xs
xsm
sm
md
lg

มทส.จับมือ สกว.วิจัยพัฒนาไก่เนื้อพันธุ์ “โคราชแท้” หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส  และ รศ.ดร. จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร  สกว. ร่วมลงนาม MOU ในการทำวิจัย โครงการการสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชน วันนี้ ( 6 พ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา -“มทส.” จับมือ “สกว.” ทุ่ม 26 ล้านบาทวิจัยพัฒนาไก่เนื้อสายพันธุ์โคราชแท้ “อร่อยเหมือนไก่ไทย โตทันใจเหมือนไก่ฝรั่ง” เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ภายใต้การพัฒนาอย่างไม่เคยหยุดยั้งของกลุ่มบริษัทเอกชน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ พร้อมด้วย รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ผศ.ดร.สุเวทย์ นิงสานนท์ คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการทำวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ไก่ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง การจัดการ การแปรรูป การตลาด และสนับสนุนผลักดันการใช้สายพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่เข้มแข็งและยั่งยืนของกลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการการสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชน ระยะที่ 2

ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการเพื่อการผลิตเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชน ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือน พ.ย. 52-ต.ค. 55 เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 12 ล้านบาท จากความร่วมมือของ 4 องค์กรที่สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร นักวิจัยร่วม โดยผลงานวิจัยที่ได้ทำให้สามารถพัฒนาไก่แม่พันธุ์ มทส.1 ซึ่งมีคุณสมบัติการเป็นแม่ไก่เนื้อที่ดี เมื่อนำมาผสมกับไก่พื้นเมืองเหลืองหางขาวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ จะได้ “ไก่เนื้อโคราช” ที่มีลักษณะโดดเด่นเหนือกว่าไก่พื้นเมือง

ทั้งนี้คือ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 65-70 วันได้ไก่ที่แข็งแรง น้ำหนักประมาณ 1.2-1.3 กิโลกรัม/ตัว ใช้อาหารประมาณ 2.76-3.0 กิโลกรัม โดยเนื้อไก่มีรสชาติอร่อยเทียบเท่าไก่พื้นเมือง เรียกได้ว่า “อร่อยเหมือนไก่ไทย โตทันใจเหมือนไก่ฝรั่ง” ทำให้มีเกษตรกรขยายตัวเพิ่มกลุ่มจากเดิมที่บ้านซับตะเคียน และกลุ่มใหม่คือกลุ่มเกษตรกรอำเภอกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตลูกไก่เนื้อโคราชให้เกษตรกรได้ประมาณ 3,000-4,000 ตัวต่อเดือน

สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2 ทีมวิจัยมุ่งที่จะพัฒนาไก่สายพ่อและแม่พันธุ์และไก่เนื้อโคราชให้มีความสามารถในการเป็นเครื่องมือที่เข้มแข็งในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนของเกษตรกรในระดับวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของไก่เนื้อโคราช ราคาขาย ราคาวัตถุดิบอาหารไก่ การพัฒนาอย่างไม่เคยหยุดยั้งของกลุ่มบริษัทเอกชน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในการศึกษาในระยะที่ 2 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ให้การสนับสนุนนักวิจัย สถานที่ และงบประมาณวิจัยจำนวน 7 ล้านบาท และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสนับสนุนงบประมาณวิจัยจำนวน 7 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการวิจัยรวม 3 ปี

โดยคณะวิจัยได้เลือกกลุ่มเกษตรกรนำร่อง 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเกษตรกรจัดตั้ง คือกลุ่มเกษตรกรซับตะเคียน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเกษตรกรภายใต้การจัดการบริหารของสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มเกษตรกรซับตะเคียนเป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งของประเทศ และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรกัณทรวิชัยเป็นตัวแทนของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรของประเทศ ซึ่งเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกรณีศึกษาในเชิงเปรียบเทียบระดับประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น