xs
xsm
sm
md
lg

เคาะซักฟอก รบ.ปู 30 ชม. สว.เดินหน้าอภิปราย 23-24 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19 พ.ย.55) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงผลการประชุมวิปรัฐบาลว่า วิปรัฐบาลได้ตกลงกับวิปฝ่ายค้านว่า เมื่อฝ่ายค้านขอเวลามา 30 ชั่วโมง ทางวิปรัฐบาลก็ไม่ได้ติดใจอะไร ซึ่งจะจัดให้มีเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด 30 ชั่วโมง ซึ่งรัฐบาลขอเวลาชี้แจง 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งองครักษ์แต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารทำหน้าที่ชี้แจง ในประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งประเด็นสงสัยมา
ส่วนการเตรียมเวลาเผื่อการประท้วงนั้น วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านไม่สนับสนุนให้มีการประท้วง ก็จะไม่มีการเผื่อเวลาเอาไว้ แต่หากมีผู้ใช้สิทธิประท้วง ก็จะบริหารเวลาในส่วนที่เหลือ ถ้ามีการใช้เวลาประท้วงหรือพาดพิง ก็จะขยายเวลาเพิ่มในแต่ละวันออกไป ที่คิดกันไว้ว่าจะเลิกอภิปรายประมาณ 5 ทุ่ม อาจจะยืดออกไปบ้าง ส่วนกรอบการอภิปรายของ ส.ว. วิปรัฐบาลได้ดูตารางการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสนอความเห็นไปแล้วว่าเวลาที่เหลืออยู่คือวันที่ 23 และ 28 พ.ย. โดยเบื้องต้นจะอภิปรายในวันที่ 28 พ.ย.
"กรณีที่ ส.ว.บรรจุวาระว่า จะมีการอภิปรายในวันที่ 23-24 พ.ย.เป็นเรื่องของการประชุมของ ส.ว.อยู่แล้ว แต่เพียงบังเอิญมีการเชิญฝ่ายบริหารด้วย ซึ่งทุกวันนี้ ส.ว.ก็ประชุมกันเอง แล้วมีการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ถามเลยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่างหรือไม่ ดังนั้น กระบวนการตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะชี้แจงว่า จะไปได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าในการประชุมครม.ในวันที่ 20 พ.ย. จะหยิบยกประเด็นนี้มาพิจารณาว่า จะพอมีเวลาให้ ส.ว.ทำหน้าที่เพิ่มเติมได้หรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามหาเวลาที่เหมาะสมให้ ผมตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามอะไรหรือไม่ ที่ ส.ว.ส่วนหนึ่งจะให้มีการประชุมให้สอดคล้องกับที่ผู้ชุมนุมเขากำหนดเวลาไว้ก่อนหน้านี้" นายอุดมเดชกล่าว
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรชพานิช ปะธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหรือ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวว่า ขอชื่นชมประธานวุฒิสภาที่บรรจุวาระการประชุมอภิปรายทั่วไปในวันที่ 23-24 พ.ย. เป็นเรื่องด่วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา161 เพราะจะได้เป็นแนวทางต่อไปของวุฒิสภาในการพิจารณาญัตติเช่นนี้ แต่ถ้าจะให้ดีในคราวหน้าไม่ควรจะเกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ส.ว.ยื่นญัตติจะดีกว่า เนื่องจากเหล่าส.ว.ได้เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. และได้รับปากว่าจะได้อภิปรายในสิ้นเดือน ต.ค. แต่ต้องรอถคึง 47 วัน จึงจะได้อภิปราย จึงถือว่าล่าช้าไปมาก ส่วนที่คณะรัฐมนตรีทั้ง 365 ท่าน อยู่ห่างจากรัฐสภาเพียงไม่กี่เมตร ถ้าจะไม่ว่างมาตอบญัตติการบริหารราชการแผ่นดินต่อวุฒิสภา ถ้าไม่เรียกว่าเป็นการละเลยปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอย่างไร อย่างไรก็ตาม ทราบว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย. ตรงกับการประชุมของวุฒิสภา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากอภิปรายในวันที่ 23 พ.ย. ก่อน แล้วค่อยไปต่อวันที่ 28 พ.ย. จะดีกว่าหรือไม่
ก่อนหน้านายนิคม ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้ได้มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมวันที่ 23-24 พ.ย. แล้ว และการประชุมดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือ 1.แม้จะไม่มีคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟัง แต่หากมติที่ประชุมเห็นสมควร ก็จะเป็นการอภิปรายฝ่ายเดียว หรือ 2.หากสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่ามีความจำเป็นที่คณะรัฐมนตรีต้องร่วมรับฟังด้วย ก็อาจจะเลื่อนนำเอากฎหมายที่ค้างพิจารณามาดำเนินการก่อน และไปเริ่มอภิปรายตามมาตรา161 ในวันที่ 28 พ.ย. แทน ทั้งนี้ ทางวุฒิสภาได้มีการแจ้งความประสงค์ในการอภิปรายวันที่ 23-24 พ.ย. ต่อคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน คาดว่าจะได้รับคำชี้แจงตอบกลับภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า การอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาสอดคล้องกับการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่มี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นแกนนำนั้น นายนิคม กล่าวว่า การอภิปรายในส่วน ส.ว.กับการชุมนุมไม่เกี่ยวข้องกัน และเท่าที่ติดตามข่าวเชื่อว่าการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามไม่มีเหตุรุนแรง อีกทั้ง ส.ว.ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ผู้ชุมนุมจะต่อต้าน ดังนั้นถึงจะมีการประชุมในวันดังกล่าวก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนการรับมืออภิปราย โดยเฉพาะประเด็นทุจริต 1.2 พันล้านของกรมเจ้าท่าสมัยพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก วันเดียวกัน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมเจ้าท่า ตอนนึ่งว่า ต้องศึกษาเงื่อนไข TOR ให้รอบคอบ ถ้าจำเป็นก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าเห็นว่าของเดิมดีอยู่แล้วก็ให้ชี้แจงมา เพราะต้องนำข้อมูลไปชี้แจงต่อสภาด้วย ซึ่งโครงการขุดลอกฟื้นฟูร่องน้ำที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 จำนวน 26 โครงการ ที่ถูกร้องเรียนขณะนี้แม้หลายสัญญาจะเสร็จแล้วแต่ยังเบิกจ่ายเงินไม่ได้ เพราะต้องรอการตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนเพื่อความรอบคอบ”นานประเสริฐกล่าวและว่าให้เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลสำหรับประกอบการตอบข้อซักถาม การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ และในส่วนของวุฒิสภาวันที่ 28 พ.ย. โดยให้ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความน่าเชื่อถือ
ด้านนายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า โครงการขุดลอกของกรมเจ้าท่า ได้รับการยกเว้นเรื่อง การรับประกันผลงาน จากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เนื่องจากงานมีข้อจำกัดด้านธรรมชาติ หากกำหนดจะไม่มีผู้รับเหมาเข้ามารับงาน ส่วนการขุดลอกฟื้นฟูร่องน้ำที่ประสบอุทกภัย 26 โครงการวงเงิน 1,215 ล้านบาท ขณะนี้แล้วเสร็จ18 โครงการ ที่เหลือ 8 โครงการ มีความล่าช้า และเริ่มปรับผู้รับเหมาแล้ว
ขณะที่นายสมชาย จันทร์รอด หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง 26 โครงการขุดลอกกล่าวว่า ได้ตั้ง 5 ประเด็นสอบสวนเริ่มตั้งแต่การตั้งงบประมาณ การกำหนด TOR ข้อเสนอการคัดเลือก การตรวจรับงานและการกำกับดูแล รวมถึงการปฏิบัติงานในส่วนของรัฐและเอกชน ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป
อีกด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เชิญตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าชี้แจงเรื่องเงินบริจาคน้ำท่วมในปี 53 ว่า วันนี้ (19พ.ย.) เวลา 9.30น.ตนได้เดินทางเข้าชี้แจงเป็นครั้งที่3 แล้ว ซึ่งเป็นที่ผิดสังเกตว่าการที่พนักงานของ ดีเอสไอ กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ประวิงคดี ไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าให้ข้อมูล ทั้งที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือมาตลอด แต่เอกสารที่ทาง ดีเอสไอ ขอมาเป็นเอกสารที่อยู่ในช่วงช่วงปี 50 ถึง 55 จึงจำเป็นต้องมีการจัดเตรียม เพราะมีอยู่เต็มตู้คอนเทรนเนอร์ นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวในเรื่องเงินบริจาคตามหลักกฎหมายทางพรรคจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบอย่างถูกต้องทุกปีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามตนเป็นห่วงว่าพนักงานสอบสวนจะพยายามหาช่องทางเพื่อระบุว่าทางประชาธิปัตย์ไม่ให้ความร่วมมือในการมาชี้แจงเพื่อที่จะออกหมายจับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
“ ผมขอเตือน ดีเอสไอ ว่าอย่าลุแก่อำนาจ ซึ่งที่ผ่านมาในการเข้าชี้แจง 3 ครั้ง มีการให้รายละเอียดครบถ้วน หากมีการออกหมายจับนายอภิสิทธิ์จริงก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันโดย ดีเอสไอ ก็ต้องโดนข้อหาการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ด้วย ”รองโฆษกกล่าว
นายราเมศกล่าวต่อถึงกรณีที่ ดีเอสไอ เรียก พ.ญ.สดใส เวชชาชีวะ มารดาของนายอภิสิทธิ์ เข้าชี้แจงเป็นครั้งที่ 3ว่า จากการสอบถามทางเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ว่าเรียกพ.ญ.สดใสเข้าชี้แจงในฐานะอะไร ทางดีเอสไอก็ระบุชัดเจนว่าเรียกเข้าชี้แจงในฐานะพยาน โดยที่ผ่านมาพ.ญ.สดใสให้ข้อมูลเรื่องเงินบริจาคอย่างครบถ้วนทั้ง3 ครั้งแล้ว ไม่มีเหตุผลที่ ดีเอสไอ จะเรียกเข้ามาชี้แจงอีก ซึ่งหากการดำเนินการของ ดีเอสไอ เป็นไปเพื่อหาทางออกหมายจับ พ.ญ.สดใส ก็จะถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น