xs
xsm
sm
md
lg

IRPC จ่อลงทุนโรงอะโรเมติกส์ วางกลยุทธ์เติบโตไปพร้อมกับ Mega Trend

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไออาร์พีซีสยายปีกลงทุนโรงอะโรเมติกส์ขนาด 5-6 แสนตัน/ปี ก้าวสู่การลงทุนฟินิกซ์ เฟส 2 ต่อยอดจากโครงการ HUV หลังโรงกลั่นเดินเครื่องเต็มที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน ชี้ปีหน้ามีความชัดเจนทั้งเทคโนโลยี และแหล่งเงินทุน ลั่นพร้อมยื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่ขนาด 800-1,200 เมกะวัตต์ในพื้นที่เชิงเนิน จ.ระยอง และวางกลยุทธ์ทางธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับ Mega Trend

นายอธิคม เติบศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนลงทุนโรงงานอะโรเมติกส์ขนาดกำลังการผลิต 5-6 แสนตันต่อปี เนื่องจากบริษัทฯมีวัตถุดิบ คือ เฮฟวี แนฟธาที่ได้จากการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลังโรงกลั่นไออาร์พีซีเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 2.15 แสนบาร์เรล/วันในปี 2558 เมื่อรวมกับเฮฟวี แนฟธาเดิมที่มีอยู่ ทำให้สามารถผลิตพาราไซลีนได้ 5-6 แสนตัน คาดว่ามีความชัดเจนในปี 2556 แม้ว่าโรงอะโรเมติกส์นี้จะมีขนาดกำลังการผลิตน้อยกว่าโรงอะโรเมติกส์ทั่วไปที่มีขนาด 1 ล้านตันต่อปี แต่เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้ เพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในระบบสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ ไฟฟ้า และระบบท่อ

รวมทั้งมีวัตถุดิบเพียงพอ เพียงแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยี และการหาแหล่งเงินทุน เนื่องจากโครงการอะโรเมติกส์ไม่อยู่ภายใต้การลงทุนฟินิกซ์เดิม หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นโครงการฟินิกซ์ เฟส 2 แต่มั่นใจว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จช้ากว่าโครงการ Upstream Project for Hygiene and Value Added Products (UHV) ผลิตโพรพิลีนปีละ 3.2 แสนตัน ประมาณ 6-12 เดือน

“ขณะนี้โรงกลั่นน้ำมันพยายามที่จะหันไปลงทุนอะโรเมติกส์มากขึ้นเพื่อเพิ่มมาร์จิ้น เนื่องจากค่าการกลั่นค่อนข้างต่ำ การแข่งขันสูง และมีความผันผวน การลงทุนธุรกิจอะโรเมติกส์จะช่วยสร้างรายได้ และลดความผันผวนของธุรกิจการกลั่น ซึ่งไออาร์พีซีก็มีเป้าหมายเป็นบริษัท Integrated Petrochemical และต่อยอดปิโตรฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ รวมทั้งนำสินทรัพย์ที่ไมได้ใช้มาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคม”

นายอธิคม กล่าวต่อไปว่า การลงทุนอะโรเมติกส์นี้นับเป็นการต่อยอดจากโครงการ UHV ที่อยู่ภายใต้โครงการฟินิกส์ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.พ.2558 โดยโครงการนี้จะผลิตโพรพิลีนอีก 3.2 แสนตันต่อปี และยังช่วยให้โรงกลั่นไออาร์พีซีเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่กลั่นเพียง 1.7-1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน เพราะได้ติดตั้งหน่วยกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้น้ำมันดิบด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทฯก็มีการลงทุนต่อยอดโครงการ UHV เช่น โครงการอินไลน์ คอมพาวด์โพลีโพรพิลีน อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยสินค้าที่ผลิตได้จะป้อนตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงการผลิต Super Absorbent Polymer (SAP) ขนาดกำลังผลิต 4 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย SAP เป็นโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติดูดความชื้น ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผ้าอ้อมเด็ก และผู้ใหญ่

ปัจจุบัน ความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนในปลายปีนี้ และโครงการผลิตฟีนอลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงคาโปรแลกตัมแห่งที่ 2 ในไทยของกลุ่มอูเบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ จะใช้วัตถุดิบ คือโพรพิลีนจากโครงการ UHVและเบนซีนจากโรงอะโรเมติกส์ ทำให้ไออาร์พีซีเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจร

นายอธิคม กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนโครงการที่ไม่ต้องพึ่งพาไฮโดรคาร์บอน ได้แก่ ธุรกิจที่ดิน และพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจ และเพิ่มรายได้ไออาร์พีซีอีกทางหนึ่ง โดยบริษัทมีที่ดินรวม 1.5 หมื่นไร่อยู่ใน ต.เชิงเนิน อ.เมือง อ.บ้านค่าย และ อ.วังจันทร์ จังหวัดระยอง และ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา ก็มีแผนจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บ้านค่าย และวังจันทร์ จังหวัดระยอง

สำหรับธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะยื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่ สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 800-1,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีที่ดินติดกับท่อก๊าซฯ 24 นิ้ว และสายส่งไฟฟ้าพร้อมอยู่แล้ว เพราะบริษัทฯ ชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 2 โรง ขนาดกำลังผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงเนิน ส่วนที่ดิน อ.จะนะ ก็มีแผนจะทำโซลาร์ฟาร์มร่วมกับ ปตท. รวมทั้งยังศึกษาร่วมกับจีอี ติดตั้งกังหันลม คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีเพื่อดูความเป็นไปได้ในการตั้งโรงไฟฟ้าพลังลม

ดังนั้น ทิศทางการทำธุรกิจของไออาร์พีซีในอนาคตจะสอดคล้องแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Mega Trend) โดยเรื่องโลกร้อน พลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียว การโยกย้ายถิ่นฐานของคนมาอยู่ในเมืองมากขึ้น และประชากรมีอายุยืนยาว โดยบริษัทฯ จะออกผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับ Mega Trend เช่น การผลิตโพลีเมอร์เพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อน การผลิตไบโอดีเซลที่นำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมในโรงกลั่นน้ำมันได้เลย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเอง อยู่ระหว่างการวางยุทธศาสตร์การตลาดร่วมกับ ปตท.

นอกจากนี้ ยังวิจัย และพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อเก็บประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากไออาร์พีซีมีวัตถุดิบที่ใช้ทำผงถ่าน และเซลล์แบตเตอร์รี่ รวมทั้งการวิจัยบริหารจัดการน้ำ (WATER MANAGEMENT) ทำโครงการผลิต SAP ก็เพื่อตอบสนองคนย้ายมาอยู่ในเมือง และประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น