สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ไตรมาส 3 ติดลบ 10.2% ใช้กำลังการผลิต 65.5% จากการส่งออกหดตัว คาดไตรมาส 4 การผลิตมีโอกาสฟื้นตัว เตรียมปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตฯ ทั้งปี 55 เหลือแค่ 5-6%
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ไตรมาส 3 ปี 2555 ติดลบ 10.2% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.5% โดยค่าดัชนีเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2555 อยู่ที่ระดับ 176.44 ติดลบ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยที่ต้องผลิตลดลงน้อยเพราะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มหดตัว
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ในไตรมาส 3 กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับติดลบ 8.7% อุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบติดลบ 12.6% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ติดลบ 9.9% และผลิตภัณฑ์ยางติดลบ 16.0%
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสำคัญในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2555 ได้แก่ อาเซียนติดลบ 0.4% จีนติดลบ 0.6% ญี่ปุ่นติดลบ 2.1% ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบติดลบ 18.9% และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 19.6% ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในเมืองไทยลดน้อยลง
สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขาที่ได้รับผลกระทบมากในไตรมาส 3/2555 ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารติดลบ 27.7% รวม 9 เดือนติดลบ 22.9% และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 7.7% ส่วนอุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ ไตรมาส 3 ติดลบ 14.40% รวม 9 เดือนติดลบ 30.71% คาดทั้งปีติดลบ 21.74%
“จากผลกระทบที่ผ่านมาทำให้ สศอ.ต้องปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลงทั้งปี 2555 เหลือ 5-6% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6-7% โดยจีดีพีอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับ 5.5-6.5% เนื่องจากคาดว่าไตรมาส 4 การผลิตจะเติบโตอย่างมาก เนื่องจากช่วงเดียวกันของปี 2554 การผลิตหดตัวลงเพราะน้ำท่วม ปีนี้ไตรมาส 4 ตัวเลขจึงเป็นบวก ทำให้ภาพรวมทั้งปีตัวเลขยังคงเป็นบวก”
อย่างไรก็ตาม สศอ.คาดการณ์การผลิตปี 2556 โดยคาดว่าเอ็มพีไอจะยังขยายตัวอยู่ที่ 3.5- 4.5% ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวที่ 4-5% เนื่องจากตลาดในประเทศจะยังเติบโต และจะมีการลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงโดดเด่นเหมือนเดิมและจะเป็นตัวขับเคลื่อนภาคการผลิตของไทย