xs
xsm
sm
md
lg

อภิปรายยุคใหม่ อภิปรายเชิง PR ดีมั้ย?

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ฝ่ายค้านเกริ่นๆ นานแล้วว่า จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปลายเดือนพ.ย.นี้ที่รอคอยก็มาถึง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้เวลาขึ้นเวทีสภา

โดยมีประธานสภาเป็นผู้กำกับ ควบคุมการประชุม มีประชาชนผู้ชมดูอยู่ข้างเวที

ดูใคร ชอบใคร เชียร์ใครก็ว่ากันไป รักรัฐบาล ไม่ชอบฝ่ายค้าน รักฝ่ายค้าน ไม่ชอบรัฐบาล เชียร์ได้ไม่ผิดกติกาประชาธิปไตย

หรือทั้งไม่รัก ไม่ชอบใครเลย เพียงแค่ขอให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้วก็พอใจแล้ว รู้สึกเฉยๆ แค่เฝ้าดู ก็เชียร์ได้

อภิปรายนี้ เพื่อใครและเพื่ออะไร

ฝ่ายค้าน หวังผลน็อก หรือแค่น่วม มิอาจคาด

รัฐบาล หวังผลโต้กลับ หรืออธิบายตามจริง มิอาจเดา

เอาจริง หรือแค่เกม มิอาจพูด

จะอย่างไรก็ตาม ขึ้นเวทีแล้ว มีได้มีเสีย รุกไม่ดี อาจเป็นรับ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ถือเป็นอุปสรรคในตนเอง ซึ่งขึ้นกับ 2 ประการสำคัญ 1) หลักฐานข้อมูลที่ใช้ในการอภิปราย 2) วิธีการสื่อสาร

การอภิปราย ถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งซึ่ง ส.ส.ผู้อภิปรายท่านนั้นๆ ต้องพิจารณา และคำนึงถึงในการพูด จะยกหลักฐานข้อมูลเรื่องใด มาสร้างเป็นโจทย์ให้รัฐบาลตอบ จะต้องอธิบายชี้แจง สร้างความเข้าใจต่อเพื่อนสมาชิกต่อสภา ต่อประชาชนและสาธารณะให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ

ทางด้านรัฐบาลก็เช่นกัน

โดยเฉพาะเมื่อมีการถ่ายทอดทางสื่อด้วย ยิ่งต้องระมัดระวัง แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า ระดับนี้แล้ว จัดเจนเวทีไม่มีกังขา ขณะที่ก็ไม่แน่ใจ (บางท่าน) อาจตกม้าตาย ก็เป็นไปได้

สื่อสารดี ก็ดีไป สื่อไม่ดี อาจสับสน กลอนพาไปกลายเป็นพาดพิง หมิ่นประมาท นำไปสู่การฟ้องร้อง ก็เป็นไปได้อีก

มีคำถามชวนคิด : ควรจะอภิปรายยุคใหม่อย่างไร จึงจะบังเกิดผลดี เป็นศักดิ์ศรีสภา?

มองย้อนกลับไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในยุคสมัยที่ผ่านๆ มา ต้องยอมรับว่า คนจะนึกถึงภาพลบ ภาพความวุ่นวาย การประท้วง ตีรวน การใช้คำพูดไม่เหมาะสม มุ่งเอาชนะคะคาน

ขณะที่ไม่ค่อยได้เห็นภาพประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย เคารพเหตุเคารพผล ส.ส.ด้วยกันบางทีเอาไม่อยู่ ไม่มีใครฟังใคร

บ่อยครั้งประธานสภาเองยังเอาไม่อยู่ กว่าจะควบคุมการประชุมได้ เล่นเอาปวดหัว

บางทีเรื่องที่พูด ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่อภิปราย แต่ก็จะพูด ขุดคุ้ย กล่าวหาโจมตีกันไปมา ไม่เว้นกระทั่งเรื่องส่วนตัว

เรื่องงานแต่ซ้ำกลับไม่เท่าไร

ก็เลยทำให้ดูเหมือนเป็นการมาแฉกัน ใช้วาทะเล่นคำ เล่นสำนวนโวหาร เดี๋ยวลุกขึ้นประท้วงๆๆ ไม่ได้มีสาระอะไร

แทนที่จะได้ผลลัพธ์ผลงานจากการอภิปราย ก็ไม่ได้ ซึ่งเสียดายโอกาสประชาชนคนฟังการถ่ายทอดทั่วทั้งประเทศ

ในยุคใหม่ ทำอย่างไรจะให้การอภิปรายสร้างสรรค์ มีคุณภาพ ประชาชนได้แง่คิดดีๆ ที่น่าสนใจจากการพูดของ ส.ส.นักการเมืองแต่ละท่านในสภาที่ล้วนระดับผู้นำความคิด เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางที่จะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลบ้าง ในฐานะเจ้าของประเทศ

มีบางเหลี่ยมมุมชวนคิด : อภิปรายยุคใหม่ อภิปรายเชิงการประชาสัมพันธ์ ( PR ) ดีมั้ย? ซึ่งอยากชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันถึงบางมุมมองการอภิปราย เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมของเรา

ประการแรก เน้นการอภิปรายที่สื่อถึงเนื้อหาสาระในการบริหารนโยบายของรัฐบาลที่ได้กระทำไป โดยมองว่า การบริหารกับการประชาสัมพันธ์เป็นของคู่กัน การประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ขึ้นมากล่าว ขุดคุ้ยหลักฐานขึ้นมาอ้างอิง มิใช่พูดเลื่อนลอย ควรดูว่า มีงานอะไรบ้างที่รัฐบาลทำไปแล้วผิดพลาดบกพร่อง หรือมีปัญหาผลกระทบเสียหาย หรือล้มเหลว เป็นต้น

เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะการสำรวจตรวจสอบข้อมูลโครงการใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ที่ดำเนินการ มิใช่เรื่องผ่านมานานแล้ว เรื่องเก่าจบไปแล้วยังไม่ยอมจบ รวมถึงเรื่องส่วนตัว ยังนำมาพูดซ้ำอยู่อีก ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่ฝ่ายค้านก็รัฐบาล อาจเสียรังวัดเสียเองในสายตาประชาชน

อยู่ที่ ส.ส.ผู้อภิปรายแต่ละท่าน จะสื่ออะไร สื่ออย่างไร

ประการที่ 2 ควรเป็นการอภิปรายยุคใหม่ ที่เน้นซึ่งความสัมพันธ์อันดี มิใช่ความสัมพันธ์อันไม่ดี จ้องทำลายหรืออภิปรายแล้วสร้างความแตกแยก โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ที่เปราะบางเช่นนี้ แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย สีแดง สีเหลือง หลากสี มีม็อบ การชุมนุมต่างๆ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

วันนี้ สภาซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง ควรต้องค้ำชู หนุนนำให้ผู้นำความคิด ส.ส.ผู้ทรงคุณวุฒิ นักการเมือง ผดุงรักษาไว้ หรืออภิปรายที่สร้างความสัมพันธ์อันดี เป็นต้นแบบให้สังคม มิใช่ทะเลาะขัดแย้งกันเสียเอง ถ้าเช่นนั้นแล้ว สังคมจะพึ่งใคร

การอภิปรายเชิง PR เป็นการสื่อสาร 2 ทาง หาเหตุหาผลมาหักล้างข้อกล่าวหา ทั้งสองฝ่ายต้องฟังกัน ประสานความเข้าใจ ประนีประนอม ประท้วงต่อเมื่อมีเหตุผล มิใช่จู่ๆ อะไรไม่ได้ไม่ดี ก็ประท้วง เสียดายเวลาและโอกาสประชาชน

อยู่ที่ฝ่ายค้านยุคใหม่ จะทำการบ้านตั้งข้อกล่าวหาใด มาเป็นโจทย์ เช่น ความไม่ชอบมาพากล ทุจริต ไม่โปร่งใส แล้วสื่อสารอภิปรายออกไปให้สมกับที่ต้องการตรวจสอบ หรือซักฟอก รัฐบาลเมื่อฟังแล้ว ก็ต้องตอบ หรืออธิบายสื่อสารกลับอย่างตรงประเด็น

เอาใจเขามาใส่ใจเรา เขา เราสัมพันธ์อันดีต่อกัน ถือเป็นหัวใจของการสื่อสารประชาสัมพันธ์

เป็นผลดีที่รัฐบาลมีโอกาสชี้แจงต่อสภา สังคม และสาธารณะ ทำจริงอย่างไร ชี้แจงอย่างนั้น ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว เพราะเป็นประโยชน์จริง อภิปรายรื่นไหล พูดกี่ครั้งตรงกันทุกครั้ง แต่หากมีอะไรปกๆ ปิดๆ ซ่อนเร้น มีวาระแอบแฝง อภิปรายอย่างไรก็ไม่รอด ประชาชนจับโกหกได้ เพราะไม่ได้ทำจริง สื่อสารกี่ครั้ง มักจะไม่ตรงกัน

การอภิปรายเชิง PR เพื่อแก้ข้อกล่าวหาและสร้างความสัมพันธ์อันดี อยู่ที่ ส.ส.ผู้อภิปรายแต่ละท่าน จะให้ความสำคัญแค่ไหน อย่างไร

ประการที่ 3 ควรเป็นการอภิปรายยุคใหม่ที่เน้นเป้าหมายเชิงการประชาสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือแผ้วถางทางสร้างความเข้าใจไปข้างหน้า รับฟังปัญหา กำหนดความต้องการ กล่าวคือ ส.ส. นักการเมืองต้องการเห็นความสำเร็จใหม่ๆ ด้านใดให้อนาคตประเทศ ฝ่ายค้านและรัฐบาลอยากเห็นการทำงานการเมืองยุคใหม่เป็นอย่างไร การเมืองพัฒนาประเทศอย่างไร ควรใช้จังหวะโอกาสเวทีสภานี้ ใส่วิสัยทัศน์เข้าไปในการอภิปราย สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน จะดีหรือไม่ ประการใด

ฝ่ายค้านอาจแสดงวิสัยทัศน์ที่นำไปสู่การสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง หรือรัฐบาลอาจแสดงวิสัยทัศน์ในนโยบายที่จะพัฒนาต่อเนื่อง หรือต่อยอดอย่างไร

เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง พัฒนาก้าวไกล ทันสถานการณ์ ทันโลก มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศสูงขึ้น ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น

การอภิปรายเชิง PR จึงเป็นอภิปรายเชิงวิสัยทัศน์
กำลังโหลดความคิดเห็น