xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ยิ่งลักษณ์” ล่อเป้าเข้าร่วมTPP หลงกลเกมอำนาจสหรัฐฯ – จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผลประโยชน์มหาศาลในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งด้านการค้า การลงทุน และขุมทรัพย์พลังงาน ทำให้ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หวนกลับคืนมารื้อฟื้นความสัมพันธ์และผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) หรือทีพีพี เขตเศรษฐกิจใหม่ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนกลาง และหวังใช้ปิดล้อมจีน

ขณะที่ผู้นำแดนมังกรก็ท้าทายการกลับมามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ในย่านนี้ด้วยการประกาศในระหว่างการประชุมสุดยอมอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าการครอบครองทะเลจีนใต้ของจีนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

ทีพีพี จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีนัยเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจซ่อนเร้นอยู่ ดังที่ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี เป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ และป้องกันการรวมกลุ่มเอเชียตะวันออกซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ

ทีพีพี จะเป็นตัวกีดกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกที่อาเซียนบวกสาม กำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมดังกล่าว ซึ่งการรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ โดยจะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯปีละประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สหรัฐฯจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่ม และทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า คือ เป็นส่วนหนึ่งของ TPP

ขณะที่ที่ผ่านมา การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA ) หรือเอฟทีเอระดับทวิภาคีของสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ ประสบความล้มเหลว เช่นเดียวกับ Free Trade Area of the Asia-Pacific - FTAAP (21 เขตเศรษฐกิจ) ก็ล้มเหลวเช่นกัน สหรัฐฯ จึงกลัวว่าเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ จะทำให้อิทธิพลสหรัฐฯ ลดลง ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ คือการรื้อฟื้นเอเปกซึ่งมีหัวใจ คือ FTAAP และ TPP

ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดทีพีพีครั้งแรก 9 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชิลี มาเลเซีย เปรู เวียดนาม สหรัฐฯ ส่วนการประชุมสุดยอดทีพีพี ครั้งที่ 2 ที่ฮาวาย เดือนพฤศจิกายน ปี 2011 มีการตกลงเค้าโครงข้อตกลงทีพีพี ซึ่งจะลงนามภายในปี 2012 โดยมีประเทศญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก ประกาศจะเข้าร่วม ภายใต้กรอบข้อตกลงทีพีพีจะเป็นเหมือนข้อตกลงเอฟทีเอแต่มีมาตรฐานสูงกว่า โดยครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ และอาจเรียกได้ว่าทีพีพีจะเป็นเอฟทีเอที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และจะเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังล็อบบี้ประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วมทีพีพีให้มากขึ้นโดยมีเป้าหมายระยะยาวจะขยายจำนวนสมาชิกจนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดยกเว้นจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการค้าโลก จากสถานการณ์ปัจจุบันที่การค้าสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ลดลงเพราะมีเอฟทีเอทวิภาคีและพหุภาคีในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย ดังนั้นสหรัฐฯจึงเชื่อมั่นว่าทีพีพีจะเป็นเครื่องมือทำให้สหรัฐฯกลับมามีบทบาทครองความยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้ได้ ขณะเดียวกันก็จะเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนและป้องกันการรวมกลุ่มเอเชียตะวันออกซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ

สำหรับผลกระทบด้านดีของทีพีพีมองตามหลักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจจะมีการค้ากับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น การลงทุนจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตจะลดลง ส่วนผลกระทบด้านดีในทางรัฐศาสตร์นั้น จะเกิดผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์โดยที่ไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดสหรัฐฯ

ขณะที่ผลกระทบด้านลบ ผลเสียตามหลักเศรษฐศาสตร์ ด้วยทีพีพี มีมาตรฐานสูงจะกระทบต่อสาขาเกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน
ส่วนผลกระทบด้านลบในทางรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ จะครองความเป็นเจ้า ส่วนเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มไม่สำเร็จ และจะส่งผลกระทบต่อเอฟทีเอที่มีอยู่แล้ว คือ เอฟทีเออาเซียน+1, เอฟทีเออาเซียน+3, เอฟทีเออาเซียน +6 เป็นการลดบทบาทของอาเซียน โดยที่เอเปคมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมี FTAAP และ TPP สหรัฐฯได้ประโยชน์มากที่สุด นอกจากนั้นยังจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน

ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอท่าทีไทยว่า เมื่อการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย ยังไม่ชัดเจน ท่าทีไทยในขณะนี้จึงควร wait and see หากผลดีมากกว่าผลเสีย ไทยควรเข้าร่วมโดยปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนสมาชิกทีพีพี ถ้าหากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวแปรเปลี่ยนน้ำหนักของผลดี-ผลเสีย

“ไทยควรใช้นโยบายการทูตที่ใช้มาโดยตลอด คือ การดูทิศทางลม หากในอนาคตแนวโน้มประเทศเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยอาจต้องเข้าร่วม แต่ในขณะนี้ยังไม่จำเป็น” รศ.ดร.ประภัสสร์ สรุป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แถลงพร้อมเข้าร่วมทีพีพีเพื่อเป็นของขวัญแด่โอบามาในโอกาสที่มาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมาเรียบร้อย โดยไม่ได้มีการถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนล่วงหน้า และไม่ได้ฟังเสียงทัดทานของภาคประชาชนแต่อย่างใดทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก

หลังจากนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกเอกสารแถลงเพื่อชี้แจงกรณีทีพีพีในทำนองแก้เกี้ยวว่า สาระสำคัญที่รัฐบาลไทยแถลงร่วมกันในเรื่องการเจรจาข้อผูกพันทางการค้าทีพีพีนั้น เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมเจรจา ซึ่งจะต้องมีกระบวนการภายในประเทศเพื่อศึกษาผลกระทบในทุกมิติกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างจริงจัง โดยมีขั้นตอนก่อนการเสนอตามมาตรา 190 และหลังผ่านมาตรา 190 จากนั้นจึงจะนำผลการเจรจาทั้งหมดเสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนลงนามและมีผลบังคับใช้

คำถามคือ เรื่องนี้รอไว้ก่อนก็ได้ ยังไม่จำเป็นเข้าร่วม แล้วทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงต้องรีบแสดงเจตนาเอาใจสหรัฐฯ

การเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนของผู้นำสหรัฐฯ เพื่อแสดงตัวว่ามหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่กลับมาแล้ว นอกจากจะได้รับของขวัญล้ำค่าจากพันธมิตรอย่างไทย ที่ให้ทั้งความตกลง เข้าร่วมทีพีพีและความมั่นคงทางทหารแล้ว โอบามา ยังบินโฉบเยือนพม่าเป็นเวลา 6 ชั่วโมง สร้างประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ไปเยือนพม่า และประกาศเริ่มความสัมพันธ์ศักราชใหม่ โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะเป็นการแสดงท่าทีรับรองรัฐบาลเผด็จการทหารแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับว่านับจากนี้สหรัฐฯ จะมีโอกาสเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินพม่าที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน จากที่ผ่านมาจีนเข้าครอบงำเศรษฐกิจพม่าจนแทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับสหรัฐฯ

“การเดินทางที่สำคัญนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังจะต้องไปข้างหน้าอีกไกลมาก ... ความก้าวหน้าอันน่าพิศวงต่างๆ ที่เราได้เห็นจะต้องไม่ถูกดับมอด แต่จะต้องกระชับให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำว่า การเยือนครั้งนี้มิใช่ใช่การรับรองระบอบปกครองพม่า แต่เป็นการยอมรับในกระบวนการปฏิรูป ทั้งยังเปิดเผยขณะแถลงร่วมกับประธานาธิบดีเต็งเส่งว่า สองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะปฏิรูปการเมืองต่อไป พร้อมกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ภาพสำคัญที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกที่สุดประทับใจในการเยือนพม่าของผู้นำสหรัฐฯ กลับไม่ใช่ภาพสองผู้นำโอบามา-เต็ง เส่ง แต่เป็นภาพโอบกอดและจุมพิตออง ซาน ซูจี ของโอบามาที่แสนจะอบอุ่น

ทริปพญาอินทรีเหยียบถิ่นอาเซียนปิดฉากลงที่เวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ด้วยความดุเดือด เมื่อมีการปะทะคารมและตอกย้ำจุดยืนต่อปัญหาทะเลจีนใต้ระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำสหรัฐฯ

โดยผู้นำจีนประกาศว่าการครอบครองทะเลจีนใต้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม “การกระทำของจีนในการปกป้องอธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น และมีความชอบธรรม.. และเราจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จีนไม่ได้ก่อขึ้นได้เป็นอย่างดี” รมช.ต่างประเทศจีน อ้างคำกล่าวของผู้นำจากปักกิ่งในที่ประชุม และจีนยังบอกให้สหรัฐฯ อยู่ห่างๆ จากความขัดแย้งนี้

ขณะที่นายบารัค โอบามา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิพาททะเลจีนใต้ใช้ความอดทน และอดกลั้น และท้าทายฝ่ายจีนที่ประท้วงต่อการเข้ายุ่งเกี่ยวของสหรัฐฯ

นายโอบามา ได้ให้น้ำหนักต่อการประกาศครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดย ฝ่ายจีน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลสะท้านสะเทือนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการทูต เช่นเดียวกันกับปัญหาพิพาทระหว่างจีน ญี่ปุ่น กับเกาหลี เหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในแปซิฟิกซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าประธานาธิบดีโอบามาได้ส่งสารแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องลดความตึงเครียดลง.. เพื่อประกันว่า ความขัดแย้งเหล่านี้จะไม่แพร่ขยาย” นายเบน โรดส์ ผู้ช่วยอาวุโสคนหนึ่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและนำไปสู่การขัดแย้งมีสูงขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายด้านการทหารในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้สูงขึ้น และความรู้สึกชาตินิยมก็เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่ต่างก็กล่าวอ้างสิทธิของตนในทะเลจีนใต้

จุดดึงดูดของทะเลจีนใต้อยู่ที่ขุมทรัพย์พลังงาน โดยองค์การบริหารข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ ได้ระบุในรายงานปี 2551 ประมาณว่าทะเลจีนใต้จะมีน้ำมันที่พบแล้วและยังไม่พบอยู่สูงถึง 213,000 ล้านบาร์เรล ตัวเลขนี้สูงกว่าทุกประเทศที่พบปริมาณสำรอง ยกเว้นซาอุดีอาระเบียกับเวเนซุเอลา

นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นในการหวนกลับมามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ในย่านเอเชีย-แปซิฟิก พื้นที่ที่มีจีนแสดงบทบาทเป็นพี่เบิ้มแห่งโลกตะวันออกครอบครองอยู่ นับจากนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้นำของไทยจะมีความสามารถถ่วงดุลอำนาจของสองชาติมหามิตรที่ยิ่งใหญ่อย่างไรที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาว่าโน้มเอียงไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น