xs
xsm
sm
md
lg

โกหกด้วยหวังผลให้คนเชื่อ : มุสาวาทตามนัยแห่งศีล 5

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ความชั่วอันเกิดจากการพูด หรือที่เรียกว่าวจีทุจริตมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. พูดปด หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าพูดโกหก หรือถ้าให้เป็นภาษาทางราชการเรียกว่าพูดเท็จ อันได้แก่พูดในเรื่องที่ไม่จริงว่าจริง หรือแม้กระทั่งการพูดในเรื่องที่เป็นจริงว่าไม่จริงก็อยู่ในข่ายพูดปดเช่นเดียวกัน แต่เป็นการพูดด้วยเจตนาบิดเบือน

2. พูดคำหยาบ อันได้แก่การพูดด้วยภาษากระทบกระเทียบชาติตระกูล หรือเป็นการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะก้าวร้าว ซึ่งผู้คนในสังคมยอมรับไม่ได้ และเกิดการระคายเคืองหูแก่ผู้ฟัง

3. พูดส่อเสียด อันได้แก่การพูดด้วยหวังให้เจ็บใจหรือได้รับความอับอาย เช่น การนำเอาจุดด้อยอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเขามาพูดเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปมด้อย และได้รับความอับอาย เป็นต้น

4. พูดเพ้อเจ้อ อันได้แก่การพูดในเนื้อหาสาระฟังแล้วไม่ก่อให้เกิดปัญญา ทั้งยังเป็นการเสียเวลาในการฟัง ทั้งเป็นการดูถูกสติปัญญาของผู้ฟังว่าพูดอะไรให้ฟังก็ได้

ในบรรดาวจีทุจริตทั้ง 4 ประการนี้ การพูดปดหรือพูดโกหกถือว่ามีโทษมากที่สุด ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะและโดยนัยแห่งการเปรียบเทียบบัญญัติในทางพระวินัยดังต่อไปนี้

1. ถ้าผู้พูดรู้อยู่ว่าเรื่องที่ตนพูดเป็นเรื่องไม่จริง แต่บอกว่าจริงด้วยหวังให้ผู้ฟังเชื่อ และตนเองได้รับประโยชน์จากความเชื่อนั้น ดังเช่นพระภิกษุที่พูดอวดคุณวิเศษซึ่งตนเองไม่มี แต่บอกว่ามีเพื่อหวังผลให้คนเชื่อถือศรัทธาและนำลาภสักการะมาถวาย มีโทษร้ายแรงถึงขั้นปราชิกขาดจากความเป็นภิกษุทันที และจะบวชใหม่อีกไม่ได้ตลอดชีวิต

2. ถ้าผู้พูดโกหกหรือพูดด้วยให้คนเชื่อ แต่ผู้ฟังไม่เชื่อถือ และผู้พูดไม่ได้รับผลตอบแทนจากการพูดนั้น สังคมโดยรวมไม่เสียหาย โทษที่ได้รับก็คือผู้พูดไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อถือ และเป็นการทำลายศรัทธาซึ่งเคยมีแก่ตนเองไม่ต่างอะไรกับเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสป

3. ในกรณีที่ผู้พูดรู้อยู่ว่าเป็นเรื่องจริง แต่มีเจตนาโกหกบิดเบือนพูดว่าไม่จริง ถ้าผู้ฟังเชื่อก็เท่ากับเป็นการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ถ้าผู้นั้นเป็นคนดีมีศีลธรรม ผู้พูดโกหกก็จะเสื่อมและอาจได้รับโทษทั้งในทางกฎหมาย และไปเกิดในอบายทุคติวินิบาตเมื่อล่วงลับไปแล้ว

สรุปง่ายๆ ก็คือ การโกหกไม่เป็นผลดีแก่ผู้พูด และไม่มีประโยชน์อันใดแก่ผู้ฟัง ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้นานัปการถ้าผู้พูดเป็นคนมีสถานะสูงส่งในสังคม และยิ่งถ้าเป็นผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่สังคมต้องยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการด้วยแล้ว พูดได้คำเดียวว่าเสียหายหนักทั้งในส่วนตัวของผู้พูด และสังคมโดยรวมซึ่งเป็นผู้ฟังด้วย ดังที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้พูดเกี่ยวกับเป้าของการส่งออกในปี พ.ศ. 2555 ว่าจะดีถึง 15%

แต่เอาเข้าจริงๆ ในขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะได้ประมาณ 9% หรือน้อยกว่านี้ และในเวลาต่อมารัฐมนตรีท่านนี้ได้ออกมายอมรับหน้าตาเฉยว่าที่พูดไปก็เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการส่งออก และตนเองก็รู้ว่า 15% เป็นไปได้ยาก ดังนั้นที่พูดไปจึงเป็นการโกหก แต่ฝรั่งเรียกว่าโกหกสีขาว (White Lie) เพราะว่าพูดด้วยเจตนาดี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ามองในแง่คำสอนของพระพุทธศาสนา การพูดโกหกที่เรียกได้ว่า White Lie ของฝรั่งก็มีอยู่แต่เรียกว่า กุศโลบาย ซึ่งมาจาก 2 คำ คือ กุศล ซึ่งแปลว่า ดีและคำว่า อุบาย ซึ่งแปลว่า วิธีการหรือกลยุทธ์ในการจูงใจให้คนทำดี เช่น การพูดถึงนรกให้เกิดความน่ากลัว และพูดถึงสวรรค์ให้คนอยู่อยากไป เป็นต้น ด้วยหวังผลให้คนไม่ทำชั่วด้วยกลัวตกนรก และทำดีเพื่อหวังไปเกิดบนสวรรค์ เป็นต้น

ถ้าพูดเกี่ยวกับเป้าการส่งออกของ รมว.คลังจะเทียบกับกุศโลบายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ามองในแง่เจตนาและวิธีการแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังนี้

1. ในกรณีของรองนายกฯ และ รมว.คลังที่อ้างว่าพูดไปด้วยเจตนาดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจะไปเปรียบเทียบกับการพูดในลักษณะเป็นกุศโลบายไม่ได้ เนื่องจากว่าผู้พูดมีภาระและหน้าที่ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจะต้องยึดถือและนำไปประกอบการวางแผนการผลิต และการส่งออกให้สอดคล้องกันเป้าการส่งออกที่พูดไว้ และในการเตรียมการเช่นนี้จะต้องมีต้นทุน

ดังนั้น เมื่อเป้าการส่งออกไม่เป็นไปตามที่บอกไว้ ความเสียหายจะต้องเกิดขึ้นแก่ภาคเอกชนมากน้อยตามสัดส่วนการลงทุนที่เตรียมไว้แน่นอน และนี่คือความเสียหายอันเกิดจากความเชื่อในคำพูดซึ่งเข้าข่ายเป็นมุสาวาทชัดเจน และถ้าผู้มีสถานภาพเป็นผู้กำกับดูแลเศรษฐกิจล้มเหลวในด้านการกำหนดเป้าหมายเช่นนี้ ยังมีอะไรให้ผู้ประกอบการธุรกิจเชื่อถือศรัทธาอยู่อีกหรือไม่

ส่วนว่าทำไมไม่เข้าข่ายกุศโลบายอีกประการหนึ่งก็คือ การพูดโกหกเพื่อให้คนทำดีในลักษณะเอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อนั้น ถ้าแม้คนฟังเชื่อและทำตามก็ได้กระทำกรรมดีส่งผลให้เขาได้รับผลดี แต่ถ้าไม่เชื่อแล้วไม่ทำตามก็ไม่เสียอะไรเป็นรูปธรรมแต่ประการใดเพราะเป็นเรื่องของศรัทธาอันเป็นเรื่องของปัจเจกชนต่างจากคำพูดของผู้รับผิดชอบประเทศที่เชื่อแล้วมีการกระทำอันต่อเนื่อง เช่น การลงทุนเพื่อผลิตหรือตุนสินค้าเพื่อการส่งออกซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นทุน และจะต้องขาดทุนเมื่อส่งออกได้น้อยกว่าเป้าที่วางไว้ จึงเข้าข่ายโกหกแล้วคนเชื่อและทำให้เกิดความเสียหาย จึงจัดว่าเป็นการพูดอันเป็นกุศโลบายไม่ได้ ส่วนว่าจะเป็นโกหกสีขาวของฝรั่งแบบไหน อย่างไร คนไทยซึ่งเป็นชาวพุทธเช่นผู้เขียนย่อมไม่เข้าใจแน่นอน และนี่คือปัญหาที่ผู้พูดต้องออกมาอธิบายเอาเอง และถ้าอธิบายแล้วคนไม่เข้าใจ ก็อย่าโทษใครนอกจากโทษตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น