รอยเตอร์/เอเยนซีส์/ASTVผู้จัดการรายวัน - สื่อต่างประเทศรายงานรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์" ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการป้องกันน้ำท่วม ด้าน "ปู" ลงพื้นที่ดูน้ำท่วมสุโขทัย หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เชื่ออีก 2 วันน้ำลด แต่ไม่ยอมเข้าดูน้ำท่วมพื้นที่ ไบางระกำโมเดล" ขณะที่น้ำยมถึงพิจิตร ทะลักท่วม "สามง่าม" แล้ว คาดไม่เกิน 5 วัน "นครสวรรค์" รับน้ำต่อ "กรมชลฯ" เร่งพร่องน้ำเหนือ พร้อมเตือน 7 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำท่วมสูง ก่อนจะถึงเมืองกรุงในอีก 10 วัน
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ และสื่อต่างประเทศอีกหลายสำนักระบุว่า สังคมไทยกำลังวิตกกังวลกับความล้มเหลวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4 รายขณะที่ประชาชนอีกหลายพันคนทางภาคเหนือของไทยต้องทิ้งบ้านเรือนของตนเพื่อเอาชีวิตรอด หลังฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ระดับน้ำในบางจังหวัดของไทยสูงกว่า 1 เมตร
สื่อต่างประเทศระบุว่า ภาพที่ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำท่วมซึ่งสูงถึงระดับเอว และภาพของการกั้นกระสอบทรายรอบร้านค้าและบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย หนึ่งในเมืองหลวงเก่าของไทย ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงปัจจุบันไปทางเหนือราว 430 กิโลเมตร ทำให้หลายคนหวนนึกถึง “ฝันร้าย” จากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 800 ศพ และฉุดรั้งให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2011 ที่ผ่านมาอยู่แค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
"รอยเตอร์" สำนักข่าวระดับโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ชี้ว่า แม้อุทกภัยที่เกิดขึ้นล่าสุดในไทยดูจะไม่รุนแรงเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่ภัยพิบัติครั้งใหม่อาจส่งผลร้ายกับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรค “เพื่อไทย” ที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากสังคมไทยจาก “การบริหารจัดการที่ผิดพลาด” ต่อวิกฤตอุทกภัยในปี 2011
ด้าน “เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีฐานอยูที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และมียอดจำหน่ายถึงวันละกว่า 2.1 ล้านฉบับ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอีกในปีนี้จนหลายพื้นที่ของไทยต้องจมอยู่ใต้น้ำภายในระยะเวลาอันรวดเร็วนั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จะสามารถต้านทานกระแสน้ำในปีนี้ได้หรือไม่ ทั้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ทุ่มงบประมาณของประเทศไปกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.4 แสนล้านบาท) เพื่อวางแผนรับมือน้ำท่วมในปีนี้ หวังสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยยังมิอาจตอบคำถามสังคมได้ว่า “เพราะเหตุใดน้ำจึงท่วมอีก? ” ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ปริมาณฝนในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 20 เปอร์เซ็นต์
สื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังของสหรัฐฯฉบับนี้ยังชี้ว่า น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มัวแต่ให้ความสำคัญกับระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก และที่เขื่อนสิริกิต์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่กลับมองข้ามการรับมือกับน้ำฝนปริมาณมากที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ “ใต้” เขื่อนใหญ่ทั้งสอง ขณะเดียวกัน อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่เด่นชัดในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำระหว่างรัฐบาลไทย กับคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยที่เป็นบ้านของประชากรไม่ต่ำกว่า 8.3 ล้านคน ที่ดูเหมือนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีจุดยืนในการรับมือกับน้ำท่วมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
**น้ำท่วมสุโขทัยเริ่มคลี่คลายแล้ว
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่ตลาดเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีวานนี้ (13 ก.ย.) เริ่มคลี่คลายแล้วภายหลังทหารจากกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันเร่งขนเกเบียน หรือกล่องหินหนัก 2 ตันเข้าไปวางปิดล้อมกระแสน้ำยมตรงบริเวณพนังกั้นน้ำที่ชำรุดเสียหาย เพื่อชะลอความแรงของน้ำไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมืองเพิ่ม
นายปรีชา เร่งสมบรูณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การวางแนวเกเบียน และบิ๊กแบ็กได้ดำเนินการไปแล้ว 99% เหลือเพียงการอุดรอยรั่วบริเวณรอยต่อบิ๊กแบ๊กซึ่งอาจจะขยายใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งทางกองทัพจะดำเนินการนำกระสอบทรายขนาดเล็กวางอุดรอยต่อดังกล่าวและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาบรรจุกระสอบช่วยด้วย
"การแก้ปัญหาแนวพนังกั้นน้ำยมอย่างถาวรนั้นจะหาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งชีทไพล์มาวางบริเวณดังกล่าวประมาณ 100 เมตร เพื่อวางรากฐานแนวกำแพงกั้นน้ำแม่น้ำยมให้มั่นคง ไม่ติดปัญหารอยรั่วอีก"
นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เดินเครื่องสูบน้ำไปแล้ว 24 เครื่อง และจะเร่งดำเนินการติดตั้งและระดมสูบน้ำในพื้นที่ต่างๆ ให้เร็วที่สุด โดยบริเวณใดตั้งเครื่องสูบน้ำได้ก็ติดตั้งได้เลย
ด้านนายพิเชฐ ไทยกล้า นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี เปิดเผยว่า ตอนนี้การดำเนินการคืบหน้าเกือบ 100% แล้ว เหลือแค่นำบิ๊กแบ็กหนัก 1.5 ตันไปวางอุดในจุดที่น้ำพุ่งทะลักซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งจะใช้กระสอบทรายถุงเล็กวางอุดตามช่องของเกเบียนที่มีน้ำไหลซึมออกมาเพื่อหยุดการไหลซึมของน้ำอย่างถาวร ขณะเดียวกันมีการเร่งสูบน้ำออกตลอดตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเช้าวันนี้ เชื่อว่าภายใน 2 วันน้ำที่ท่วมในเขตเทศบาลทั้งหมดจะลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแน่นอน
**6ชุมชนใกล้เขตเทศบาลฯยังอ่วม
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตตลาดเทศบาลจะสามารถควบคุมไว้ได้แล้ว แต่ทว่าพื้นที่อีก 6 ชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีนั้นยังคงได้รับผลกระทบหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ชุมชนวิเชียรจำนงค์ และชุมชนคลองตาเพชร ซึ่งบางจุดพบว่ามีน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ ต้องรอหน่วยงานรัฐนำอาหารเข้าไปให้เท่านั้น ขณะที่ถนนหลายสายในตัวเมืองสุโขทัยยังคงมีน้ำท่วมสูง 30-60 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรลำบาก ส่วนสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง รวมทั้ง 5 โรงเรียนในเขตเทศบาลฯ ยังคงมีน้ำท่วมขัง ทำให้ต้องปิดการเรียนการสอนตลอดช่วงสัปดาห์นี้
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานและสถานประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.สุโขทัย พบว่ามีโรงงานและสถานประกอบการได้รับความเสียหายรวม 19 แห่ง เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งภายหลังน้ำลดทางอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัยเร่งเข้าไปช่วยซ่อมแซมเครื่องจักรให้ พร้อมจะช่วยประสานแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่ รวมทั้งจะช่วยหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ต่อไปด้วย
**น้ำยมทะลักพิจิตร "สามง่าม" อ่วม
นายธีระพงศ์ เพ็ชรพงศ์ นายก อบต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งมีที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ริมแม่น้ำยม รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำยมมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งแล้ว หลังจากที่เมื่อวานนี้น้ำได้ท่วมในพื้นที่บ้านปากคลอง หมู่ 11 และบ้านเนินยุ้ง หมู่ 7 ซึ่งเป็นที่ลุ่ม โดยน้ำเข้าท่วมเฉพาะใต้ถุนบ้านสูงแค่เพียง 50 ซม. แต่หลังจากปริมาณน้ำก้อนใหญ่จากสุโขทัยไหลเข้ามาทาง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำเริ่มล้นตลิ่งและเข้าท่วมในพื้นที่ ต.รังนกแล้ว
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 1.50-1.70 เมตร และเข้าท่วมทุ่งนาและถนนภายในหมู่บ้านหลายเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ชาวนาได้เกี่ยวข้าวหนีน้ำไปก่อนหน้านี้แล้วจึงไม่มีผลผลิตได้รับความเสียหาย แต่ผลกระทบในระยะต่อไปคืออาจทำให้ชาวนาไม่สามารถนำข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะเปิดโครงการวันที่ 1 ต.ค.55 ได้
ส่วนการสัญจรไปมานั้น นายธีระพงษ์ระบุว่าชาวบ้านแถบนี้ล้วนมีเรือพายหรือเรือหางยาวไว้ใช้ประจำบ้านทุกหลังคาเรือนอยู่แล้ว จึงสามารภรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้ แต่คาดว่าพื้นที่ที่อยู่ปลายน้ำอย่างจังหวัดนครสวรรค์ คงจะต้องพบสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งเช่นเดียวกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร ภายใน 5 วันอย่างแน่นอน
**พระ-เณร อ่างทองเร่งป้องกันแพพัง
ที่ จ.อ่างทอง พระและสามเณรวัดต้นสน ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง ต้องช่วยกันนำเศษต้นไม้ และผักตบชวาที่ติดอยู่ด้านหน้าของแพปลาขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปทิ้ง เพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวก และไม่ส่งผลกระทบถึงแพปลา หลังน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลแรง และเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องใช้เชือกมนิลาขนาดใหญ่ผูกมัดกับหลักทั้งด้านหน้า และด้านหลังเพื่อป้องกันแพหลุดลอยไปกับกระแสน้ำเช่นเดียวกับเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งหลุดไปตามกระแสน้ำก่อนไปกระแทกกับเขื่อนเรียงหินจนพังเสียหาย
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มสูง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรอรับมวลน้ำจาก จ.สุโขทัย และ จ.นครสวรรค์ และรองรับน้ำฝนที่จะตกเหนือเขื่อนหลังดีเปรสชันจะส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้น โดยล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 1,834 ลบ.เมตร/วินาที เพิ่มจากเมื่อวาน 40 ลบ.เมตร/วินาที น้ำผ่าน จ.อ่างทอง ที่ 1,785 ลบ.เมตร/วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองสูง 7.13 เมตร/รทก. ทำให้ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นใน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง โดยล่าสุด มีชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 200 ครอบครัวแล้ว
**กรมชลฯเดือน7จว.ลุ่มเจ้าพระยาน้ำสูง
ด้านศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมพร้อมแผนรับมือน้ำเหนือที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว พร้อมแจ้งเตือนจังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าช่วง 13-17 ก.ย.นี้ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้นจะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำสาขาต่างๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือล่วงหน้ากับสถานการณ์น้ำเหนือที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเหนือ ด้วยการพร่องน้ำทางตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,800 - 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.เป็นต้นไปเพื่อผลักดันน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็ว
ลักษณะดังกล่าวนี้จะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นในระยะต่อจากนี้ไป ประมาณ 25 - 50 ซ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูง และป้องกันพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
**รบ.การันตีแก้มลิงระหว่างทางรองรับได้
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่กลางน้ำทางรัฐบาลได้ดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำยมให้ไปสู่ลุ่มน้ำน่าน เพราะขณะนี้มีปริมาณน้ำในลุ่นน้ำยมจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องทางตอนบน และไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับ แตกต่างจากลุ่มน้ำวังและปิง มีเขื่อนภูมิพลรับน้ำ ส่วนลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติติ์ และเขื่อนนเรศวรรองรับ และควบคุมปริมาณน้ำได้ ดังนั้นการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำจะช่วยลดปริมาณมวลน้ำก้อนแรกที่จะไหลลงพื้นที่ตอนล่างได้ด้วย
ทั้งนี้ การผันน้ำโดยโครงข่ายน้ำลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่าน ผ่านคลองหกบาทเพื่อเข้าแม่น้ำน่านโดยจะเข้าไปยัง จ.พิจิตร ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวและนาบัวนับเป็นวิถีชีวิตที่ประชาชนอยู่กับน้ำ โดยน้ำจะไหลตามพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่่ท่วมซ้ำซากทุกปี พร้อมกับไหลไปยังบึงที่เป็นเสมือนแก้มลิงที่ทางรัฐบาลดำเนินการไว้ตามงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เช่น บึงบางระกำ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่สาธารณะจังหวัดพิษณุโลก
นายวิม กล่าวว่า ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนด้วย เพราะขณะนี้สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดประตูระบายน้ำอยู่ที่ 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะหากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อต่อปริมาณน้ำโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำ เช่น บางบาล เสนา บางปะอิน และบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
**"ปู"ยาหอมชาวบางบาล-ปัดโต้"เสธ.หนั่น"
ด้านภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วานนี้เวลา 11.30 น.นายกฯพร้อมคณะ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มายัง ต.บางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และแจกถุงยังชีพแก่ชาวบ้าน
ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวกับชาวบางบาลว่า "รัฐบาลไม่ทอดทิ้งประชาชน ซึ่งมีความห่วงใยจึงเดินทางมาเยี่ยม ชาวบ้านยังมีรอยยิ้มก็ชื่นใจ และคลายกังวลลงบ้าง ทราบดีว่า น้ำที่ท่วมอยู่ในขณะนี้ เป็นน้ำล้นตลิ่ง ที่มาจากน้ำฝนและน้ำเหนือ ที่ระบายลงมา ได้ฝากให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสานงานกับท้องถิ่น ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดกับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม"
ส่วนถึงกรณีที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ตำหนิว่า "กบอ." ควรต้องดูภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ใช่ดูแต่เฉพาะกรุงเทพฯ ปทุมธานี หรือนนทบุรีนั้น นายกฯ กล่าวเพียงสั้นว่า "ยังไม่ทราบ ยังไม่มีข้อมูล"
**ลงพื้นที่สุโขทัย-ระบุไม่เกิน 2 วันน้ำลด
เวลา 15.25 น. นายกฯ และคณะได้ลงพื้นที่พบปะผู้ประสบอุทกภัยและตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่วัดราชธานี อ.เมืองสุโขทัย โดยได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากผู้ว่าฯ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแม่ทัพภาคที่ 3 ก่อนที่จะเดินลุยน้ำที่สูงเสมอเข่าในตลาดเทศบาลเข้าไปดูการซ่อมแนวพนังจุดที่รั่ว พร้อมกับมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน รวมทั้งได้ผัดกะเพราหมูให้กับผู้ประสบภัยได้รับประทาน
นายกฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเป็นช่วงเหตุการณ์ปกติก็คงไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้และไม่เกินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพราะน้ำยังไม่ล้นตลิ่ง แต่เป็นเพราะน้ำลอดใต้พนังจนเกิดมวลน้ำขนาดใหญ่จึงทำให้เกิดเหตุขึ้น และเชื่อว่าขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้วและคาดว่าน้ำจะไม่ไหลไปกระทบพื้นที่อื่นและไม่เกิน 2 วันน้ำจะลด
"ในส่วนของการเยียวยาจะทำได้รวดเร็วขึ้นและจะไม่รอน้ำลด โดยได้สั่งให้มีการตั้งทีมเพื่อสำรวจความเสียหาย เพื่อการเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว" นายกฯ กล่าวรับปาก
**"ปู"เลี่ยงเข้าพื้นที่“บางระกำโมเดล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการ "นายกฯปู-ยิ่งลักษณ์" ตรวจพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า มีกำหนดการไปดู "บางระกำโมเดล" หรือดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ชลประทาน จ.พิษณุโลก ไม่ว่าคลองกล่ำ คลองเกตุ หรือบึงขี้แล้ง อ.บางระกำ แม้แต่แห่งเดียว โดยเน้นไปตรวจการรับจำนำข้าว ที่โกดังกลาง พีเค ไรซ์ อ.บางระกำ แทน
ด้านนายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จ.พิษณุโลก ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 6 อำเภอได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.เมืองพิษณุโลก อ.บางระกำ อ.ชาติตระการ อ.นครไทย อ.วังทอง ล่าสุดกำลังเฝ้าระวังและเตรียมการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมในเขต อ.พรหมพิราม ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.บางระกำ
**คาดใน 10 วันน้ำเหนือไหลจ่อกรุง
นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานอนุกรรมการระยะเร่งด่วน ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำเริ่มทยอยไหลเข้าที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จากนั้นจะเข้า จ.นครสวรรค์ตามลำดับ ซึ่งที่ จ.ชัยนาท ต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรับมวลน้ำก้อนนี้ที่อาจมาถึงในช่วง 5 วัน โดยระหว่างการไหลของน้ำพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำจะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งกรมชลประทานคงจะบริหารให้มวลน้ำชะลอความรุนแรง เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดเหตุเช่นเดียวกับที่ จ.สุโขทัย
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาเมื่อรวมกับปริมาณน้ำฝนที่จะตกหนักตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงวันที่ 14-17 ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน จึงเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานที่ต้องเร่งระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด
ส่วนปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกลงมานั้นน่าจะอยู่ที่ 60-80 มิลลิเมตร ซึ่งในกรุงเทพฯ หน่วยงานอย่างกทม.จะต้องดูแล ซึ่งปัจจุบันมวลน้ำจากด้านนอกยังไม่เข้ามารบกวนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ถ้าช่วงดังกล่าวมีปริมาณฝนเกิน 60 มิลลิเมตร ในบางพื้นที่การระบายน้ำอาจจะทำได้ช้าลง แต่ระบบการระบายน้ำที่ติดตั้งไปแล้ว อาทิ เครื่องผลักดันน้ำก็จะเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งปริมาณน้ำที่อยู่ด้านบนอาจใช้เวลาเดินทางถึงรอบกรุงเทพฯภายใน 7-10 วัน แต่หากปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนมีจำนวนมากคาดว่าจะใช้เวลาเร็วกว่าเดิม ทั้งนี้ อยากเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมระบบการแจ้งเตือนน้ำท่วมให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยมีหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทันที เพราะหลังจากนี้จะเริ่มมีน้ำท่วมเป็นจุดๆ และเป็นบางช่วงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำ