xs
xsm
sm
md
lg

RATCH ลุ้น ครม.อนุมัติโรงไฟฟ้าลมที่เขาค้อ จ่อจับมือ “พรีไซซฯ” ลงทุนเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ มั่นใจโรงไฟฟ้าพลังลมที่เขาค้อฉลุย คาดครม.อนุมัติสายส่งผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำ 1B ปลายปีนี้ เล็งจับมือ “พรีไซซ เพาเวอร์” ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมหลังเซ็นกู้ 620 ล้านบาทในโครงการสงขลาไบโอแมส

วันนี้ (13 ก.ย.) บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ได้ลงนามสัญญาเงินกู้โครงการไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย วงเงิน 620 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นโครงการเพื่อชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้า เบื้องต้นสหกรณ์ฯ อัศศิดดีกเข้ามาร่วมถือหุ้นในสงขลาไบโอแมส 20% หลังจากนั้นดำเนินการกระจายหุ้นให้ชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าต่อไป

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัทฯ ยังมีแผนจะร่วมทุนกับบริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบส่งเพื่อลงทุนพลังงานทดแทนในจังหวัดอื่นๆ โดยจะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการถือหุ้นด้วย

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่เขาค้อ ขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ มูลค่า 4.5 พันล้านบาทนั้น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปลายปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะปรับปรุงสายส่งจาก 22 เควีเป็น 115 เควี ซึ่งสายส่งนี้ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B

นายนพพลกล่าวถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหภาพพม่าว่า บริษัทฯ ยังมองโอกาสการลงทุนในพม่าอีกหลายโครงการ อาทิ ร่างกุ้ง ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง ส่วนโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าที่ทวายนั้นคงต้องรอให้รัฐบาลของไทยและพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน โดยนายกรัฐมนตรีไทยจะเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ เพราะเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย กรรมการ บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ รวมทั้งรอความชัดเจนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของรัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนระบบการรับซื้อเป็น Feed in Tariff ที่ 6.50 บาท/หน่วย เห็นว่าเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างต่ำ

บริษัทฯ ยังสนใจการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีการจัดการขยะ โดยเห็นว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการขยะให้ดีพอ และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่ง นอกจากนี้ยังเจรจากับนักลงทุนในพม่าเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มัณฑะเลย์ สหภาพพม่า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและส่งขายไฟกลับไทย โดยโครงการเหล่านี้ บริษัทฯ จะชวน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีเข้าร่วมทุนด้วย

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา มีกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท และกำหนดขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเดือนกรกฎาคม 2557 จำนวน 9.1 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น