ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังผ่านการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและยาวนานมากว่า 10 ปี ในที่สุดชัยชนะก็ตกเป็นของ “ชาวจะนะ” หลังตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ที่บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ หรือโรงแรมหรรษาเจบีในปัจจุบัน เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชัดเจนว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ซึ่งชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีกำหนดการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 ม.ค.2545 ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวชุมนุมกันเกิน 10 คน มีผู้สั่งการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการตระเตรียมอาวุธทั้งที่เป็นอาวุธ และมิใช่อาวุธโดยสภาพ ซึ่งสามารถตรวจยึดหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว กรรไกรปลายแหลม มีดสปาต้า และไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม 175 อันนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่า การชุมนุมโดยใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญย่อมกระทำโดยคนเดียวไม่ได้ และไม่ปรากฏว่า แกนนำมีการสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมสั่งสมอาวุธ
ในขณะเดียวกัน ศาลเห็นว่าหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว และมีดสปาต้านั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม โดยเป็นอาวุธที่ผู้คัดค้านเตรียมมาเป็นการส่วนตัว มิได้มีการสั่งการจากแกนนำแต่งอย่างใด ส่วนไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมพบว่า ผู้ชุมนุมใช้เป็นเสาธง มิใช่อาวุธแต่เดิม แต่ได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาต่อมาเมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม สำหรับการทำร้ายตำรวจ และทรัพย์สินของทางราชการนั้น เกิดจากการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำร้ายผู้คัดค้านจนบาดเจ็บ
ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำตัดสินว่า การชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 นั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยมิได้ดำเนินการตามหลักสากลคือ จากเบาไปหาหนักจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) จึงต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-24 โดยกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องที่ 1-24 รวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
นี่คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์แผ่นดินเกิดของตนเอง
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ชาวบ้านชนะคดี แต่เนื่องจากเวลายาวนานมาเป็น 10 ปีกว่าคดีจะสิ้นสุด จึงเป็นความดีใจที่แผ่วลงมาก การเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่มีจริง แต่ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิด กลับถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม ชาวบ้านบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย วันนี้ ศาลพิพากษาให้รัฐจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 24 คน รวม 100,000 บาท ซึ่งน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับความรู้สึกของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้าย
“พอใจกับคำพิพากษาที่เห็นความสำคัญของประชาชน ทั้งนี้ ก่อนที่ชาวบ้านจะคัดค้านต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองให้ปราศจากมลพิษ และสิ่งเป็นพิษทั้งหลาย ชาวบ้านได้ศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงแล้วว่า มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพจึงมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมคัดค้านอย่างสงบ แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้ข้อกฎหมายดีกว่าประชาชนมากไม่เคารพกฎหมาย ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน เขารู้ว่าโดยหน้าที่เขาทำร้ายประชาชนไม่ได้ แต่เขาฮึกเหิมเนื่องจากเขาเห็นแก่นายทุน จึงมีการทำร้ายทุบตีชาวบ้าน และทำลายข้าวของ แม้แต่หม้อข้าวเขาถึงกับใช้เท้าเตะ เขาทำกับชาวบ้านเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ครอบครัวของตนเองถูกทุบตี และต้องหนีไปอยู่ในป่านานถึง 18 เดือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามล่าโดยตั้งข้อหาว่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวม 8 ข้อหา และวันนี้เราได้พลิกมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจนชนะคดีแล้ว”
“อยากฝากบอกกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ว่า ถ้ามีนายทุนข้ามชาติเข้าไปในพื้นที่เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว โดยที่ชาวบ้านจะต้องเผชิญกับมลพิษ สิ่งเป็นพิษ และหายนะต่างๆ ชาวบ้านมีสิทธิเสรีภาพที่จะออกมาปกป้องทรัพยากรของตนเองได้ตามกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พอมีโครงการใหญ่ระดับชาติเข้ามาทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น เราก็ใช้กฎหมายข้อนี้ปกป้องทรัพยากรของเราเอง ประชาชนย่อมมีสิทธิกำหนดทิศทางการพัฒนาในท้องถิ่นของตัวเอง”
และนั่นคือความรู้สึกและความคิดเห็นของนางสุไรด๊ะที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกของรัฐบาลไทยและตำรวจไทยได้เป็นอย่างดีว่า มิได้เคารพสิทธิของประชาชนเลยแม้แต่น้อย แถมยังเห็นว่าชาวบ้านคือผู้ที่ขัดขวางความเจริญของชาติบ้านเมืองอีกต่างหาก
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้ดำเนินโครงการ
เป็นบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย) จำกัด ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่าง ปตท.และบริษัทปิโตรนาส กาลิการี่ ของมาเลเซีย ในอัตราส่วน 50:50 มีมูลค่าการลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ตัวโครงการประกอบด้วยการวางท่อในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่ อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับระบบในประเทศมาเลเซียผ่านทางชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา รวมระยะทาง 353 กิโลเมตร แนวท่อก๊าซบนบกจะพาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ และอ.สะเดา ใน 15 ตำบล 49 หมู่บ้าน ส่วนโรงแยกก๊าซ เป็นโรงแยกขนาดกำลังผลิต 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะตั้งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านตลิ่งชันและบ้านโคกสักของ อ.จะนะ
แต่ประชาชนในอำเภอจะนะ และใกล้เคียง เห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกระทำไปโดยไม่ชอบ อีกทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็จัดทำโดยคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง และมีหลักฐานหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ผลการดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการจัดการทรัพยากรของชาติที่ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ได้รับผลประโยชน์จากโครงการเพียงร้อยละ 15 ของผลประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากรของชาติ กระทบต่อวิถีชีวิต และสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจึงรวมตัวกันคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยวิธีการชุมนุมเรียกร้อง และยื่นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาล พิจารณาทบทวนยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เรื่อยมา อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการ ปกป้อง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน
แต่การณ์กลับกลายเป็นเป็นว่า ชาวบ้านไม่อาจใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในแผ่นดินเกิดได้
ก่อนเกิดเหตุชาวบ้านนัดรวมตัวกันคัดค้านโดยเคลื่อนขบวนไปที่ถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้กับโรงแรมเจบีหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรมดังกล่าว แต่กลับถูกขัดขวางจากตำรวจมีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีการทุบตีอย่างป่าเถื่อน ใช้แก๊สน้ำตาสลาย ทำลายรถยนต์ที่เป็นยานพาหนะของผู้ชุมนุมเสียหายไปหลายคัน ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายปรากฏให้เห็นถึงความโหดร้ายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจกลุ่มหนึ่งกระทำต่อชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ
กล่าวสำหรับตัวละครที่สำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งยังคงมีบทบาทกระทั่งถึงในปัจจุบันมี 3 คนด้วยกันคือ
หนึ่ง-นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร
สอง-พล.ต.อ.สัณฐาน ชยนนท์
และสาม-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ 2 คนหลังที่อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับคนจะนะ ไม่เช่นนั้นแล้ว ชาวจะนะที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคงไม่นำรูป พล.ต.ท.สัณฐานและพล.ต.ท.คำรณวิทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่เกิดกว่าเหตุครั้งนั้นขยายใหญ่และถือเอาไว้ในมือ
ในขณะนั้นตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการ “คุมเกม”อย่างแข็งขันก็คือ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ซึ่งขณะนั้นครองยศ พล.ต.ต.ในตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดสงขลา และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ขณะนั้นมียศพันตำรวจเอก และดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
เป็น พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ คนเดียวกับที่เคยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะภายใต้การสนับสนุนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จนได้รับฉายาว่า “น.1เทพประทาน” ก่อนที่จะถูกเด้งเข้ากรุในยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เป็น พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างคนเดียวกับเจ้าของวลีเด็ดสะท้อนต่อมจริยธรรม “มีวันนี้เพราะพี่ให้” พร้อมเดินทางไปให้นักโทษชายหนีคดีประดับยศให้ถึงในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำลังขึ้นหม้อเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล”
บรรจง นะแส หนึ่งในแกนนำต่อต้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เคยเขียนบทความชื่อ “นายตำรวจที่ชื่อ คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” เพื่อสะท้อนตัวตนของ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบจะนะ ที่ชุมนุมหน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่โดยระบุเอาไว้ว่า “นายตำรวจที่ไม่ใส่หมวก เดินออกมานอกแผงเหล็กกั้นแล้วเข้าไปกระชากนักศึกษาที่นั่งทานข้าวกันอยู่และโบกมือให้ตำรวจปราบจลาจลเดินออกมานอกแผงเหล็กและเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก นั่นแหละคือเขาล่ะ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง”
บรรจง นะแส เขียนบทความเอาไว้ด้วยว่า “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เติบโตรวดเร็วพรวดพราดในยุคที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ข่าวว่าเขาเป็นมือไม้ที่สำคัญในการดำเนินตามนโยบาย “ปราบโจรกระจอก” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณในยุคนั้น บางข่าวเล่าลือในความใจถึงเป็นมืออุ้มมือพิฆาต จนพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ลุกเป็นไฟมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้รับการวางตัวให้มารักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ก็อย่าลืมบทเรียนที่ท่านมีส่วนทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ลุกเป็นไฟก็แล้วกัน”
จากข้อมูลที่บรรจง นะแสให้ภาพเอาไว้ ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไม วันนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์จึงได้รับความไว้วางใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่เป็นคนเดียวกับนักโทษชายที่หนีคดีทุจริตเป็นสัมภเวสีเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่แท้จริงในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เพราะเหตุการณ์ที่จะนะมีคำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คดีนี้ใครเป็นคนสั่งการและใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบ
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า คดีจะนะได้เปลือยธาตุแท้นักการเมืองไทย(บางคน)และตำรวจไทย(บางคน) ได้อย่างล่อนจ้อนชนิดที่ไม่ต้องสรรหาถ้อยคำใดมาอธิบายกันเลยทีเดียว