xs
xsm
sm
md
lg

หายนะฤาสิ้นอารยธรรม

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

​เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา อันเป็นวันสุดท้ายของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 ผมมีโอกาสไปเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “หายนะฤาสิ้นอารยธรรม” และต่อมาได้พูดคุยถึงเนื้อหาบางส่วนของหนังสือกับคุณเติมศักดิ์ จารุปราณ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ของเอเอสทีวีเมื่อคืนวันที่ 30 ตุลาคม

​ในการเขียนหนังสือและบทความ ผมพยายามนำเสนอข้อมูลและหลักวิชาด้วยความหวังว่าผู้อ่านจะนำไปหลอมรวมกับความรู้ที่ตนมีอยู่แล้ว และการหลอมรวมนั้นจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ ความคิดและมุมมองใหม่ๆ ผมจึงใช้คำขวัญของการเขียนว่า “ความรู้นิด-ความคิดหน่อย”

​ผมเขียนคอลัมน์ประจำให้หลายสำนักมาเป็นเวลานานรวมทั้งคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” ในเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์นี้และคอลัมน์ “บ้านเขา-เมืองเรา” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และได้นำบทความที่เขียนมารวมเล่มแล้วหลายครั้ง “หายนะฤาสิ้นอารยธรรม” คัดบทความ 39 บทจากจำนวนเกือบ 500 บทของคอลัมน์ “บ้านเขา-เมืองเรา” มารวมกันแล้วเสริมด้วยบทสรุปโดยแบ่งออกเป็น 5 ภาคตามประเด็นหลัก 5 ประเด็นด้วยกัน นั่นคือ การใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและวิวัฒนาการ แนวคิดด้านเศรษฐกิจ ละตินอเมริกาและนโยบายประชานิยม และแนวโน้มในสังคมไทย

​ในตอนก่อนพิมพ์ ผมเสนอให้ตั้งชื่อหนังสือว่า “ล้มละลาย หายนะ หรือสิ้นอารยธรรม?” ซึ่งเป็นชื่อของบทสรุปและประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งของหนังสือ เนื่องจากมันค่อนข้างยาว คณะบรรณาธิการจึงตัด “ล้มละลาย” “หรือ” และ “?” ออกแล้วเพิ่ม “ฤา” เข้าไป ล้มละลายหมายถึงการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนชำระตามกำหนดเวลามิได้ต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศดังที่เกิดขึ้นกับไทยในปี 2540 หายนะหมายถึงสังคมแตกแยกจนปกครองตามปกติมิได้อันเป็นที่รู้กันในนามของ “รัฐล้มเหลว” ดังที่เกิดขึ้นในโซมาเลียและเฮติในปัจจุบัน สิ้นอารยธรรมหมายถึงการแตกสลายของสังคมดังที่เกิดขึ้นกับอียิปต์โบราณและสังคมมายาในอเมริกากลาง การล้มละลายเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ความหายนะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว การสิ้นอารยธรรมใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้น

​ผมมองว่าทั้ง 5 ประเด็นหลักมีความสำคัญทั้งในภาวะปัจจุบันและในช่วงเวลาที่จะมาถึง เราควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในด้านบริบทของปรากฏการณ์พร้อมกับฐานทางวิชาการและแนวคิดต่างๆ รวมทั้งวิวัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ด้วย ความเข้าใจนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาพร้อมกับจะป้องกันมิให้เกิดปัญหาที่จะพาสังคมไปสู่ความล้มละลายและหายนะ หรือถึงกับสิ้นอารยธรรมดังที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์

​อาจเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาสาหัสถึงขั้นล้มละลายของกรีซในปัจจุบันนี้มีที่มาจากการใช้นโยบายประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาแนวนี้มิใช่ของใหม่เพราะมันเกิดขึ้นแล้วในประเทศต่างๆ รวมทั้งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ”

​ประเทศเฮติล้มละลายและตกอยู่ในสภาพหายนะอยู่ในขณะนี้หลังจากประชาชนฆ่าฟันกันเองจนต้องให้กองกำลังต่างชาติเข้าไปรักษาความสงบมีต้นตอมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งและต่างตัดไม้ทำลายป่าจนหมดสิ้น กระบวนการเช่นเดียวกันทำให้สังคมมายาแตกสลายจนเหลือไว้ให้ดูเพียงซากของพีระมิด (ปกหน้าของหนังสือคือรูปปฏิทินมายาซึ่งมีผู้ตีความหมายว่า ชาวมายาทำนายไว้ว่าโลกจะประสบปัญหาสาหัสจนถึงขนาดเกิด “วันสิ้นโลก” ในปีนี้ดังที่มีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “2012”)

​อนึ่ง ปรากฏการณ์ในเมืองไทยอาจอ่านได้จากมุมองของ 4 ประเด็นหลักว่าเป็นอย่างไรหรือจะเป็นอย่างไรต่อไปทั้งในระดับบุคคล ในระดับชุมชนและในระดับประเทศ อาทิเช่น ในระดับบุคคล ณ วันนี้คงมีผู้ตั้งข้อสังเกตแล้วว่าคนไทยเป็นโรคภูมิแพ้กันแพร่หลายขึ้น แต่คงไม่กี่คนที่ทราบว่าอากาศในบ้าน ในที่ทำงาน ในร้านค้าและในรถยนต์ที่เราหายใจเข้าไปนั้นอาจมีความสกปรกนับสิบเท่าของอากาศภายนอก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราปิดประตูหน้าต่างเพื่อปรับอากาศให้เย็นสบาย แต่เราหารู้ไม่ว่าสารเคมีที่มีอยู่ในเกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้นั้นอาจมีปฏิกิริยาต่อกันและสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา (ภาคการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของหนังสือมีบทที่พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะชื่อ“ระวัง! อากาศกำลังเป็นฆาตกร” ผู้ต้องการรายละเอียดมากกว่านั้นอาจไปอ่านหนังสือชื่อ “เมื่ออากาศเป็นฆาตกร”) ยิ่งกว่านั้น คุณภาพของอากาศโดยทั่วไปโดยเฉพาะในตัวเมืองที่แออัดอาจมีฝุ่นควันและสารเคมีผสมอยู่มากจนถึงขั้นอันตรายเมื่อสูดเข้าไปวันแล้ววันเล่า

​ในระดับประเทศ ปรากฏการณ์เช่นการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยามมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอันต่อเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยต่อด้วยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ต้นตอของปรากฏการณ์เหล่านั้นอยู่ที่นโยบายประชานิยมผสมกับความฉ้อฉลของบุคคลในระดับผู้นำประเทศ ความฉ้อฉลเป็นการช่วงชิงทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดท่ามกลางจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นและแต่ละคนต้องการใช้ทรัพยากรในปริมาณมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เรื่องนี้มีที่มาจากแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกซึ่งได้กลายเป็นระบบบริโภคนิยมเกือบสมบูรณ์แบบแล้ว

​การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นมีเมล็ดพันธุ์ของความแตกแยกร้ายแรงแฝงอยู่ เมล็ดพันธุ์นั้นจะแตกดอกออกช่อต่อไปอย่างไรขึ้นอยู่กับสังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากภาค 4 ของหนังสือ หรือเรื่องราวของละตินอเมริกากับนโยบายประชานิยมและจะนำบทเรียนที่ได้มาใช้อย่างไรในช่วงเวลาที่จะมาถึง

​อาร์เจนตินาถูกอ้างถึงบ่อย แต่การอ้างถึงส่วนใหญ่พูดถึงแค่การล้มละลายแต่มิได้พูดถึงการฆ่าฟันกันของชาวอาร์เจนตินาจนล้มตายไปเป็นเรือนหมื่นหลังจากนโยบายประชานิยมทำให้ล้มละลายหลายครั้ง ปรากฏการณ์ในเมืองไทยขณะนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับของอาร์เจนตินาหลังเริ่มใช้นโยบายประชานิยมในปี 2459 ส่วนไทยเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2544 วิวัฒนาการล่าสุดของของนโยบายเลวร้ายนั้นได้แก่โครงการรับจำนำข้าว มีความเป็นไปได้สูงว่า มันคือฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้ควายหลังหัก นั่นคือ ต่อไปเมืองไทยจะล้มละลายอย่างแน่นอน ส่วนความหายนะจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยกดังกล่าวจะวิวัฒน์ไปอย่างไร ในอาร์เจนตินา หลังจากฆ่าฟันกันเป็นเบือแล้วทุกฝ่ายยอมถอยหลังออกมาตั้งต้นใหม่ ประเทศจึงอยู่มาได้โดยไม่ประสบความหายนะ หรือกลายเป็นรัฐล้มเหลว

​อีกปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งอาจดูไม่น่าจะมีผลร้ายได้แก่การที่คนไทยไม่รู้จักใช้ภาษาไทยจริงๆ ในจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งที่มีการศึกษาเบื้องต้นสูงขึ้น มีการตั้งโรงเรียนที่ใช้ภาษาฝรั่งเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย คนไทยนิยมใช้ภาษาไทยปนฝรั่งทั้งที่ส่วนใหญ่รู้ภาษาแบบงูๆ ปลาๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของสังคม หากภาษาไทยสูญหายไป มันอาจก่อให้เกิดห่วงโซ่ของเหตุการณ์ที่จะผลักดันสังคมไทยให้ไปสู่จุดจบ หรือสิ้นความเป็นไทยดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน

​ณ วันนี้ เมืองไทยยังมีโอกาสป้องกันทั้งความล้มละลาย ความหายนะและการสูญอารยธรรม แต่โอกาสอาจเปิดอยู่ไม่นานก่อนการเดินเข้าทางแห่งความล้มละลายแบบกู่ไม่กลับอันเป็นวิวัฒนาการขั้นต้นของกระบวนการล้มละลาย หายนะและสิ้นอารยธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น