xs
xsm
sm
md
lg

พบเอกสารโบราณชี้วันสิ้นสุด “ปฏิทินมายา” มีจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแกะสลักบนก้อนหินของชาวมายาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการเมือง (ไลฟ์ไซน์/David Stuart)
พบอักษรชาวมายาชี้ “วันสิ้นสุด” ของปฏิทินมายามีอยู่จริง และเป็นเอกสารฉบับที่สองที่เราพบว่าระบุวันดังกล่าว แต่นักวิจัยชี้แจงว่า ความเชื่อของชาวมายาโบราณต่างจากความเชื่อของคนยุคนี้ เพราะวันดังกล่าวไม่ได้ชี้ถึงวันสิ้นสุดของโลก

“อักษรเหล่านี้บอกเล่าเรื่งราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองโบราณมากกว่าจะเป็นเรื่องคำพยากรณ์ หลักฐานใหม่นี้ชี้ว่า วันของรอบที่ 13 บักตุน (13 bak'tun) นั้นเป็นเหตุการณ์ในรอบปฏิทินที่สำคัญ ซึ่งชาวมายาโบราณจะฉลองวันดังกล่าว ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้สร้างคำพยากรณ์ถึงหายนะเมื่อถึงวันดังกล่าวแต่อย่างใด” มาร์เซลโล คานูโต (Marcello Canuto) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอเมริกากลาง (Middle America Research Institute) ของมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) แถลง

ทั้งนี้ ไลฟ์ไซน์อธิบายไว้ว่าปฏิทินรอบยาว (Long Count calendar) ของชาวมายานั้นแบ่งเป็นบักตุน (bak'tuns) หรือรอบ 144,000 วัน ที่เริ่มจากวันสร้างโลก (creation date) ของชาวมายา และวันเหมายัน (winter solstice) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. ของปี 2012 คือวันของรอบบักตุนที่ 13 ซึ่งชาวมายากำหนดให้เป็นการครบรอบการสร้างโลก

หากแต่คนยุคใหม่กลับเชื่อว่าวันดังกล่าวคือวันสิ้นโลก ทั้งที่มีหลักฐานอ้างอิงทางโบราณคดีเพียงชิ้นเดียวที่ระบุถึงปี 2012 นี้ นั่นคือข้อความที่จารึกบนอนุสาวรีย์ ณ เมืองทอร์ทูกัวโร (Tortuguero) เม็กซิโก ที่มีอายุย้อนไปประมาณปีคริสตศักราช 669

ล่าสุดนักวิจัยเพิ่งขุดพบหลักฐานชิ้นที่สองจากการสำรวจซากปรักหักพังในเมืองลา โคโรนา (La Corona) ของกัวเตมาลา ซึ่งบนก้อนหินบันไดทางเดินที่มีการแกะสลักอักขระโบราณนั้น นักโบราณคดีได้เห็นภาพการฉลองถึงการเสด็จมาเยือนของกษัตริย์ ยักนูม ยิชแอก คาห์ก (Yuknoom Yich'aak K'ahk) แห่งเมืองกาลักมุล (Calakmul) ซึ่งเป็นผู้ปกครองของชาวมายาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น

พระองค์ยังทรงเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า “จากัวร์ พาว์” (Jaguar Paw) และนักประวัติศาสตร์มีข้อสันนิษฐานมานานแล้วว่ากษัตริย์จากัวร์ พาว์นั้นสิ้นพระชนม์หรือทรงถูกจับในการสู้รบจากการโจมตีของอาณาจักรทิกอล (Kingdom of Tikal) ปีคริสตศักราช 695 แต่อักขระที่จารึกไว้นั้นชี้ว่าพวกเขาสันนิษฐานผิด

ในความเป็นจริงพระองค์เสด็จเยือนลาโคโรนาในปีคริสตศักราช 696 ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเป็นความพยายามในการพยุงความจงรักภักดีของหมู่ประชากรที่รับรู้ความพ่ายแพ้ของพระองค์ในการสู้รบก่อนหน้านั้น 4 ปี และในช่วงหนึ่งของการประพาสต้นพระองค์ทรงเรียกขานพระองค์เองว่า “พระเจ้ากาตุนที่ 13” (13 k'atun lord) ดังปรากฎในอักขระที่เพิ่งค้นพบ

กาตุนยังเป็นหน่วยย่อยของปฏิทินมายาซึ่งมีรอบเวลา 7,200 วันหรือประมาณ 20 ปี ซึ่งกษัตริย์จากัวร์ พาว์ทรงครองตำแหน่งถึงปลายกาตุนที่ 13 ในปีคริสตศักราช 692 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. ที่กำลังจะมาถึง และเพื่อผูกโยงพระองค์และรัชสมัยของพระองค์สู่อนาคต พระองค์จึงทรงเชื่อมโยงรัชสมัยของพระองค์กับรอบบักตุนที่ 13 รอบถัดไป ซึ่งก็คือวันที่ 21 ธ.ค. 2012 นั่นเอง

“สิ่งที่อักขระนี้บอกแก่เราคือช่วงเวลาแห่งวิกฤต ซึ่งชาวมายาโบราณใช้ปฏิทินของพวกเขาเพื่อสานความต่อเนื่องและความยั่งยืนมากกว่าจะเป็นการทำนายวันโลกาวินาศ” คานูโตกล่าว

ที่เมืองลา โคโรนานั้นเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่ถูกลักลอบขโมยของมากที่แห่งหนึ่ง และเพิ่งได้รับการสำรวจโดยทีมนักโบราณคดียุคใหม่ได้ประมาณ 15 ปีเท่านั้น โดยคานูโตยังมี โทมัส บาร์เรนทอส คิว (Tomas Barrientos Q.) จากมหาวิทยาลัย เดล วาลล์ เดอ กัวเตมาลา (Universidad del Valle de Guatemala) ร่วมทีมขุดสำรวจ

ทีมวิจัยได้ขุดพบหินบันไดขั้นแรกเมื่อปี 2010 ใกล้ๆ กับสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายอย่างหนักจากนักขโมยโบราณวัตถุ หัวขโมยพลาดบันได12 ขั้นนี้ไป แต่ก็เหลือตัวอย่างหินในปราสาทดั้งเดิมไว้เพียงเล็กน้อย ทีมวิจัยยังพบหินอีก 10 ก้อนจากขั้นบันไดที่ถูกหัวขโมยเคลื่อนย้ายแต่ถูกทิ้งไว้ โดยสรุปทีมวิจัยพบหิน 22 ก้อนที่มีอักขระโบราณ 264 ตัว ซึ่งบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ด้านการเมืองของลา โคโรนา และส่งผลให้โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นอักษรมายาโบราณที่ยาวที่สุดในกัวเตมาลา
รายละเอียดในหินบันไดขั้นที่ 5 ที่บอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองของชาวมายาโบราณ (ไลฟ์ไซน์/David Stuart)
ทีมวิจัยแถลงข่าวการค้นพบหลักฐานที่อ้างถึงปฏิทินมายา (Universidad del Valle de Guatemala)
โจเซลีน พอนซ์ (Jocelyne Ponce) นักศึกษาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยเดลวอลล์เดอกัวเตมาลา เป็นผู้พบบันไดที่มีการสลักเรื่องราวของชาวมายาโบราณ
กำลังโหลดความคิดเห็น