xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้USไม่ป่วนค่าเงินบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุสหรัฐบรรลุข้อตกลงการแก้ไขปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐ (Fiscal Cliff) ระยะสั้นช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น ค่าบาทและเงินทุนไหลเข้าออกไทยยังปกติ แนะให้จับตาอีก 2 เดือนข้างหน้า คลังเห็นพ้อให้จับตาผลกระทบจากนโยบายลดรายจ่าย เพื่อแลกกับการขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะต่อไป จะกระทบส่งออกของไทยหรือไม่


จากการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงคะแนนเสียงผ่านร่างกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาทั่วโลกมองเป็นปัจจัยบวก ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นไทยและในภูมิภาคนี้เช่นกันในระยะสั้นช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น แต่ระยะยาวเหมือนกับการซื้อเวลาไปอีก 2 เดือน สหรัฐฯ เองยังมีอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องแก้ไขอีก จึงจำเป็นที่ต้องหาข้อยุติในมาตรการต่างๆ
“ตลาดการเงินโลกมองว่าเป็นข่าวดีเหมือนบรรลุข้อตกลงชั่วคราวได้ แต่ยังต้องรอดูว่าการเจรจาของสหรัฐอีก 2 เดือนข้างหน้าจะบรรลุข้อตกลงอย่างไรและจะมีผลต่อตัวเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไรบ้าง” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวและว่า หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวออกมาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังปกติดีอยู่

***จับตาส่งออกลุ้นนโยบายลดรายจ่าย
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะให้ประโยชน์แก่ประชาชนระดับกลางถึงล่างของสหรัฐฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีที่มีอยู่ประมาณ 90% ของประชากรให้เสียภาษีในอัตราเดิม แต่ประชาชนที่มีรายได้สูงมากกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ จะเสียภาษีในอัตราที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ส่งผลต่อภากบริโภคในสหรัฐฯ มากนักเนื่องจากกลุ่มผู้มีรายได้ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีมีจำนวนเพียง 2-3% ของจำนวนประชากรเท่านั้น
แต่สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในอีก 2 เดือนข้างหน้าคือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่ร่ายกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วคือ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นภาษีและลดงบประมาณการใช้จ่ายลงเป็นจำนวนมาก เพื่อแลกกับการขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันเต็มเพดานอยู่ที่ 105.5% ของจีดีพีหลังการขยายเพดานหนี้ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา โดยเป็นหนี้สาธารณะเฉพาะของรัฐบาลกลาง 73% ส่วนที่เหลือเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น
“สิ่งที่ สศค.เฝ้าจับตาเป็นพิเศษคือในช่วง 2 เดือนข้างหน้าคือการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งหากมีการปรับลดงบประมาณรายจ่างด้านอื่นๆ ทั้งหมดลงยกเว้นงบประมาณด้านความมั่นคงแล้วอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการบริโภคของประชาชนได้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลมายังประเทศไทยได้โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” นายบุญชัยกล่าว
แต่ สศค.คาดการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คงจะไม่ปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงมากนักโดยอาจมีเงื่อนไขในการปรับลดงบประมาณที่ยาวออกไปหลายปีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่จะได้รับผลกระทบโดยทันทีหากมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น