xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล VS ข้าราชการ

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ไพศาล อินทสิงห์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขึ้นชื่อว่ารัฐ (รัฐบาล) ย่อมต้องมีกลไกของรัฐ (ข้าราชการ) เป็นของคู่กัน

ข้าใจอันดี มีขัดแย้ง (บ้าง)

แต่ล้วนทำประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศชาติ

รัฐบาล ถือเป็นข้าราชการการเมือง มาแล้วไปตามวาระ 4 ปี เรียกว่า ถ้าไม่มีอุบัติเหตุการเมืองใดๆ ก็อยู่ได้ครบเทอม แล้วเลือกตั้งใหม่

ใครชนะ เป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหาร

ใครแพ้ เป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบ วงจรเป็นเช่นนี้

ที่ผ่านๆ มา ผลัดแพ้ ผลัดชนะ เป็นเช่นนี้เอง ถือเป็นกติกาประชาธิปไตย สรุปเข้าใจง่ายๆ สั้นๆ อย่างนั้น ก่อนหน้านั้น เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาวันนี้ เปลี่ยนเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นใคร ก็ว่ากันไป

ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ดีทั้งนั้น เพราะมาสร้างประโยชน์ มาพร้อมนโยบาย มาด้วยเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า ประชาชนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภค กลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนยากคนจน หรือคนด้อยโอกาส ฯลฯ

เอาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ก็ได้หลายนโยบายแล้ว ทำไม่หวาดไหว อีกทั้งครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่มีตกหล่น

อยากเห็นผลงานใหม่ๆ ความสำเร็จใหม่ๆ เกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ อย่างไร ก็ว่าไป

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนั้น ก็คือ กลุ่มข้าราชการ หรือกลไกของรัฐ ถือเป็นมือทำงานให้รัฐบาล เป็นผู้นำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติร่วมกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าว

ขณะที่รัฐบาลก็ควรต้องมีนโยบายดูแลช่วยเหลือ และส่งเสริมข้าราชการให้ดีขึ้นด้วย

มิใช่แปลว่า ที่เป็นอยู่วันนี้ไม่ดี หากเป็นไปได้ ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะดี หรือไม่ ประการใด ทั้งยังสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบท สภาพการณ์ที่เป็นไป

คู่แข่งไปไกลแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงไหน จะทำอย่างไร

โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่เช่นนั้น กลายเป็นว่า เราก้าวตามไม่ทันโลก

ก้าวตามไม่ทัน ถ้าไม่กระทบ ก็ไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริง ทำให้เรากระทบเสียหาย เสียเปรียบในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

เอาง่ายๆ เรื่องการค้า การขาย ถ้าเกษตรกร หรือผู้ประกอบธุรกิจของเราไม่ทัน จะเกิดอะไรขึ้น ส่งออกสินค้าเกษตรไปขาย ก็ได้ราคาต่ำ เจรจาอะไรก็เสียเปรียบ ฯลฯ

นี่แค่เศรษฐกิจเรื่องเดียว ไหนจะเรื่องอื่นๆ อีกล่ะ? ทั้งการเมือง การศึกษา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น

เป็นอื่นไปไม่ได้ รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนทุกๆ กลุ่มดีขึ้น เก่งขึ้น เท่าทันขึ้นทุกๆ มิติ ส่วนจะทำอย่างไร อยู่ที่ผู้นำรัฐบาล จัดไป จัดเต็ม หรือจัดหนัก

โดยเฉพาะข้าราชการ กลไกของรัฐ ต้องเก่ง เป็นมืออาชีพ

ถามว่า เก่งแค่ไหน คำตอบ คือ เก่งพอที่จะรับมือ รับลูก ทันความคิด ความพลิ้วของผู้นำรัฐบาล ผู้นำกระทรวง นักการเมือง

ถ้ามีช่องว่าง ห่างชั้น จะเป็นมือทำงานให้รัฐบาลสำเร็จลุล่วงตามนโยบายที่มอบหมายได้อย่างไร

รัฐบาล และข้าราชการ จึงต้องไปด้วยกัน มองตา รู้ใจ

รัฐบาลส่งลูก ข้าราชการรับลูก

ข้าราชการหนุน รัฐบาลนำ

กล่าวถึงข้าราชการ มีทั้งระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไล่เรียงตามซี สูงสุดปลัดกระทรวง ซี 11 ลงมาซี 1 (เดี๋ยวนี้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบแท่งแล้ว แท่งนั้น แท่งนี้ ช่างจะคิด)

ระดับสูง เราไม่ห่วง เพราะท่านพลิ้วพอ

เป็นห่วงก็แต่ซี 1-6 รวมถึงพนักงาน ลูกจ้างชั่วคราว เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ซึ่งในยุคใหม่ จำเป็นที่บุคลากรกลุ่มนี้ ต้องสร้างทักษะ ประสบการณ์ ความพลิ้ว

มิเพียงทำงานแบบเดิมๆ ทำเหมือนเดิมไปวันๆ

ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อการทำงานที่ถูกต้อง แม่นยำ ได้ผล(ของ)งานสูงขึ้น มีมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น

ตอบโจทย์กรม กระทรวงไปจนถึงรัฐบาล

บางครั้งก็ต้อง(ฝึก)คิด และมองในมุมอธิบดี ปลัดกระทรวงให้เป็น ไม่เช่นนั้น จะไม่เข้าใจความต้องการของอธิบดี ปลัดกระทรวง

งานจะออกมาไม่ดี ไม่มีคุณภาพ (เท่าที่ควร) เพราะทำไป นึกต่อต้านในใจไป

ปกติการมอบนโยบายรัฐบาล ก็จะมอบข้าราชการระดับสูง ปลัดกระทรวง อธิบดี รวมถึงแผน โครงการ กิจกรรม ต้องการอะไร หวังเห็นผลอย่างไร

ก่อนจะสั่งการเป็นทอดๆ ลดหลั่นลงไป กระทั่งถึงผู้ปฏิบัติสุดท้ายในสายงาน หรือสายการบังคับบัญชา

งานต่างๆ จึงมักไปกองอยู่ตรงนั้น นโยบายอะไรๆ ก็ลงไปที่นี่

เอาเข้าจริง บุคลากรระดับล่างกลุ่มนี้ เป็นผู้ปฏิบัติตัวจริง เสียงจริง หรือไม่ ประการใด ไม่แน่ใจ?

ใช้งานเขาแล้ว ดูแลเขาอย่างไร ในฐานะที่เขาเป็นกลไกของรัฐ

ผู้นำรัฐบาล(อาจ)ไม่เคยลงมาสัมผัสสัมพันธ์บุคลากรกลุ่มนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็เป็นไปได้ ไม่แน่ใจ?

หรือเคย ก็น้อย (กว่าที่ควร)

ถามว่า จำเป็นมั้ย

คำตอบ คือ สัมผัสได้ ก็ได้ใจ

รัฐบาล ข้าราชการระดับสูง เปรียบดังยอดพีระมิด บุคลากรระดับล่างกลุ่มนี้เปรียบดังฐานพีระมิด ส่วนฐานหนุนนำ ค้ำชูส่วนยอดฉันใด ก็ควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ฉันนั้น หรืออย่างไร

ซึ่งสำคัญไม่น้อย และมีจำนวนมากกว่าข้าราชการระดับสูงยิ่งนัก สัมผัสระดับสูงได้ สัมผัสระดับล่างด้วย ดีมั้ย มิเพียงเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการบริหารในวันนี้ ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองในวันหน้า (เลือกตั้งครั้งหน้า) หรือไม่ ประการใด

หรือจะให้ปลัดกระทรวง อธิบดีในฐานะผู้บังคับบัญชา ว่าไป

มีคำถามชวนคิด : รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 ควรจะลงมาเหลียวแล เข้าถึง ให้กำลังใจข้าราชการระดับล่าง บุคลากรกลุ่มนี้ (บ้าง) ดีมั้ย? เพื่อรับรู้ รับทราบปัญหาความต้องการ มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ควรพบปะพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ มีอะไรขาดเหลือให้ช่วยหรือไม่ ประการใด

ฉีกแนวทางบริหารใหม่ๆ ไม่เห็นผิดกฎ กติกา มารยาทตรงไหน เป็นอะไรที่สร้างสรรค์อีกต่างหาก แสดงถึงความเป็นมิตรไมตรี และเป็นกันเองระหว่างผู้นำกับผู้ปฏิบัติ

ผู้นำยุคใหม่ ต้องนำด้วย (การสร้าง) ศรัทธา มิใช่นำด้วยอำนาจ (สั่งการ ใช้งาน)

ไม่ต้องชวนคิดแล้ว เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มแล้ว โดยลงมาประชุมร่วมกับ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. นายกสภาการพยาบาล นายกสมาคมพยาบาล ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล เลขาธิการชมรมสหวิชาชีพทางการแพทย์ และ น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา ประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว เพื่อหาทางช่วยเหลือ กรณีเครือข่ายวิชาชีพพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว เรียกร้องเรื่องการบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ให้เป็นข้าราชการ

ได้ข้อสรุปโดย สธ.จะดำเนินการทยอยรับตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว เป็นข้าราชการประจำในอัตราปีละ 7,547 อัตรา เป็นเวลา 3 ปี ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวขณะนี้มีอยู่ประมาณ 30,100 อัตรา และในส่วนที่เหลือจะปรับสภาพการจ้างเป็นพนักงานของ สธ. เพื่อที่จะทดแทนสิทธิประโยชน์ที่เสียไปจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งเป็นการชดเชยในระหว่างที่รอบรรจุเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจะช่วยเยียวยาสิ่งที่ได้เสียไปในอดีตรวมทั้งเป็นการช่วยสนับสนุนในเรื่องของวิชาชีพต่อไป (มติชน 5 ธ.ค.55)

นับเป็นมิติใหม่ทางการบริหารโดยผู้นำรัฐบาล ลงไปรับรู้รับทราบปัญหา ความต้องการ และแก้ไขปัญหาพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว

นี่ล่ะ “สร้างสุข สลายทุกข์” ของจริง

อย่างไรก็ตาม มิเพียงกลุ่มพยาบาล สธ.ยังมีกลุ่มอื่นๆ อาทิ บุคลากรโรงเรียนแพทย์ ในสังกัดกระทรวง ศึกษาธิการ พนักงานมหาวิทยาลัย กลุ่มวิชาชีพครู ฯลฯ

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ ขณะที่ชีวิตจริงยังมีปัญหาอื่นๆ อีกที่รอการแก้ไข มิเพียงเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการเท่านั้น

เชื่อว่า นายกรัฐมนตรี “เอาอยู่” หากมีนโยบายลงมาเหลียวแลทุกๆ กลุ่มด้วยความเป็นธรรม ทุกอย่างทำได้หมด ถ้าใช้หลักการบริหาร เว้นแต่ว่าจะทำหรือเปล่า มีวาระแอบแฝงอะไรหรือไม่

ขาดงบ ก็ใส่งบเพิ่ม ถ้าจำเป็น

ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ก็จัดหาจัดซื้อเพิ่ม ถ้ามีเหตุผล

ติดขัดระเบียบ ก็แก้ระเบียบ ถ้าทำให้ประชาชนดีขึ้น ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ทำไมจะทำไม่ได้ ตอนร่างระเบียบ ก็ร่างกันขึ้นมาไม่ใช่หรือ ร่างได้ ก็แก้ได้

แก้เพื่อประโยชน์ประชาชน มิใช่แก้เพื่อประโยชน์ตน ไม่มีใครว่า แต่กลับจะชื่นชมยกย่อง

ถูกทางยิ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 เป็นบทบาทผู้นำยุคใหม่ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลงมา โดยให้ปลัดกระทรวง อธิบดีว่าไป ดังที่กล่าวข้างต้น ย่อมไม่สามารถแก้ไข หรือดูแลช่วยเหลืออะไรได้เท่าที่ควร เพราะข้าราชการเป็นฝ่ายปฏิบัติ มิใช่ฝ่ายนโยบาย

ต้องอาศัยทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐบาล และข้าราชการ

ฝ่ายหนึ่งตัดสินใจ โดยอีกฝ่ายหนึ่งให้ข้อมูล

เป็นไปได้หรือไม่ หากจะชิงให้ก่อน (บ้าง) โดยไม่ต้องรอให้ประท้วงทวงถาม “มาประท้วงแล้วให้” กับ “ให้โดยไม่ต้องประท้วง” ต่างกันนะ

ส่วนการสัมผัสสัมพันธ์ข้าราชการระดับล่าง บุคลากรที่เป็นกลไกของรัฐกลุ่มอื่นๆ และการเข้าถึงปัญหาความต้องการ สารทุกข์สุกดิบ ความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆ จะเป็นอย่างไร

ต้องติดตามนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ : รัฐบาลไม่ควรลืมเหลียวแลกลุ่มที่ไม่ได้ออกมาเรียกร้อง ประท้วงทวงถามด้วย เพราะทุกๆ กลุ่มควรจะได้รับความเป็นธรรม ทัดเทียมกัน เป็นการปกป้องผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่ม จะได้ขึ้นชื่อว่า เป็นรัฐบาลธรรมาภิบาล ยึดหลัก “ถ้าเขาควรได้ แม้ไม่เรียกร้อง ก็จะให้”

ที่สำคัญกว่า : เมื่อรัฐบาลให้ท่านแล้ว ท่านจะให้อะไรรัฐบาลบ้าง!?

ที่สำคัญที่สุด : ทั้งรัฐบาลและข้าราชการ จะทำอะไรให้ประชาชน!?
กำลังโหลดความคิดเห็น