xs
xsm
sm
md
lg

RATCHลุ้นครม.อนุมัติโรงไฟฟ้าลมที่เขาค้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯมั่นใจโรงไฟฟ้าพลังลมที่เขาค้อฉลุย คาดครม.อนุมัติสายส่งผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำ1Bปลายปีนี้ เล็งจับมือ”พรีไซซ เพาเวอร์”ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมหลังเซ็นกู้ 620 ล้านบาทในโครงการสงขลาไบโอแมส

วานนี้ (13 ก.ย. ) บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ได้ลงนามสัญญาเงินกู้โครงการไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย วงเงิน 620 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นโครงการเพื่อชุมชุนโดยเปิดโอกาสให้ชุมชุนเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้า เบื้องต้นสหกรณ์ฯอัศศิดดิกเข้ามาร่วมถือหุ้นในสงขลาไบโอแมส 20% หลังจากนั้นดำเนินการกระจายหุ้นให้ชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าต่อไป

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือRATCH กล่าวว่า บริษัทฯยังมีแผนจะร่วมทุนกับบริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบส่ง เพื่อลงทุนพลังงานทดแทนในจังหวัดอื่นๆ โดยจะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการถือหุ้นด้วย

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่เขาค้อ ขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ มูลค่า 4.5 พันล้านบาทนั้น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปลายปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะปรับปรุงสายส่งจาก 22 เควีเป็น 115 เควี ซึ่งสายส่งนี้ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B

นายนพพล กล่าวถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหภาพพม่าว่า บริษัทฯยังมองโอกาสการลงทุนในพม่าอีกหลายโครงการ อาทิ ร่างกุ้ง ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ส่วนโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าที่ทวายนั้น คงต้องรอให้รัฐบาลของไทยและพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน โดยนายกรัฐมนตรีไทยจะเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในเดือนนี้
เพราะเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย กรรมการ บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคัดเลือกเทคโลยีที่เหมาะสม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ รวมทั้งรอความชัดเจนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของรัฐ เนื่องจากเห็นจะเปลี่ยนระบบการรับซื้อเป็นFeed in Tariffที่ 6.50 บาท/หน่วย เห็นว่าเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างต่ำ บริษัทฯยังสนใจการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีการจัดการขยะ โดยเห็นว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการขยะให้ดีพอ และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่ง นอกจากนี้ยังเจรจากับนักลงทุนในพม่าเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มัณฑะเลย์ สหภาพพม่า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและส่งขายไฟกลับไทย โดยโครงการเหล่านี้ บริษัทฯจะชวนบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีเข้าร่วมทุนด้วย

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา มีกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท และกำหนดขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ในเดือนกรกฎาคม 255 7 จำนวน 9.1 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น