เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พสกนิกรชาวเนเธอร์แลนด์ต่างเฝ้ารอคอยวันที่ 30 เมษายนที่กำลังจะมาถึงด้วยหัวใจจดจ่อ ด้วยเป็นวันที่มกุฎราชกุมาร วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น “กษัตริย์” พระองค์แรกในรอบ 123 ปี
มกุฎราชกุมาร วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ พระชันษา 45 ปี ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ “เจ้าชายแห่งออเรนจ์” จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ซึ่งทรงประกาศสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ซึ่งมีพระชนมายุ 75 พรรษา ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติแก่พระราชโอรส เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชินียูเลียนา ทรงกระทำเมื่อ 33 ปีก่อน การเปลี่ยนรัชกาลในปีนี้ยังมีความหมายพิเศษสำหรับชาวดัตช์ เนื่องจากเป็นปีที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์สถาปนาครบ 200 ปีอีกด้วย
มกุฎราชกุมารวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ และเจ้าหญิงแม็กซิมา พระชายา จะทรงเป็นกษัตริย์และราชินีซึ่งพระชนมายุอ่อนเยาว์ที่สุดในหมู่ราชวงศ์ยุโรปปัจจุบัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากรัชสมัยของพระองค์แล้วเนเธอร์แลนด์ก็จะกลับไปมีพระประมุขเป็น “ควีน” อีกครั้ง เนื่องจากว่าที่กษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ นั้นทรงมีพระธิดาถึง 3 พระองค์
วันที่ 30 เมษายนถือเป็นวันสำคัญสำหรับชาวดัตช์มาตั้งแต่ปี 1948 เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา ซึ่งชาวดัตช์ถือเป็น “วันราชินี” ทว่าหลังจากพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์ในปีนี้แล้ว วันที่ 30 เมษายน อาจต้องถือเป็น “วันพระมหากษัตริย์” ของชาวเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน
มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ พระราชทานสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงวันสำคัญว่า ทรงมีพระประสงค์แรงกล้าที่จะสืบทอดสถาบันกษัตริย์ดัตช์ซึ่งยืนยงมานานถึง 200 ปีแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็จะทรงเป็นกษัตริย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ประชาชนสามารถ “เข้าถึงได้”
“ประการแรก ข้าพเจ้าจะเป็นพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี จะสืบทอดธรรมเนียมของบูรพกษัตริย์ซึ่งทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่อง และเสถียรภาพของชาติ” เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ตรัสขณะพระราชทานสัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเนเธอร์แลนด์
เจ้าชายทรงเน้นว่า กษัตริย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของปวงชน และทรงพร้อมที่จะรับบทบาทใดๆก็ตามที่รัฐสภามอบหมาย ทรงตั้งพระทัยที่จะเป็น “กษัตริย์ผู้หลอมรวมสังคมให้เป็นหนึ่ง โดยเป็นตัวแทนและเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคมในศตวรรษที่ 21”
มร.โยฮัน บัว เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เอ่ยถึงพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีนี้ว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้คำว่า inauguration หรือ “พิธีเปิดตัว” แทนที่จะใช้คำว่า coronation ซึ่งหมายถึงการขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากต้องการสะท้อนมุมมองของชาวดัตช์ที่เน้นความสัมพันธ์แนวราบระหว่างกษัตริย์และประชาชน ซึ่งอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน และต่างมีพันธกรณีซึ่งกันและกัน
ฯพณฯ โยฮัน บัว กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์อันทันสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ก็คือ การที่ทรงเลือกสละราชสมบัติในช่วงเวลาอันเหมาะสมที่สุด และหลังจากนี้ ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ก็จะยังจดจำพระองค์ท่านในฐานะอดีตพระราชินีผู้ทรงเป็น “ที่ปรึกษา” ของชาติ ผู้ทรงวางรากฐานการพัฒนาอันมีคุณูปการต่อสังคมดัตช์อย่างมากมาย
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ โดยเชิญชวนให้ชาวดัตช์ผลิตผลงานศิลปะที่สะท้อนความทรงจำเกี่ยวกับรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดอย่างล้นหลาม โดยทางรัฐบาลได้คัดเลือกงานศิลปะที่สวยงามที่สุด 75 ชิ้นนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ “ภาพความทรงจำของพระราชินีเบียทริกซ์” ณ พระราชวังเฮทลู ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถได้เสด็จฯไปเปิดนิทรรศการดังกล่าวด้วยพระองค์เอง
บริษัท ฟาเบอร์แฟรก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีสำนักงานในประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ออกแบบธงสัญลักษณ์ในพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์ โดยมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระราชินีนาถเบียทริกซ์และว่าที่พระมหากษัตริย์บนพื้นสีธงชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งธงดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสถานทูตเนเธอร์แลนด์ทั่วโลกเพื่อประดับตกแต่งเนื่องในวโรกาสมหามงคลนี้