ผู้เข้าร่วมหลักสูตรล้างพิษเพื่อสุขภาพ อ.ขวัญดิน รุ่นที่ 29 กว่า 170 ชีวิตถ่ายภาพร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในฐานะครูใหญ่โรงเรียนผู้นำ
บัตรงาน “60 ขวบเข้า มาลา คำจันทร์-60 วัสสา แรคำ ประโดยคำ” และปกหนังสือต่างๆ
ห่างหายไปหนึ่งสัปดาห์ เพราะดอดไปเข้าค่ายฟื้นฟูกายและใจมา คือ หลักสูตรล้างพิษเพื่อสุขภาพของ อ.ขวัญดิน รุ่นที่ 29 ระหว่าง 21-26 ก.ย. 2555 ณ สถาบันฝึกอบรมผู้นำ มูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเรามักเรียกกันว่า โรงเรียนผู้นำหรือบ้านลุงจำลองที่ จ.กาญจนบุรี
อยากย้ำตรงนี้เหมือนที่ลุงจำลองพูดบ่อยๆ ว่า นอกจากจะต้องเสียเงินเพื่อไปอดอาหาร หลักๆ ที่จะได้เพิ่มคือความแข็งแกร่งของกายและใจ ไม่นับคนป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ไปร่วมอย่างมีความหวัง คนที่ต้องการไปฟื้นฟูสุขภาพก็ได้สิ่งดีๆ กลับมา บางคนเลิกชา กาแฟ หรือแม้กระทั่งบุหรี่ได้เด็ดขาด แค่นี้ก็น่าจะคุ้มเกินคุ้ม
การไปเข้าค่ายสุขภาพที่โรงเรียนผู้นำของลุงจำลองไม่ใช่ไปติดคุก หรือถูกตัดขาดจากโลกภายนอก อิสรเสรียังมากล้น แถมอยากได้ความรู้ก็มีให้ตักตวงหลากหลายและมากมาย ที่สำคัญส่วนใหญ่ก็คอเดียวกันทั้งนั้น เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้อยุติธรรมของผู้คนในบ้านเมืองจึงระงมไม่ขาดสาย ข่าวคราวความเครื่อนไหวเรื่องไม่ดีไม่งามของกลุ่มก๊วนกวนเมืองถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สถานการณ์บ้านเมืองเดินไปอย่างไรไม่มีตกข่าว
แม้ต้องอดอาหาร แต่ก็อิ่มเอมใจตลอดเวลาเมื่ออยู่ที่นั่น?!
ถึงวันนี้ยังมีเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นมากมาย แต่ใช่จะจบลงง่ายๆ สัปดาห์นี้จึงอยากนำเรื่องดีงามมาเล่าสู่กันฟังให้สำเริงใจ ก่อนกลับไปเครียดกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่แม้กระทั่งพ่อหลวงของปวงไทยยังถึงกลับมีพระราชดำรัสว่า วิกฤตที่สุดในโลก
เป็นเรื่องราวของ 2 ครูที่คู่ควรแก่การน้อมเคารพได้อย่างไม่กระดากใจ เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แต่ไม่ใช่ผู้ที่เพิ่งได้รับการยกยอปอปั้นให้ได้รางวัล “นักศึกษาเก่าผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต” คนล่าสุดที่ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมระงมไปทั่ว
ทว่าทั้ง 2 ท่านที่จะกล่าวถึงนี้เป็นที่รักและนิยมชมชอบในทางสาธารณะ และมีรางวัลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติเป็นเครื่องการันตี
หนึ่งคือ “แรคำ ประโดยคำ” หรือ รศ.สุพรรณ ท้องคล้อย เกิด 9 ม.ค. 2496 ที่ จ.จันทบุรี จบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทย จาก มช. และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานบทกวีรวมเล่มชื่อ “ในเวลา” ของท่านได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2541
ท่านเพิ่งเกษียณราชการจากคณะมนุษยศาสตร์ มช.มามาดๆ เมื่อสิ้นเดือนก.ย.ปีนี้เอง!!
หนึ่งคือ “มาลา คำจันทร์” หรือ อ.เจริญ มาลาโรจน์ เกิด 12 ก.พ. 2495 ที่ จ.เชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มช. และปริญญาโทสาขาวิชาจารึกภาษาไทย จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์ที่คณะมนุษยศาสตร์ มช.เช่นกัน แต่ตอนหลังไปเป็นนักเขียนและนักวิชาการอิสระ ผลงานเขียนเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2534
ในวาระนี้จึงถือเป็นการต้อนรับอีกหนึ่งห้วงเวลาสำคัญของชีวิตท่านในวัยแซยิดนั่นเอง!!
เสาร์ที่ 6 ต.ค. 2555 นี้สมาชิก “กลุ่มวรรณกรรมกาแล” ที่เกิดขึ้นในรั้ว มช.เมื่อ 28 ปีก่อนจะร่วมกันจัดงาน “60 ขวบเข้า มาลา คำจันทร์ - 60 วัสสา แรคำ ประโดยคำ” ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าตลาดต้นพยอม บนถนนสายหลักด้านหลัง มช.นั่นเอง
นอกจากสมาชิกกลุ่มกาแลหลายสิบชีวิตที่ห่างหายกันไปคนละทิศคนละทางจะได้ไปรวมตัวกันอีกครั้งแล้ว ยังจะมีเพื่อนพ้องน้องพี่และศิษยานุศิษย์ รวมถึงผู้นิยมชมชอบครูทั้ง 2 ท่านไปร่วมงานด้วย
ในฐานะสมาชิกกลุ่มกาแลที่มีครู 2 ท่านนี้เป็นที่ปรึกษา อีกทั้งเป็นลูกศิษย์ลูกหาทั้งในห้องเรียน ในวงข้าวและเหล้าเบียร์ แถมเคยติดตามรับใช้แบบได้ไปอิงแอบอิ่มอุ่นทั้งที่ท้องและจิตใจถึงหอพัก-บ้านพัก ผมระลึกเสมอว่าครูทั้ง 2 ท่านได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการถากถางเส้นทางสู่สวนอักษร ช่วยตบกระบวนคิดในการมองสังคม เกื้อหนุนให้หยัดยืนอยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนในค่ายที่ยืนเคียงข้างประชาชนได้จนทุกวันนี้
หรืออย่างน้อยก็ช่วยผลักดันให้ผมมีผลงานหนังสือพ็อกเกตบุ๊กของตนเองเป็นที่ภาคภูมิใจกับเขาบ้างแล้ว
2 เล่มแรกไม่น่าจะมีอยู่ท้องตลาดแล้ว เล่มหนึ่งคือ “สื่อกับปรากฏการณ์” มุมมองคนสื่อต่อปรากฏการณ์ปัญหาโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย อีกเล่มคือ “ชีวิตที่ไม่ได้เลือก” 15 กรณีศึกษาที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากโครงการของรัฐ กรณีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ส่วนเล่มนี้น่าจะยังพอหาได้ โดยเฉพาะที่ ASTV Shop บ้านเจ้าพระยาคือ “พิราบสีเหลือง” ในนามปากกา “ภู-ติ-รัก” รวมบทกวีบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย โดยสื่อมวลชนกวี ผู้มีหัวใจพันธมิตรฯ
ผมจึงตั้งใจอย่างมุ่งมั่นจะไปร่วมงานในครั้งนี้ โดยก่อนหน้าก็ได้ส่งงานเขียนกราบคารวะไปจัดพิมพ์รวมเล่มเป็นของที่ระลึกในงานแล้ว จึงขอหยิบยกเอาส่วนที่เป็นบทกวีที่ใช้เวลาเขียนถึง 27 ปีจึงจบลงได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนดังกล่าวมาแบ่งปันท่านผู้อ่านด้วยดังนี้
@ สุรแสงสว่างหล้า รวิวรรณ
สุรเสียงเสนาะกรรณ เกริกแก้ว
สุรสีพิสุทธิ์สรรค์ ใสสด
สุรอักษราเพริศแพร้ว พรั่งพร้อมรสเพียงฯ
@ รรรเรียงผจงร้อย รสคำ
ร้อยสื่อภาษานำ นอบน้อม
ร้อยรู้สึกใจจำ จับจิต
ร้อยรสกวีพร้อม ประดับพื้นพิมพ์ใจฯ
@ ในวาระทวิแก้ว กวีกานต์
เบญจรอบนักษัตรสาน สืบเชื้อ
ต่างแดนสิดลดาล พานพบ
พันผูกเกลอก่อเกื้อ แกร่งกล้าวรรณกรรมฯ
@ “แร” ล้ำอักขระร้อย รสกวี
"คำ" กลั่นกมลค่ามี มากล้น
"ประโดย" ประดิษฐ์วจี วิจิตร
"คำ" จากจันท์ฯ จึ่งข้น จึ่งเข้มคำครูฯ
@ "มา" ชูมาเชิดเชื้อ เชียงราย
"ลา" สู่นครพิงค์พริ้งพราย พร่างฟ้า
"คำ" จึ่งคู่คมคาย คุณอเนก
"จันทร์" ส่องบรรณพิภพจ้า จรัสเรื้องเรืองรองฯ
@ สองคำอร่ามยิ่งแล้ว ล้านนา ไทยนา
คือสองคุรุบูชา เชิดถ้วน
สองเพื่อนมิพรากพา ผิดแผก นาพ่อ
คือสองซีไรต์ล้วน ค่าล้ำ “กาแล”ฯ