xs
xsm
sm
md
lg

IRPCจ่อลงทุนโรงอะโรเมติกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไออาร์พีซีสยายปีกลงทุนโรงอะโรเมติกส์ขนาด 5-6 แสนตัน/ปีก้าวสู่การลงทุนฟินิกซ์ เฟส2 ต่อยอดจากโครงการHUV หลังโรงกลั่นเดินเครื่องเต็มที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน ชี้ปีหน้ามีความชัดเจนทั้งเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุน ลั่นพร้อมยื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่ขนาด 800-1,200 เมกะวัตต์ในพื้นที่เชิงเนิน จ.ระยอง และวางกลยุทธ์ทางธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับMega Trend

นายอธิคม เติบศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนลงทุนโรงงานอะโรเมติกส์ขนาดกำลังการผลิต 5-6 แสนตันต่อปี เนื่องจากบริษัทฯมีวัตถุดิบ คือ เฮฟวี่ แนฟธาที่ได้จากการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลังโรงกลั่นไออาร์พีซีเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 2.15 แสนบาร์เรล/วันในปี 2558 เมื่อรวมกับเฮฟวี่แนฟธาเดิมที่มีอยู่ทำให้สามารถผลิตพาราไซลีนได้ 5-6 แสนตัน คาดว่ามีความชัดเจนในปี 2556 แม้ว่าโรงอะโรเมติกส์นี้จะมีขนาดกำลังการผลิตน้อยกว่าโรงอะโรเมติกส์ทั่วไปที่มีขนาด 1 ล้านตันต่อปี แต่เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้ เพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำ ไฟฟ้าและระบบท่อ

รวมทั้งมีวัตถุดิบเพียวงพอ เพียงแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยี และการหาแหล่งเงินทุนเนื่องจากโครงการอะโรเมติกส์ไม่อยู่ภายใต้การลงทุนฟินิกซ์เดิม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการฟินิกซ์ เฟส 2 แต่มั่นใจว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จช้ากว่าโครงการ Upstream Project for Hygiene and Value Added Products (UHV) ผลิตโพรพิลีนปีละ 3.2 แสนตันประมาณ 6-12 เดือน

“ขณะนี้โรงกลั่นน้ำมันพยายามที่จะหันไปลงทุนอะโรเมติกส์มากขึ้นเพื่อเพิ่มมาร์จิน เนื่องจากค่าการกลั่นค่อนข้างต่ำ การแข่งขันสูงและมีความผันผวน การลงทุนธุรกิจอะโรเมติกส์จะช่วยสร้างรายได้และลดความผันผวนของธุรกิจการกลั่น ซึ่งไออาร์พีซีก็มีเป้าหมายเป็นบริษัทIntegrated Petrochemical และต่อยอดปิโตรฯเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำรวมทั้งนำสินทรัพย์ที่ไมได้ใช้มาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”

นายอธิคม กล่าวต่อไปว่า การลงทุนอะโรเมติกส์นี้นับเป็นการต่อยอดจากโครงการ UHV ที่อยู่ภายใต้โครงการฟินิกส์ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จก.พ. 2558 โดยโครงการนี้จะผลิตโพรพิลีนอีก 3.2 แสนตันต่อปี และยังช่วยให้โรงกลั่นไออาร์พีซีเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่กลั่นเพียง 1.7-1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน เพราะได้ติดตั้งหน่วยกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้น้ำมันดิบด้วย

ขณะเดียวกันบริษัทฯก็มีการลงทุนต่อยอดโครงการUHV อาทิ โครงการอินไลน์ คอมพาวด์โพลีโพรพิลีน อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยสินค้าที่ผลิตได้จะป้อนตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ , โครงการผลิต Super Absorbent Polymer (SAP) ขนาดกำลังผลิต 4 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยSAP เป็นโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่

ปัจจุบันความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนในปลายปีนี้ และโครงการผลิตฟีนอลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงคาโปรแลคตัมแห่งที่ 2 ในไทยของกลุ่มอูเบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทฯจะใช้วัตถุดิบ คือโพรพิลีนจากโครงการUHVและเบนซีนจากโรงอะโรเมติกส์ ทำให้ไออาร์พีซีเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจร

นายอธิคม กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนโครงการที่ไม่ต้องพึ่งพาไฮโดรคาร์บอน ได้แก่ ธุรกิจที่ดิน และพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดความผันผวนของวัฎจักรธุรกิจและเพิ่มรายได้ไออาร์พีซีอีกทางหนึ่ง โดยบริษัทมีที่ดินรวม 1.5 หมื่นไร่อยู่ในต.เชิงเนิน อ.เมือง , อ.บ้านค่าย และอ.วังจันทร์ จังหวัดระยอง และอ.จะนะ จังหวัดสงขลา

ก็มีแผนจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บ้านค่ายและวังจันทร์ จังหวัดระยอง
สำหรับธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะยื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่ สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 800-1,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีที่ดินติดกับท่อก๊าซฯ 24 นิ้วและสายส่งไฟฟ้าพร้อมอยู่แล้ว เพราะบริษัทฯชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) 2 โรง ขนาดกำลังผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงเนิน ส่วนที่ดินอ.จะนะ ก็มีแผนจะทำโซลาร์ฟาร์มร่วมกับปตท. รวมทั้งยังศึกษาร่วมกับจีอี ติดตั้งกังหันลม คาดว่าจะใช้เวลา 1ปีเพื่อดูความเป็นไปได้ในการตั้งโรงไฟฟ้าพลังลม

ดังนั้นทิศทางการทำธุรกิจของไออาร์พีซีในอนาคตจะสอดคล้องแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ( Mega Trend) โดยเรื่องโลกร้อน พลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว การโยกย้ายถิ่นฐานของคนมาอยู่ในเมืองมากขึ้นและประชากรมีอายุยืนยาว โดยบริษัทฯจะออกผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับ Mega Trend อาทิ การผลิตโพลีเมอร์เพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อนการผลิตไบโอดีเซลที่นำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมในโรงกลั่นน้ำมันได้เลย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเอง อยู่ระหว่างการวางยุทธศาสตร์การตลาดร่วมกับปตท.

นอกจากนี้ยังวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อเก็บประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากไออาร์พีซีมีวัตถุดิบที่ใช้ทำผงถ่านและเซลล์แบตเตอร์รี่ รวมทั้งการวิจัยบริหารจัดการน้ำ (WATER MANAGEMENT) ทำโครงการผลิตSAP ก็เพื่อตอบสนองคนย้ายมาอยู่ในเมืองและประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น