xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ติดปีกหลังเพิ่มทุน ขยายสินเชื่อ1.2ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ธ.ก.ส. วางแผนขยายสินเชื่อ หลังได้รับการเพิ่มทุน คาดภายใน 5 ปี สามารถกระจายเงินทุนเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรและชนบทได้มากกว่า 1.2 ล้านล้าน เน้นการให้สินเชื่อตามห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาทว่า เป็นการรองรับการขยายสินเชื่อตามแผนการดำเนินงานปกติ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของ ธ.ก.ส. คือ ตั้งแต่ปี 2555-2559 ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าอยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการขยายสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ในปีบัญชี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 795,479 ล้านบาท เป็น 884,377ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88,898 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 11.2 โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7,500 ล้านบาท และทำให้ ธ.ก.ส. มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 10 สูงกว่าระดับความมั่นคงตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50

ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2555 (1 เม.ย.2555-31 มี.ค.2556) กระทรวงการคลังได้จัดหาเงินทุนเพื่อซื้อหุ้น (ชำระค่าหุ้น) เพื่อเพิ่มทุน ธ.ก.ส. เป็นเงิน 2,592 ล้านบาท โดยใช้เงินปันผลที่ ธ.ก.ส.จ่ายให้กระทรวงการคลังตามผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา 1,842 ล้านบาท และใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ ธ.ก.ส.ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 750 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับทุนเรือนหุ้นที่ชำระไว้แล้ว 49,243 ล้านบาท ทำให้ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 51,835 ล้านบาท และเมื่อรวมกับกำไรสะสม เงินทุนสำรองตามกฎหมายและเงินกองทุนอื่นๆ อีก 35,413 ล้านบาท จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของ ธ.ก.ส.ในปีบัญชี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 87,248 ล้านบาท

"ครม.ยังได้มอบหมายให้คลังศึกษาแนวทางการจัดหาเงินทุนซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้แก่ ธ.ก.ส.ในส่วนที่เหลืออีก 8,165 ล้านบาท เพื่อให้ครบจำนวนทุนเรือนหุ้นจดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ 60,000 ล้านบาท โดยทยอยดำเนินการตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อรองรับการขยายสินเชื่อช่วงปี 2555-2559 ซึ่งจะขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 884,377 ล้านบาท เป็น 1,268,745 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท"นายลักษณ์กล่าวและว่า การขยายสินเชื่อของ ธ.ก.ส.จะเน้นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอกับความต้องการใช้สินเชื่อของเกษตรกรตามภาวะราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น การสนับสนุนสินเชื่อตามห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และการสนับสนุนสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น