xs
xsm
sm
md
lg

พิษค่าแรง300จ่อเลิกจ้างอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สศอ.” เผยผลการศึกษาและสำรวจจากเอกชนถึงการรับมือลดผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ส่งสัญญาณชัดด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือลดปริมาณต่อหน่วยลง ย้ายฐานผลิตไปเพื่อนบ้าน ลดจ้างงานลงคาดอยู่ในระดับ 2 แสนราย

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการศึกษาผลกระทบการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56 ว่า ค่าแรงที่ปรับขึ้นจะทำให้ต้นทุนรวมของการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.38% ซึ่งแนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญคือการขึ้นราคาสินค้า หรือคงราคาแต่ลดปริมาณต่อหน่วยลง การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การย้ายฐานไปเพื่อนบ้าน และหากที่สุดไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะลดการจ้างงานลงซึ่งจากการศึกษาค่าแรงจะกระทบให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.97% ซึ่งจะทำให้การจ้างงานรวมลดลง 3.8% หรือจะส่งผลกระทบต่อแรงงาน 2 แสนคน

“ ส่วนของแรงงานนั้นผลกระทบอาจไม่มาก เนื่องจากแรงงานในระบบของไทยขณะนี้มีภาวะขาดแคลนอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เองก็พร้อมที่จะย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหรือปรับตัวได้ดีกว่า แต่สิ่งที่น่าห่วง คือธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)
ที่ใช้แรงงานเข้มข้นถ้าป้อนตลาดในประเทศควบคู่ส่งออกเมื่อสินค้าราคาเพิ่มแต่ปรับราคาไม่ได้ก็จะอยู่ยาก” นายณัฐพลกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมสูงที่สุด 19.17% หลังปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้วทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 24.44% โดยมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 7.73% รองลงมาคืออุตสาหกรรมอาหารที่ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 6.12% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางอุตสาหกรรมปี 2556 นั้นคาดว่า จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4-5% ลดลงจากปี 2555 ที่การขยายตัวคาดว่าจะอยู่ระดับ 5.5-6.5 % และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) จะขยายตัว 3.5-4.5% จากปีนี้ที่อยู่ระดับ 2.5-3% โดยมีปัจจัยบวกจากการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะมีสูงถึง 2.5 ล้านคัน และยังรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากรถยนต์ เช่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวตามภาวะการก่อสร้างโครงการของรัฐและเอกชน เช่น ปูนซิเมนต์ เหล็ก และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องติดตามใกล้ชิดได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่กำลังก้าวสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิต ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่สูง อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังที่เป็นเอสเอ็มอีประมาณ 20-30% ไม่สามารถปรับตัวได้จากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่ม ขณะที่สินค้าแฟชั่นที่ส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรปกำลังทำให้ยอดส่งออกลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น