xs
xsm
sm
md
lg

วันรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เราจะไปถวายพานพุ่มที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยยังไม่ใช่กติกาที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องการมีมาตรการในการรักษาอำนาจของตนเองไว้

วิธีการรักษาอำนาจก็คือ การไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเสรี ด้วยการไม่ยอมให้มีพรรคการเมือง แม้ว่าจะมีการเตรียมการให้คณะราษฎรเป็นพรรคการเมืองก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นไปเช่นนั้น เพราะคณะราษฎรเองทำการรัฐประหารมาโดยที่ประชาชนไม่ได้ให้ความสนับสนุน จึงไม่มีความมั่นใจว่า หากตั้งพรรคการเมือง และเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งแล้วจะเป็นฝ่ายชนะ นอกจากนั้นยังเกรงกลัวอิทธิพลของพวกเจ้านายอีกด้วย จึงเขียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง คณะราษฎรเองรู้ตัวว่ายังไม่มีความเป็นปึกแผ่น จึงพยายามสร้างมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเสริม เช่น มีพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การแบ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเป็นสองประเภท จำนวนเท่าๆ กันคือ ประเภทที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมกับประเภทที่มาจากการแต่งตั้ง สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งก็เป็นพรรคพวกของคณะราษฎรซึ่งได้รับการตอบแทน และคอยช่วยค้ำจุนรัฐบาล เพราะสมาชิกประเภทเลือกตั้งเองจำนวนมากก็เป็นฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน แม้จะมีสมาชิกซึ่งมีความเป็นอิสระหลายคน แต่ก็ไม่อาจสั่นคลอนรัฐบาลได้ แต่กระนั้นฝักฝ่ายในคณะราษฎรก็ทำให้เกิดความแตกแยก และความไม่มั่นคงในกลุ่มผู้ก่อการจนเกิดกรณีการกล่าวหา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และต่อมามีการรัฐประหาร ซึ่งทำให้คณะทหารเริ่มเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอย่างเต็มตัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกที่จะไม่ต่อสู้ด้วยกำลังกับคณะราษฎร แต่ทรงเลือกวิธีการคัดค้านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ดังมีพระราชปรารภว่า

เมื่อคณะผู้ก่อการได้ประกาศว่า จะขอพระราชทานให้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้น คนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนาทั่วไป แต่เมื่อกลายเป็นการยึดอำนาจกันเฉยๆ ไม่ได้ทำให้มีเสรีภาพในการเมืองมากขึ้น ก็กลายเป็นของขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ “Absolute” มิได้เสื่อมถอย เป็นแต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น เสรีภาพกลับน้อยลงไปเสียอีก เพราะต้องระวังจับกุมผู้ไม่พอใจ และปิดปากผู้ที่กล่าวร้ายรัฐบาล สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน ยังมีผู้นับถือเป็นส่วนมาก เพราะเคยชินมาแต่ปู่ย่าตายาย แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะ ย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไปเพราะกลัวอาชญา และกลัวรถเกราะและปืนกล น่ากลัวว่าความไม่พอใจจะมีอยู่เรื่อยไป

ที่จริงแล้วอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้มีมากจนล้นพ้น เพราะแม้ว่าประชาชนจะมีความเชื่อในบุญญาธิการของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ความเชื่อนั้นก็ทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นที่พึ่ง และความคาดหวังของราษฎรในทุกๆ เรื่อง ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

ส่วนที่ว่า ถ้าอะไรไม่ดีมักจะติ และโทษพระองค์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวนั้น เป็นธรรมดาไม่แปลกอะไร การสิ่งนี้ย่อมเป็นอยู่เสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงรับถูกซัดทุกอย่าง แม้ดินฟ้าอากาศวิปริตไม่ต้องตามฤดูกาลก็ยังถูกซัด เป็นของธรรมดาที่จะต้องรับความซัดทอดเหล่านั้นด้วยขันติ

ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐบาลมีอยู่ตลอดเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ของรัฐบาล และได้ทรงระบายความลำบากพระทัยว่า

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาป รับความซัดทอด และรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯ มิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม

ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม 2477 การสละราชสมบัติเป็นการแสดงออกซึ่งการคัดค้านรัฐบาลอย่างเต็มที่ นับแต่บัดนั้นมา รัฐธรรมนูญไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาธิปไตยซึ่งใช้เวลานานถึงครึ่งศตวรรษ
กำลังโหลดความคิดเห็น