“เหลิม” ลุแก่อำนาจ! สั่ง ผบ.ตร.ตั้งกรรมการสอบกลุ่มพนักงานสอบสวนที่ร้อง ก.ตร.กรณีให้จับฉลากลงไปปฏิบัติหน้าที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เฉ่งไร้วินัยหากไม่พอใจก็ให้ลาออกไป ด้าน ผบ.ตร.รับลูกสั่ง ภ.4 เชือดวินัย จวกขาดสำนึกตำรวจ
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 15.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 นำโดย พ.ต.ท.ไขแสง ถวิลวงศ์ พนักงานสอบสวน (สบ 3) สภ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น แสดงความไม่พอใจและยื่นร้องต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางให้มีการจับฉลากเพื่อคัดพนักงานสอบสวนไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นายตำรวจพวกนี้ไม่มีวินัย ทำอย่างนี้ไม่ได้ ตำรวจทหารต้องปฏิบัติตามสั่งผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่ปฏิบัติไม่ได้ เป็นข้าราชการที่สวมเครื่องแบบจะมาแสดงความไม่พอใจได้อย่างไร ให้คิดดูว่าทำไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ทำไมต้องไปสู้รบ เพราะมันเป็นหน้าที่ เป็นตำรวจทำเช่นนี้ไม่ได้ ตนกล่าวหาเลยว่านายตำรวจที่ออกมาแสดงเช่นนี้ไม่มีวินัย ไม่สมควรประพฤติปฏิบัติ สมมติตนเป็นตำรวจกองปราบปราม ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปตามยิงคนร้าย ให้ไปตามจับคนร้ายที่ยิงปืนแม่นมาก ตนก็ต้องไป เสี่ยงก็ต้องไปเพราะมีวินัย ทำตามคำสั่ง ตำรวจกลุ่มนี้ขอให้ยุติเถิด อย่าทำ หากมีเหตุผลบางกรณีก็มารายงานขอความกรุณาผู้บังคับบัญชา แต่ทำขัดขืนเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัย
“ผมบอก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.เลย ต้องตั้งกรรมการ หากไม่พอใจก็ออกไป การออกมาร้องเรียนเช่นนี้ไม่ใช่การแสดงสิทธิ แต่คุณมีหน้าที่ต้องทำ อย่ามาทำตัวเป็นนักการเมือง ให้นึกถึงตำรวจที่อยู่ใต้ หากเขาออกมาร้องเรียนบ้างทำไมเขาไม่ได้กลับบ้าน ของแบบนี้ต้องเฉลี่ยความลำบาก เฉลี่ยความทุกข์กัน เราเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อย่ามาพูดว่าการจับลากจะมีการทำไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม ในเมื่อเหตุยังไม่เกิด อย่าเพิ่งพูด พนักงานสอบสวนที่ต้องลงไปทำงานก็จะได้สิทธิประโยชน์ตามกฎ ระเบียบ ได้วันทวีคูณอยู่แล้ว ผมว่าออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ถูกต้อง น่าจะส่งตัวแทนมาพบผู้บังคับบัญชาก่อน ไม่ใช่แสดงออกเช่นนี้ เป็นข้าราชการประจำทำแบบนี้ไม่เหมาะ เอาเป็นว่าใครที่ทำไม่ได้ ไม่อยากอยู่ก็ออกไป รับตำรวจเข้ามาใหม่ ชั้นประทวนจบกฎหมาย จบปริญญาโทจำนวนมาก ผมว่าทั้งหมดเข้าข่ายผิดวินัย ทั้ง 76 คน ควรต้องถูกตั้งกรรมการฯ กรณีนี้ผมว่าไม่ต้องสอบถามแล้ว แสดงออกชัดเจนแล้ว สอบสวนก่อน ไม่ผิดก็ไม่ว่ากัน หากผิดก็ลงโทษ ผมว่าไม่บั่นทอนกำลังใจหรอก คนแบบนี้ไม่อยากอยู่ ไม่อยากทำงานก็ออกไป ที่บอกว่าทำเรื่องมาแล้วก่อนร้องผ่านสื่อก็ให้พิจารณาว่าทุกอย่างมีขั้นตอน ไม่ใช่ว่ายื่นเรื่องแล้วได้ทราบผลทันที หลักมันต้องมี กฎเกณฑ์ต้องมี เป็นตำรวจต้องมีวินัย ทำเช่นนี้ได้อย่างไร ผมไม่กลัวหรอกว่าจะมาเดินขบวนประท้วง” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า เมื่อเราเป็นตำรวจเราเลือกไม่ได้อยู่แล้วว่าจะไปทำงานที่ไหน อยู่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ภารกิจนี้เป็นของชาติบ้านเมือง ตำรวจกำลังขาดแคลนพนักงานสอบสวนมาก ต้องให้ลงไปช่วยกัน โดยกระบวนการที่หาพนักงานสอบสวนทดแทนนั้น ขอความสมัครใจ 150 ราย แต่สมัครใจ 30 ราย ที่เหลือก็เป็นกระบวนการจับฉลาก ซึ่งทำตามขั้นตอน ทั้งนี้หากมีตำรวจออกมาให้สัมภาษณ์ตามที่เป็นข่าวจริง ถือว่าใช้ไม่ได้ ไร้วินัย ต้องดำเนินการตามมาตรการทางวินัย การจับฉลากไม่มีการกลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตาม ตนสั่งการให้ บช.ภ.4 ซึ่งเป็นต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนกลุ่มนี้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่ามีการออกมาเคลื่อนไหว ให้สัมภาษณ์ตามที่ปรากฎข่าวหรือไม่ หากจริง ผิดก็ต้องว่าตามผิด โดยที่ผ่านมาตนยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนของกลุ่มพนักงานสอบสวนที่แสดงความไม่เห็นด้วยหรือให้ทบทวนนโยบายการคัดเลือกแต่อย่างใด ทั้งนี้พนักงานสอบสวนกลุ่มที่ได้รับเลือกต้องไปปฏิบัติหน้าที่ประมาณวันที่ 15 มกราคม 2556
“ตำรวจเลือกนาย เลือกลูกน้อง เลือกที่อยู่ไม่ได้ เมื่อสั่งไปต้องไป เราก็ทำตามขั้นตอนของการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่แล้ว การคัดเลือกเราผ่านหลายขั้นตอน ตอนนี้ยืนยันว่ายังคงใช้วิธีการจับฉลากต่อไป ผมว่าคนที่ออกมาพูดแบบนี้เป็นตำรวจที่ขาดสำนึกมากเลย เข้าใจว่าตำรวจหลายคนไม่อยากไปเพราะมีข้อจำกัดเยอะมาก การลงไปทำงานในภาคใต้ก็ได้รับสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น ผมเองถูกส่งไปภาคใต้มา 3 ปีครึ่ง ผมไม่เคยบ่น ไม่ได้อะไรด้วย สิทธิพิเศษก็ไม่มี ไปตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ต้องช่วยชาติ ช่วยบ้านเมือง ทุกคนมีข้อจำกัด ผมเองถูกส่งไปทำงานในพื้นที่หลายครั้ง ผมก็มีครอบครัว แต่ถูกส่งไปทั้งที่ตำแหน่งเดิมเป็น ผบช.ภ.3 อยู่แล้ว ถูกส่งลงไป ต้องไป การแต่งตั้งก็โตมาตามปกติ ไม่ได้เร็วกว่าคนอื่นเลย เพื่อชาติ บ้านเมืองต้องทำ น้องๆที่คิดแบบที่ออกมาเคลื่อนไหว ผมว่าต้องทบทวน ผมให้ภ.4 สอบตรวจสอบ สอบสวนก่อนว่าเป็นอย่างไร หากคำให้สัมภาษณ์ผิดวินัย ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ขวัญเสีย เสียเกียรติถูมิ ผมก็ต้องตั้งกรรมการฯ ผมมีอำนาจสั่งการ หากผมทำไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้” ผบ.ตร.กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วยว่า วันนี้จะประชุมเรื่องแก้ปัญหาภาคใต้ ตอนนี้มีตำแหน่งดูแลเต็มที่แล้ว ศึกษา ทำเต็มที่ พูดคุยกับตำรวจทั่วประเทศ และผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ถึงแนวความคิด แนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตนจะเดินทางไปประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 8-10 ธันวาคม ซึ่งการคุยกับประเทศมาเลเซียครั้งนี้ แตกต่างกับครั้งที่ผ่านมาๆ มา วิธีของตนต้องไม่เหมือนใคร บอกไม่ได้ว่าคุยเรื่องอะไร แต่มั่นใจภายหลังการพูดคุยสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้น ซึ่งหลักการแก้ปัญหาของตนมอง 3 วงกลม คือ วงของในพื้นที่ ตำรวจ ทหาร พลเรือง จัดการ วงประเทศเพื่อนบ้าน และวงของโลกมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเชิญตนไปพูดคุย 2 ครั้งแล้ว ตนเพิ่งรับปากไปขออนุญาต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว วันนี้แก้จากในบ้านเรายากเข้าใจผิดกันหมด
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า ภายหลังได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) โดยตนจะใช้หลักการ 3 วงในการเข้าไปแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1. วงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด พลเรือน เข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 2. วงของประเทศเพื่อนบ้าน 3. วงของโลกมุสลิม ส่วนยุทธศาสตร์เบื้องต้นที่จะนำไปใช้ คือ การมอบหมายให้ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ทั้ง จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส เข้าไปประสานงานกับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อประสานงานขอข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมกับติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน หากท่านทำงานดี ก็ให้มีการมอบรางวัลเกียรติยศแก่คนผู้นั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจเป็นการทำงาน แต่หากสั่งการไปแล้ว ไม่ทำตามคำสั่ง ตนก็จะนำเรื่องนี้ไปเรียนกับทางนายกฯ ต่อไป
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่จะนำไปใช้ ก็คือการควบคุมอาวุธอย่างเข้มข้น ติดตามหาต้นตอเงินทุนที่ใช้ในการก่อความไม่สงบ การลงสแกนพื้นที่เพื่อควบคุมและบีบการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบให้แคบลง พร้อมกับดึงกฎหมายเรื่องการฟอกเงินมาใช้ โดยส่วนใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังที่ให้เงินทุนในการก่อความไม่สงบนั้น ยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ยุคที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกฯ เคยมีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 12 คน ติดต่อผ่านมาทางตนเพื่อขอเข้ามอบตัว แต่รัฐบาลนั้นก็ไม่เห็นด้วย เรื่องจึงเงียบหายไป
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ยิงครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตนได้เรียนเรื่องนี้ไปกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปยังโลกมุสลิม เพื่อบอกให้ทราบถึงรายละเอียดเรื่องการยิงครู ที่จะเป็นหนึ่งในการกดดันผู้ก่อเหตุ ตามยุทธศาสตร์โลกล้อม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มที่ก่อเหตุยิงครู น่าจะเป็นกลุ่มจูแว หรือกลุ่มนักสู้เพื่อเอกราชปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดรุนแรง และไม่ต้องการอยู่ร่วมชนชาติศาสนาอื่น ฉะนั้นจะต้องมีการจับตามองเป็นพิเศษ
ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกำชับนโยบายในการดูแลความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ และติตามสถานการณ์การด้านความมั่นคง ร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร.และผู้บัญชาการ(ผบช.)หน่วยต่างๆ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ที่ผ่านมา ผบ.ตร.ได้มอบนโยบายในการดูแลความสงบเรียบร้อย ช่วงเทศกาลปีใหม่ไว้ดีแล้ว ตนเพียงมากำชับ มาขอร้องตำรวจให้ทำงานหนักในช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้องเสียสละ พักไม่ได้ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนมากกว่าวันปกติ
“ช่วงปีใหม่ ต้องมาย้ำให้ระวัง อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่มีงานเคานต์ดาวน์ หากมีใครทำอะไรไม่ดีไม่ได้ ตอนนี้เป็นห่วง แม้ยังไม่มีการข่าวแจ้งเตือน ปีนี้จะมีระเบิดแบบที่เคยเกิด 9 จุด ไม่ได้ ปีนี้ต้องป้องกันดี การข่าวเข้มแข็ง ผมมั่นใจว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไร หากมีก็จับได้ ยังไม่มีการข่าวถึงขนาดมีผู้ไม่หวังดีจะมาก่อเหตุ แต่ตำรวจต้องพร้อมทุกด้าน ซ้ายขวาหน้าหลัง ขณะที่ในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้ เมื่อวานผมเรียก ผอ.สำนักข่าวกรองฯ มาถามก็ยังไม่มีอะไรน่าห่วง แม้มีข่าวความเคลื่อนไหวหรือไม่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ประมาท เติมเต็ม วันนี้จะประชุมเรื่องแก้ปัญหาภาคใต้ ตอนนี้ผมมีตำแหน่งดูแลเต็มที่แล้ว ศึกษา ทำเต็มที่” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว