ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก จนจูงใจนักลงทุน และกลุ่มขาจร! ที่คิดว่ามีเงินทั้งหลาย ให้เข้ามาสู่วงเวียนของธุรกิจนี้ และยิ่งในปัจจุบันยุคแห่งสังคมข่าวสาร ผู้บริโภคเข็ดขยาดกับการซื้อบ้านไม่ได้บ้าน ทำให้หันมาเลือกซื้อบ้านกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ที่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้รายใหญ่ได้เปรียบในเรื่องของแบรนด์ ประกอบกับเงินทุนจำนวนมหาศาลด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถขยายอาณาจักร ผ่านการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
กระนั้นก็ดีการเติบโตในธุรกิจนี้ก็มิใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย โดยเฉพาะการที่จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง!!
ในอดีต บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ของเสี่ยอนันต์ อัศวโภคิน ถือเป็นเจ้าตลาดครองแชมป์มาอย่างยาวนาน แต่ในที่สุดก็ถูกบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ของ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เศรษฐีหุ้น ล้มแชมป์มาแล้ว
ส่วนบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบัน เศรษฐา ทวีสิน กว้านซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ก็ได้ประกาศท้ารบหวังขึ้นแชมป์เบอร์หนึ่งเช่นกัน
และแน่นอน บุคคลหนึ่งที่ใครหลายคนกลัว และต่างเฝ้ามองว่าคนผู้นี้จะก้าวเดินไปในทิศทางไหนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็คือ “เจ้าสัว เจริญ ศิริวัฒนภักดี ” หรือที่รู้จักกันดีในภาพลักษณ์ของเจ้าสัวแห่งวงการธุรกิจน้ำเมา เพราะ เมื่อวัดปริมาณเงินลงทุนที่มากโขแล้ว ไม่ว่าเจ้าสัวเจริญ จะเดินไปในทิศทางไหนคู่แข่งต่างมีอาการหวั่นไหวอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น เจ้าสัวเจริญได้มอบหมายให้ให้ลูกสาวคนโปรด วัลลภา และ โสมพัฒน์ ไตรโสรัตน์ บุตรสาวคนที่สองและบุตรเขยเป็นผู้ดูแลบริษัท ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ จำกัด ที่พัฒนาทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ส่วนบริษัท ทีซีซี แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าพื้นที่และบริหารพื้นที่ ศูนย์การค้าและตลาดนัด เช่น พันธ์ทิพย์ ,ตะวันนา ,ดิจิตอลเกตเวย์ สยาม กลุ่มอาคารสำนักงาน เช่น อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ,แอทธินี , อาคารไซเบอร์เวิล์ด ทาวเวอร์ , อาคารเนชั่น ทาวเวอร์ กลุ่มพฤกษศาสตร์ กลุ่มหอพัก อพาร์ตเมนต์
ในขณะที่บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด จะดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโครงการรีเทล (ค้าปลีก) และโรงแรมของตระกูลสิริวัฒนภักดี โดยมีลูกชาย ฐาปนและปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ดูแล
กระทั่งเมื่อปี 2550 นายฐาปนและปณต ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 452 ล้านบาทของ บริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) (UV) ผ่านบริษัท อเดสฟอส จำกัด จากนั้นก็ได้เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ UV จนทำให้มีสัดส่วนในการถือหุ้น 56.4% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ UV นับเป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มตัว โดยภายหลังการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น UV ก็ได้ประกาศการลงทุนพัฒนาโครงการ อาคารสำนักงานและโรงแรมระดับห้าดาวแห่งใหม่บนแยกถนนเพลินจิต-วิทยุ ความสูง 33 ชั้น มูลค่าการลงทุนกว่า 7,500 ล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการปาร์ค เวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ ออน วิทยุ
จากนั้นก็ได้สร้างปรากฏการณ์เขย่าวงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้งด้วยการประกาศ เข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GOLD) โดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer - VTO) ประกอบด้วยหุ้น จะเสนอซื้อในราคา 5.50 บาทต่อหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกเพื่อให้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ (Warrants) จะเสนอซื้อในราคา 2.50 บาทต่อหน่วย และให้บริษัทฯ เข้าทำสัญญาซื้อขายกับ Rock Key International Limited (RKIL) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและ Warrants ของ GOLD โดย RKIL ตกลงที่จะขายหุ้นจำนวน 281.3 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 24.8 และ Warrants จำนวน 108.4 ล้านหน่วยให้แก่ UV ในกระบวนการ VTO ในราคาเดียวกับราคาเสนอซื้อที่บริษัทฯ กำหนดไว้
ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นและWarrants ของ UV ในการทำ VTO (รวมจำนวนที่ RKIL จะเสนอขายใน VTO ด้วย) จะเกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ UV ต้องได้หุ้นสามัญมากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD และ การดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นและการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน ซึ่งบริษัทจะจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 55 นี้
พร้อมกันนี้ UV ยังเตรียมซื้อหุ้นสามัญของบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ ทั้งหมด 40% จากผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ถือหุ้นร้อยละ 20 และบริษัทเยาววงศ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 20 ส่วนแกรนด์ ยูนิตี้ ถือหุ้นในปัจจุบัน 60% ทั้งนี้ แกรนด์ ยูนิตี้ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลาง คิดเป็นมูลค่าขายกว่า 10,000 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 600 ล้านบาท ส่วน GOLD ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 16,382 ล้านบาท
การซื้อกิจการและการเพิ่มทุนดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนธันวาคม 2555 ภายหลังจากได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ซึ่งกรณีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจใน GOLD อาจถูกยกเลิกได้หากบริษัทไม่สามารถซื้อหุ้นสามัญได้มากกว่า 50% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD หรือหากบริษัทไม่สามารถจัดหาวงเงินกู้พิเศษระยะสั้นจากธนาคารได้ก่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ นางอรฤดี ณ ระนอง ประธานอำนวยการ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ฯ ให้เหตุผลในการเข้าซื้อหุ้นทั้งสองบริษัทว่า นับเป็นก้าวกระโดดสำคัญของยูนิเวนเจอร์ที่จะขึ้นเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร และเป็นแผนกลยุทธ์สำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทยและเชื่อว่าจะทำให้บริษัทฯเติบโตอย่างมั่นคงอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ในระยะยาวของผู้ถือหุ้น
โดยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นกลยุทธ์ในการก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นในตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลางอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมาแกรนด์ ยูนิตี้ได้รับการสนับสนุนจากแอล.พี.เอ็น และกลุ่มเยาววงศ์ เป็นอย่างดี และนับเป็นความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จเป็นอันมาก แต่เมื่อบริษัทมีความต้องการที่จะขยายงานมากขึ้น จึงเสนอแผนการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของแกรนด์ยูฯ เพื่อรองรับกลยุทธของกลุ่มบริษัท
ส่วนการเสนอซื้อหุ้น GOLD นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอีกก้าว เพราะบริษัทได้เล็งเห็นศักยภาพและทรัพย์สินของ GOLD ที่จะช่วยเติมเต็มให้กับแผนธุรกิจของบริษัท และเชื่อมั่นว่าด้วยการบริหารจัดการและความพร้อมของแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ จะสามารถผลักดัน เพิ่มคุณค่า และพัฒนาทรัพย์สินของ GOLD ที่มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ให้มีประสิทธิภาพและเติบโตขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำ บนหลักของการสร้างผลตอบแทนให้กลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด
...และนั่นคือจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เจ้าสัวเจริญสยายปีกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากก่อนหน้านี้ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว กับการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจน้ำเมามาแล้ว !!!
ส่วนเมื่อยักษ์ใหญ่กระโดดลงมาแล้ว จะทำให้หญ้าแพรกแหลกลาญหรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
หมายเหตุ - 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญร่วมพูดคุยและแสดงความคิดกันได้ที่ http://www.facebook.com/Astvmanagerweekend