xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์จับตามะกันรุกปิโตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ไทยออยล์" จับตาผลกระทบกรณีทีสหรัฐฯลงทุนปิโตรเคมีจากเชลแก๊สทำให้เปลี่ยนจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออกแทน พร้อมยอมรับโครงการขยายพาราไซลีน(PX Max) 1 แสนตัน/ปีอาจผลิตได้แค่ 70%ของกำลังผลิต เหตุราคาวัตถุดิบพุ่งทำให้ต้องหยุดการนำเข้าบางส่วน แย้มสเปรดพาราไซลีนเริ่มดีขึ้นหลังจีนหันมานำเข้าอีกครั้ง ทำให้ค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย(GIM)อยู่ที่ 8.5-9.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล


นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องจับตาของธุรกิจพลังงานและเตรียมพร้อมรับมือในอนาคตหลังจากสหรัฐฯมีการนำเชลแก๊ส (Shale Gas)มาใช้ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำมากแค่ 3 เหรียญ/ล้านบีทียู ทำให้สหรัฐฯจะลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง โดยเชลแก๊สนี้คาดว่าจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาถ่านหินในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตเชลแก๊สจะได้ Wet Gas

ซึ่งสามารถต่อยอดทำโรงปิโตรเคมีได้ ล่าสุดมีบริษัทใหญ่ประกาศลงทุนปิโตรเคมีจากเชลแก๊สแล้ว ซึ่งปิโตรเคมีที่ผลิตจากWet Gas จะเป็นสายโอเลฟินส์ที่ได้เอทิลีนเป็นหลัก โดยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้อนาคตสหรัฐฯจะเปลี่ยนจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออกปิโตรเคมีด้วย

ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีนอีก 1 แสนตัน/ปี (PX Max) เงินลงทุน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการปรับปรุงโทลูอีนมาเป็นพาราไซลีนนั้นอยู่ระหว่างทดลองการผลิต คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปีนี้ ทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตพาราไซลีนเพิ่มขึ้นเป็น 5แสนตัน/ปี ส่งผลให้รายได้เติบโตขึ้นด้วยโดยยอมรับว่าโครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีนอาจจะยังเดินเครื่องจักรได้ไม่เต็มที่ในช่วงนี้ เนื่องจากแผนเดิมบริษัทฯจะต้องนำเข้าโทลูอีนเพื่อรวมกับปริมาณโทลูอีนที่ผลิตได้จึงจะเดินเครื่องจักรได้เต็มที่ แต่ล่าสุดราคาโทลูอีนในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไม่คุ้มหากต้องนำเข้า จึงผลิตได้เพียง 70%ของกำลังการผลิตซึ่งไม่มีผลกระทบใดเพราะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่วางแผนไว้เดิมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทฯยังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังผลิต(Debottleneck)พาราไซลีน โดยการปรับปรุงเครื่องจักรต่างๆอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ปัจจุบันราคาพาราไซลีนอยู่ที่ตันละ1,500-1600 เหรียญสหรัฐ โดยมีสเปรดส่วนต่างผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับวัตถุดิบ(คอนเดนเสท)อยู่ที่ 450-500 เหรียญสหรัฐ


ส่วนโครงการผลิตLAB (Linear Alkyl Benzene)ขนาด 1 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงซักฟอกและสารซักล้าง โดยใช้เบนซีนและเคโลซีนเป็นวัตถุดิบนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 300-350 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 นับเป็นโครงการแรกของไทย เพื่อรองรับความต้องการใช้อยู่ปีละ 6 หมื่นตัน ที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(เอสพีพี) 2 โรง กำลังการผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ โดยจะขยายไฟโรงละ 90 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเ เทศไทย(กฟผ.) และมีไฟฟ้า-ไอน้ำจะป้อนให้โรงงานเครือไทยออยล์ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นขอใบอนุญาตฯอยู่ โดยโครงการนี้จะไม่อยู่ในแผนการควบรวมบริษัทธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. เนื่องจากเป็นโครงการที่ช่วเสริมให้โรงกลั่นไทยออยล์ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ค่าการกลั่น(GRM)ค่อนข้างผันผวน มีGRMอยู่ที่ 6.50-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำกว่าไตรมาส 3/2555 ที่มีGRMเฉลี่ยอยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินได้อ่อนตัวลงมากฉุดค่าการกลั่นลงมา ส่วนค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM)อยู่ที่ 8.50-9.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงไตรมาสก่อน เนื่องจากกำไรของพาราไซลีนและน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานอ่อนตัวลง เป็นผลจากช่วงที่ผ่านมาความต้องการใช้พาราไซลีนในจีนลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ทำให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อลง แต่ล่าสุดได้ทยอยซื้ออีกครั้ง

ส่วนกรณีที่รัฐยกเลิกการใช้เบนซิน 91 ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อขบวนการกลั่นของไทยออยล์เหมือนโรงกลั่นอื่นๆ เนื่องจากสัดส่วนน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ค่อนข้างต่ำคิดเป็น18-19%ของกำลังการกลั่น โดยส่วนใหญ่โรงกลั่นไทยออยล์กลั่นได้ดีเซลและน้ำมันอากาศยาน(เจ็ท) แต่อยากเสนอให้รัฐเร่งส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ E20 แทนE10เพื่อให้โรงกลั่นปรับปรุงกระบวนการกลั่นทีเดียว ไม่ต้องปรับปรุงหลายครั้ง หลังจากนโยบายรัฐต้องการส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลในประเทศล้นตลาดต้องส่งออก หากรัฐส่งเสริมการใช้E20 จะทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านลิตร/วันเป็น 2.5 ล้านลิตร/วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น