ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่า ทริปออนทัวร์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่เยี่ยมเยือนเพื่อนเก่า เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า อย่างที่ นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของทักษิณ โกหกหน้าตายต่อสาธารณะ เพราะใครๆ เขาก็มองทะลุปรุโปร่งว่าเวลานี้สองพี่น้องชินวัตร ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีตัวจริงกับนอมินี วางแผนการใหญ่ล้วงเงินภาษีของประชาชนพี่น้องชาวไทยไปช่วย “ทวายโปรเจ็กต์” ในพม่า โดยรัฐบาลไทยวางเป้าหนุนเฟสแรกแสนล้านเรียกแขก และดึงเอ็กซิมแบงก์เจ้าเก่าเข้าร่วมด้วยเช่นเคย
บวกลบคูณหารแล้ว คราวก่อนที่เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าเพื่อซื้อของกลุ่มชินคอร์ปกว่า 4,000 กว่าล้านบาท ก็ทำรายได้ให้ชินคอร์ปมากโขอยู่ ดีลครั้งนั้นทักษิณได้ของแถมตกเป็นผู้ต้องหาและเร่ร่อนหนีคดีทุจริตกรณีดังกล่าวจนบัดนี้
มาครั้งนี้ ทักษิณ เล่นบทจับเสือมือเปล่าและชักใยอยู่เบื้องหลัง ล็อบบี้ทางพม่าและผลักดันให้รัฐบาลน้องสาวยิ่งลักษณ์ทุ่มทุนสร้าง สานฝันทวายโปรเจ็กต์ให้เป็นจริง หากสำเร็จคราวนี้คำนวณดูแล้วคงได้ค่าเหนื่อยไม่น้อย เพราะเม็ดเงินลงทุนอภิมหาโปรเจ็กต์ประมาณการเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 4 แสนกว่าล้าน ตอนนี้หน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ฯลฯ ต่างหัวฟูปั่นงานสนองนายใหญ่และนายกฯหญิงกันเป็นทิวแถว
ดังนั้น ลิ่วล้อนายใหญ่อย่ามาดูแคลนคนไทยว่าไม่มีสมองและกินแกลบต่างข้าวด้วยการปฏิเสธว่าทักษิณไม่เกี่ยว ไม่มีการหารือเรื่องการลงทุนท่าเรือน้ำลึกทวายหรือด้านอื่นๆ ในพม่า ไม่มีการเจรจาธุรกิจหรือผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ เรื่องท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นเรื่องของ รัฐบาลไทยกับพม่าที่จะเจรจาร่วมกันเอง เพราะเขารู้กันทั้งบางว่า ทีมผู้บริหารเครือปตท. และอิตัลไทย หิ้วกระเป๋าเดินตามก้นทักษิณเข้าพบผู้นำพม่านอกรอบมาแล้วหลายครั้ง
ในการผลักดันสานฝันทวายโปรเจ็กต์ให้เป็นจริง สองพี่น้องชินวัตรต่างทำงานสอดประสานกันเป็นปี่เป็นขลุย อย่างเช่นคราวก่อนที่นายกฯยิ่งลักษณ์ เดินทางไปเยือนพม่า ทักษิณก็บินไปพบปะผู้นำพม่าล่วงหน้า พร้อมลงพื้นที่ทวายกับทีมผู้บริหารปตท.และอิตัลไทยด้วย
คราวนี้ ก่อนที่ ทักษิณ จะเข้าพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในวันที่ 8 พ.ย.ที่กรุงเนย์ปิดอร์นั้น ยิ่งลักษณ์ ก็เตรียมการก่อนเจรจาให้พี่ชายล่วงหน้า โดยนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธาน การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับทวายโปรเจ็กต์ เช่น คมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน และต่างประเทศ เพื่อวางกรอบเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเบื้องต้นแบ่งกรอบการหารือเป็น 3 ประเด็น คือ โครงการสร้างถนนจากโครงการทวายถึงชายแดนไทย-พม่า ระยะทาง 132 กิโลเมตร โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าและสายส่งระยะเริ่มแรกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 33 เมกะวัตต์
จากนั้น เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ต้อนรับการมาเยือนไทยของคณะนายญาณทุน รองประธานาธิบดีของพม่า เพื่อร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับทวายโปรเจ็กต์ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยและรองประธานาธิบดีพม่า ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีมอบหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมระดับสูงของสองชาติ
ยิ่งลักษณ์ยังได้ให้คำมั่นต่อรองประธานาธิบดีของพม่าว่า รัฐบาลไทยพร้อมผลักดันและสนับสนุนให้โครงการทวายเดินหน้าโดยเร็วที่สุด เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันดำเนินโครงการสำคัญนี้ และยังให้จัดลำดับความสำคัญของโครงการให้ชัดเจนตามที่เคยหารือกับประธานาธิบดีพม่าเอาไว้
การประชุมร่วมครั้งแรกของคณะกรรมการร่วมระดับสูง ระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการปูทางไปสู่การหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ในการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15-20 พ.ย.นี้ หลังจากผู้นำทั้งสองชาติได้เจอกันมาแล้วที่นิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา และมีความตกลงจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมสองชาติ พร้อมกับจัดตั้งอนุกรรมการ 6 คณะ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาชุมชน กฎระเบียบ และการเงิน
สำหรับกลไกคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการทวายระหว่างสองประเทศที่ผู้นำสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยานนั้น มีอยู่ 2 ชุด คือ หนึ่ง คณะกรรมการร่วมระดับสูง ระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายไทยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และส่วนพม่า มีรองประธานาธิบดี เป็นประธาน
และ สอง คณะกรรมการระดับประสานงานระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของเมียนมาร์ เป็นประธาน
เอาแค่คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาก็เห็นชัดว่า พี่น้องชินวัตรสั่งเดินหน้าอย่างเต็มสตรีมแน่ ไม่ว่าจะเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ สายตรงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่นั่งประธานคณะกรรมการชุดใหญ่ และ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล สายตรงนายใหญ่แห่งดูไบ ที่เป็นชุดชงเรื่อง ขณะที่รัฐมนตรีคุมกระทรวงเกี่ยวข้องกับทวายโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ก็ล้วนแต่อยู่ในสายนายหญิง-นายใหญ่ ทั้งนั้น มีเพียง ประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม จากชาติพัฒนา ที่เข้ามาแทรก แต่ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะขวาหัน ซ้ายหัน ตามสั่งอยู่แล้ว
มองย้อนกลับไป เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่บริษัทอิตาเลียนไทยฯได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวาย ตามระยะเวลาการเช่าที่ดินมากกว่า 75 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ครอบคลุมพื้นที่ 4 แสนไร่ พร้อมด้วยถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-พม่า รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยพม่า วงเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษนี้ของภูมิภาคนี้
แต่การจะกินคำโตเกินกำลังของอิตัลไทย ทำให้ตกอยู่ในสภาพจะกลืนก็ไม่เข้า จะคายออกก็เสียดายเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะได้สัมปทานนี้มาครอบครอง ที่ผ่านมา อิตัลไทยจึงวิ่งวุ่นหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแต่ก็คว้าได้เพียงลม
ประสบการณ์อิตัลไทยซึ่งถนัดเรื่องงานก่อสร้างเป็นหลัก จะให้มาเป็นผู้ลงทุนและโอเปอเรททวายโปรเจค โครงการลงทุนใหญ่ระดับอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทยที่ใช้องคาพยพทั้งงบประมาณของแผ่นดิน หน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ และมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ไฟแนนซ์รายใหญ่กว่าจะสำเร็จเป็นรูปร่างอย่างทุกวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ลำพังอิตัลไทยและรัฐบาลพม่าซึ่งเพิ่งเปิดประเทศจะทำได้ ขณะที่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ อิตัลไทยจึงมีความหวัง และทำให้ทวายโปรเจ็กต์มีความคืบหน้า
เว็บไซต์ของบริษัททวาย ดีเวล็อปเม้นต์ จำกัด รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2555 กระทรวงการคลังไทย ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการพัฒนาโครงการทวาย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
และในวันที่ 23 ก.ค. 2555 ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวาย ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลพม่า โดยกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ
“ทวายไม่ใช่เป้าสุดท้ายของเราหรือของญี่ปุ่น ทวายเป็น transits point ไปสู่อินเดีย อัครมหาเศรษฐีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งของโลก และไปสู่ Gulf state (กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอารเบียน) และไปสู่ยุโรป โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ประหยัดค่าต้นทุน ค่าประกัน ที่สำคัญของสินทรัพย์ญี่ปุ่น ซึ่งลงทุนในไทยมาเป็น 50-60 ปี โดยใช้ทวายเป็น transits ผ่านไปขายยังอินเดีย” วิสัยทัศน์ของ พันศักดิ์ วิญรัตน์ กุนซือใหญ่หลายสมัยของรัฐบาลขั้วทักษิณ มองทวายโปรเจ็กต์
ภายใต้การผลักดันทวายโปรเจ็กต์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีนโยบายชัดเจนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ด้วยการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท จะผลักดันก่อสร้างระบบราง มอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกทวาย กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ในเส้นทางอีสต์เวสต์คอริดอร์ และนอร์ทเซาท์คอริดอร์ ผ่านท่าเรือน้ำลึกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง
การแบ่งเค้กทวายโปรเจ็กต์ถึงวันนี้มีข้อสรุปกันเบื้องต้นว่า ปตท.จะเป็นผู้เข้าลงทุนในส่วนของธุรกิจน้ำมัน ก๊าซฯ และปิโตรเคมี ส่วนโรงไฟฟ้า จะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทลูกเช่นบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ลงนามเอ็มโอยูกับอิตัลไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ และขณะนี้รัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินการในปี 2557 และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 400 เมกะวัตต์ ในปี 2559 นำร่อง
พร้อมกันนั้น มีข้อเสนอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เข้าถือหุ้นในโครงสร้างการลงทุนด้วย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหารแหล่งเงินกู้ที่มาจากกลุ่มสถาบันการเงินอย่างเช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และเอดีบี ต้องมีการปรับสัดส่วนหุ้นใหม่ในอิตัลไทยด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยยังได้ตั้งงบดำเนินการทางหลวงพิเศษสายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย-พม่า ระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร จะเริ่มก่อสร้างให้เสร็จในปี 2558 และการรถไฟฯ ได้เตรียมขออนุมัติงบประจำปี 2556 เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางจากท่าเรือทวายถึงท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อสองท่าเรือ เป็นต้น
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยหนึ่งในนั้น มีแผนที่จะก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 45,000 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการศึกษาก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมจากกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 70 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางจากบ้านพุน้ำร้อน-ท่าเรือน้ำลึกทวาย ระยะทาง 132 กิโลเมตร บริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯ ได้รับสัมปทานจากพม่าเพื่อให้มีเส้นทางเชื่อมต่อ ทำหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างหากโครงการเสร็จจะสามารถขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกทวาย ผ่านกาญจนบุรีมายังกรุงเทพฯ ออกไปยังท่าเรือแหลมฉบังสะดวกมากขึ้น
ถามว่า การผลักดันโครงการลงทุนทวายโปรเจ็กต์ ซึ่งรัฐบาลเล็งควักเงินภาษีประชาชนคนไทยไปทุ่มทุนสร้างมหาศาล ดังเช่นที่ สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อธิบายต่อสาธารณะก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้าสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการทวายไว้ที่แสนล้านบาท โดยจะมีการดึงพม่าและญี่ปุ่น เข้ามาร่วมด้วยนั้น แท้จริงแล้วใครคือผู้ได้ประโยชน์กันแน่?
คำตอบ ณ เวลานี้ นอกจากอิตัลไทยแล้ว ยังมีกลุ่มปตท. กฟผ.และบริษัทลูก และอีกกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ จากการเชื่อมทวายกับอีสเทิร์นซีบอร์ดคือ กลุ่มทุนญี่ปุ่นซึ่งมีฐานผลิตในอีสเทิร์นซีบอร์ดกว่า 80%
แต่น่าติดตามยิ่งกว่าก็คือ จะมีค่าวิ่งเต้นล็อบบี้ ค่าเปิดปากถุงเงินลงทุนโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยหล่นใส่มือนักล็อบบี้ดีกรีอดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่? และมากน้อยเพียงใด ? เมื่อเทียบกับกรณีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าซื้อของจากชินคอร์ป