังนั้นแต่ละครัวเรือนจะได้การสนับสนุนครัวเรือนละ 1 บาท”
อย่างไรก็ดี การสนับสนุนคูปองให้ประชาชนในการเปลี่ยนผ่านระบบดิจิตอล จะกำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในราวไตรมาส 2/2556
ขณะที่ความคืบหน้าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลนั้น ล่าสุดบอร์ด กสท.มีแนวคิดจะเพิ่มช่องรายการความละเอียดสูง (HD) ประเภทสาธารณะ จากเดิม 4 ช่อง ให้เป็นไปตามที่มีการกำหนดช่องทีวีระบบดิจิตอลไว้แล้วเบื้องต้น 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องบริการธุรกิจ 24 ช่องรายการ, รายการปกติ 20 ช่องรายการ, HD 4 ช่องรายการ
นอกจากนี้ บอร์ด กสท.ยังคงข้อกำหนดเดิมที่ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถถือครองช่องรายการสูงสุดประเภทละ 1 ช่องรายการ ได้แก่ 1 ช่องรายการเด็ก, 1 ช่องรายการข่าวสาร, 1 ช่องทั่วไป อีกทั้งในวันที่ 18 ม.ค. 56 นี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงทดลองออกอากาศทีวีระบบดิจิตอล กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และช่อง 9, 11 ตามลำดับ โดยตามกฎหมายมีระยะเวลาการออกอากาศ 6 เดือน
อนึ่ง การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Go Digital Workshop” ดังกล่าวได้มีตัวแทนจาก LS telcom (ผู้พัฒนาเทคโนโลยีไร้สาย ประเทศอังกฤษ), เหล่าผู้บริหารโทรทัศน์ภาคปกติ (ฟรีทีวี) ช่อง 3, 5, 7, 9 และไทยพีบีเอส เข้าร่วมรับฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การรับส่งสัญญาณจากระบบแอนะล็อก สู่ระบบดิจิตอลในระบบ DVB-T2 ระบบของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้กำหนดให้เป็นรูปแบบในการดำเนินการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินการเกี่ยวกับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบ
Company Relate Link :
กสทช.