ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การคุยโม้โอ้อวดว่ามีฝีมือถึงขึ้นกล้ารับประกันดันราคายางพาราให้สูงถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ของ “อำมาตย์เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิสูจน์ชัดแล้วว่า แกนนำเสื้อแดงที่ได้ดิบได้ดีเพราะตีฝีปากปลุกระดมเผาบ้านเผาเมือง ไม่ได้มีความสามารถเก่งกาจอะไรในการที่จะช่วยพยุงราคายางให้สมคำคุย หนำซ้ำยังหนีหน้าไม่กล้าสู้ความจริงทั้งนายกฯหญิงและลูกน้อง
ไม่เพียงเท่านั้น ลิ่วล้อพรรคเพื่อไทย ยังแสดงพฤติกรรมเล่นพรรคเล่นพวก เลือกปฏิบัติ พากันคิดตื้นๆ ว่า ชาวสวนยางจากใต้เป็นพวกประชาธิปัตย์ ไม่ต้องไปช่วย ไม่ต้องไปรับเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนนี้
ล่าสุด ครม.ยิ่งลักษณ์ ยังมีมติไม่อนุมัติให้นำเงินไปแทรกแซงราคายางเพิ่มเติม 15,000 ล้านบาท หลังจากที่อำมาตย์เต้นเสนอผ่านรมว.กระทรวงเกษตรฯ เข้าไปให้ครม.พิจารณา ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวซึ่งสุดจะฉาวโฉ่ ครม.กลับไม่รั้งรอที่จะอนุมัติให้จำนำข้าวในฤดูกาลใหม่กว่า 4 แสนล้านบาท
พรรคเพื่อไทยของ นช.ทักษิณ แกล้งทำเป็นลืมไปว่า ฐานเสียงเพื่อไทยในอีสานและเหนือที่หลงเชื่อน้ำคำทักษิณ-เนวิน เมื่อ 6-7 ปีก่อน พากันเข้าโครงการปลูกยางล้านไร่ ก็ตายหยังเขียดจากราคายางตกต่ำกันถ้วนหน้า เหมือนกัน
ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางในภาคอีสาน ได้รวมตัวกันทวงสัญญาเหมือนชาวสวนยางภาคใต้ ดังเช่น การยกขบวนมาชุมนุมของผู้ปลูกยางชาวจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างเร่งด่วนอยู่ในเวลานี้ เพราะไม่เพียงราคาตก แต่ยังหาคนรับซื้อไม่ได้ ส่วนที่รับซื้อก็จ่ายเงินล่าช้า 3 สัปดาห์แล้วยังไม่ได้เงิน
แต่ที่น่าอดสูอย่างยิ่งก็คือ คำแก้ตัวของอำมาตย์เต้นที่ว่าราคายางตกต่ำถือ เป็นความโชคร้าย ที่ยุโรป อเมริกา เผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำ และจีนซึ่งเป็นลูกค้า รายใหญ่ก็ลดปริมาณการสั่งซื้อลง ซึ่งนั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว
หากอำมาตย์เต้น พอจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้างและให้ทีมงานทำการบ้านตรวจสอบข้อมูล ก็จะทราบว่า กรมศุลกากรจีน รายงานตัวเลขการนำเข้ายางธรรมชาติในครึ่งปีนี้ จำนวน 9.9 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 12.8% ส่วนข่าวสต็อกยางในโกดังที่ท่าเรือชิงเต่าของจีนมีปริมาณสูงกว่า 2 แสนตันเศษก็เป็นการปล่อยข่าวเพื่อกดราคายางให้ต่ำลง เพราะตัวเลขนี้ถือเป็นปริมาณสต็อกยางปกติไม่ได้ล้นเกินแต่อย่างใด
จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ยังมีความต้องการยางธรรมชาติเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นดังตัวเลขยืนยันจากกรมศุลฯ ของจีนเอง ไม่นับว่าอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อำมาตย์เต้น รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้เข้าไปทำตลาดนี้เลย จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่อินเดียอยากจะซื้อยางแต่ไทยกลับไม่สนใจจะขายให้ เมื่อมีสินค้าแต่ขายไม่เป็น หรือไม่ทันเหลี่ยมคูของลูกค้า ก็เลยเอาแต่โทษโชคชะตาฟ้าลิขิตไปโน่น
ที่ผ่านมา อำมาตย์เต้น เชื่อว่า โครงการแทรกแซงราคายาง จะสามารถแก้ไขปัญหายางตกต่ำได้เหมือนดังเช่น โครงการรับจำนำข้าว มันสำปะหลัง ที่ลงไปทำแบบเดียวกัน
แต่โครงการแทรกแซงราคายางพาราที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้องค์การสวนยาง (อสย.) 10,000 ล้านบาท และให้สถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท นำไปรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคานำตลาด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพ ชั้น 3 ราคา 100 บาทต่อกก.และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 104 บาทต่อกก. ผลออกมากลับไม่ช่วยดันราคายางในตลาดให้สูงขึ้นแต่อย่างใด มีแต่ไหลรูดลงสวนทางมาตรการแทรกแซงราคาให้อับอายขายหน้า
นอกจากนี้ เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ยังพากันแฉว่า โครงการดังกล่าวมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่เกษตรกรบางกลุ่มที่เป็นพรรคพวกของผู้มีอำนาจ เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่นับว่าการตีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของน้ำยาง และการคัดเกรดยาง มีเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด พวกพ้องที่ใกล้ชิดผู้บริหารอสย. หรือ สกย. ในพื้นที่ รวมทั้งการรับซื้อยางผ่านสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ ชาวสวนยางต้องเป็นสมาชิก ถึงจะได้ขายยางในราคาที่รัฐบาลประกาศแทรกแซง
ความคิดที่เอาแต่จะเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่ต่างไปจากการเตรียมแผนที่จะดันราคายางให้สูงขึ้นโดยรัฐบาลจะเอาเงินไปซื้อยางในตลาดยางล่วงหน้าเพื่อนำราคาผ่านทางผู้ส่งออกบางกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล จนผู้ส่งออกที่ไม่ได้เข้าร่วมและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้พากันออกมาโวยจนเรื่องเงียบหายไป
อย่างไรก็ตาม อำมาตย์เต้น พยายามแสดงให้เห็นว่า กำลังแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ โดยพกพาความรู้เรื่องยางแค่หางอึ่งเข้าร่วมประชุมไตรภาคีสภาการยาง (ไอทีอาร์ซี) 3 ชาติ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แล้วกลับมาบอกเกษตรกรชาวสวนยางของไทยง่ายๆ ว่าที่ไหนๆ ราคาก็ตกทั้งนั้น เหมือนว่าให้ยอมรับเสียเถอะ ส่วนที่กระผมเคยรับปากจะทำราคาให้ได้ 120 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ผมโกหก มันเป็นแค่ฝันกลางวันของกระผมเอง
นอกจากนั้น ที่ประชุมไตรภาคีสภายางพารา ยังกล่อมให้อำมาตย์เต้น ยอมรับมาตรการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำด้วยการลดปริมาณการส่งออกยางของภูมิภาคให้ได้ 300,000 ตัน โดยให้ไทยลดปริมาณการส่งออกมากที่สุดคือ 45 - 50% หรือ 150,000 ตัน ของเป้าหมายที่จะลดส่งออก ส่วนอินโดฯและมาเลย์ก็ลดลงแต่น้อยกว่าไทยร่วมครึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีมาตรการลดการผลิต แบบว่า ตัดโค่นต้นยางทิ้งไปเลย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ จะต้องโค่นต้นยางให้ได้จำนวน 625,000 ไร่ โดยจะมีผลวันที่ 1 ต.ค. 2555 - 31 มี.ค. 2556 และเช่นเดิมไทยต้องโค่นทิ้งมากกว่าอินโดฯ และมาเลเซีย เพราะว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางและมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุด
“การโค่นต้นยางเป็นเรื่องปกติของไทยอยู่แล้วที่มีการโค่นปีละ 3 แสนไร่” อำมาตย์เต้น โอ่แบบไม่สะทกสะท้าน ทั้งที่มาตรการทั้งลดส่งออกและลดการผลิตโดยตัดโค่นต้นยาง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยไม่สามารถรับประกันได้ว่า ราคายางจะผงกหัวขึ้นหรือไม่ หรือถ้าราคาปรับขึ้นจริง ต้นยางก็โค่นทิ้งไปแล้ว รอปลูกใหม่กว่าจะได้ผลผลิตก็อีก 7 ปีข้างหน้า
การไปรับมาตรการลดการส่งออกและลดการผลิตจากที่ประชุมประเทศผู้ผลิตยางข้างต้นของอำมาตย์เต้น ไม่รู้ว่า ฉลาดหรือโง่กว่าอินโดฯ และมาเลย์ กันแน่
ราคายางตกต่ำกับฝีมือแก้ปัญหาของอำมาตย์เต้นและรัฐบาลปูแดงที่ไม่เอา อ่าว สุดท้ายแล้วอาจย้อนศรกลับมาทำให้เพื่อไทยตกกระป๋องโดยไม่คาดฝัน เพราะดันมามีปัญหาในช่วงที่ยางพาราในภาคอีสานและเหนือที่เข้าร่วมโครงการยางล้านไร่ เมื่อ 6-7 ปีก่อนเปิดกรีดพบดิบพอดี ไหนมาหลอกว่าจะรวย ทำไมซวยแล้วยังไม่ช่วยกันอีกละพี่น้อง!